การรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี

ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี
พ.ศ. 2550
---------------------------------------
เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจสำนักงานบัญชีมีการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้กำหนดให้มีการออกหนังสือรับรองคุณภาพให้แก่สำนักงานบัญชี ที่ผ่านการตรวจประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี และกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"สำนักงานบัญชี" หมายถึง สำนักงานที่มีการให้บริการด้านการทำบัญชี ไม่ว่าจะจัดตั้งในรูปของนิติบุคคล คณะบุคคล หรือบุคคลธรรมดา
"ผู้ทำบัญชี" หมายถึง ผู้ทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ที่สังกัดในสำนักงานบัญชี
"ผู้ช่วยผู้ทำบัญชี" หมายถึง ผู้ช่วยของผู้ทำบัญชีที่สังกัดในสำนักงานบัญชี
"ข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี" หมายถึง ข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีที่แนบท้ายประกาศนี้และที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
"หนังสือรับรอง" หมายถึง หนังสือรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้แก่สำนักงานบัญชีที่ผ่านการตรวจประเมินตามข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี
"กรม" หมายถึง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
"อธิบดี" หมายถึง อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ข้อ 2 สำนักงานบัญชีที่จะยื่นคำขอรับหนังสือรับรองต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) รับทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ไม่น้อยกว่า 30 ราย
(2) หัวหน้าสำนักงานต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี ปฏิบัติงานเต็มเวลา มีประสบการณ์ด้านการทำบัญชีมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องแจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีต่อกรมไว้แล้ว - 2 -
(3) มีผู้ช่วยผู้ทำบัญชีที่มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชีและปฏิบัติงานเต็มเวลาอย่างน้อย 1 คน
(4) มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
(5) ประกอบธุรกิจสำนักงานบัญชีมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
(6) ไม่เคยถูกเพิกถอนหนังสือรับรอง เว้นแต่พ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
(7) ไม่เคยฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดใน ข้อ 8 (6) และ (7) เว้นแต่พ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
(8) หัวหน้าสำนักงานต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(9) ในกรณีที่สำนักงานบัญชีจัดตั้งในรูปคณะบุคคลหรือนิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือกรรมการ แล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการให้บริการรับทำบัญชีต้องมีคุณสมบัติตาม (2) และ(8) ด้วย
ข้อ 3 การยื่นคำขอรับหนังสือรับรองให้ใช้แบบ ร.สบ.1 ที่แนบท้ายประกาศฉบับนี้พร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในแบบ ร.สบ.1 และยื่นต่อสำนักกำกับดูแลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ข้อ 4 ในกรณีสำนักงานบัญชีมีสำนักงานหลายแห่งแยกต่างหากจากกันให้แยกคำขอของแต่ละสำนักงานที่ประสงค์จะขอหนังสือรับรอง โดยสำนักงานแต่ละแห่งที่ยื่นคำขอจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดใน ข้อ 2 (1) (2) (3) (5) (6) (7) และ (8)
ข้อ 5 สำนักงานบัญชีที่ยื่นคำขอรับหนังสือรับรองต้องรับการตรวจประเมินคุณภาพจากหน่วยงานที่กรมกำหนด ดังนี้
(1) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) หรือ
(2) สถาบันหรือหน่วยงานอื่นที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ สำนักงานบัญชีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินทุกครั้งตามอัตราที่หน่วยงานผู้ตรวจประเมินเรียกเก็บ
ข้อ 6 สำนักงานบัญชีที่ผ่านการตรวจประเมินตามข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีแล้วจะได้รับหนังสือรับรอง และกรมจะเผยแพร่ชื่อและที่ตั้งของสำนักงานบัญชีดังกล่าวให้สาธารณชนทราบ
ข้อ 7 หนังสือรับรองมีกำหนดอายุ 3 ปี นับแต่วันที่ออกหนังสือรับรอง
สำนักงานบัญชีที่จะขอต่ออายุหนังสือรับรองต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดใน ข้อ 2 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) และ (9)
การยื่นคำขอต่ออายุหนังสือรับรองให้ใช้แบบ ร.สบ.2 ที่แนบท้ายประกาศฉบับนี้พร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในแบบ ร.สบ.2 และยื่นต่อสำนักกำกับดูแลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภายใน 90 วัน ก่อนวันที่หนังสือรับรองสิ้นอายุ - 3 -
ข้อ 8 สำนักงานบัญชีที่ได้รับหนังสือรับรอง มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีตลอดระยะเวลาที่ได้รับการรับรอง ซึ่งรวมถึงในกรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในภายหลังด้วย
(2) ต้องรับการตรวจประเมินคุณภาพปีละ 1 ครั้ง ซึ่งอาจเป็นการตรวจประเมินใหม่ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนตามความเหมาะสม
(3) ต้องไม่นำหนังสือรับรองไปใช้ในทางที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อกรม หรือนำไปใช้อ้างอิงต่อบุคคลอื่นในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
(4) ให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจประเมินทุกครั้ง และยินยอมให้หน่วยงานอื่นที่กรมเห็นสมควรให้เข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจประเมนได้ รวมทั้งต้องส่งมอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองคุณภาพที่เป็นปัจจุบันให้แก่กรมและผู้ตรวจประเมิน เมื่อได้รับการร้องขอ
(5) ในกรณีที่ประสงค์จะยกเลิกการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีหรือเลิกประกอบกิจการด้านการทำบัญชี ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้กรมทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน โดยใช้แบบ ร.สบ.3 ที่แนบท้ายประกาศฉบับนี้พร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในแบบ ร.สบ.3
(6) ในกรณีที่ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองหรือมีการแจ้งขอยกเลิกการรับรอง หรือเลิกประกอบกิจการด้านการทำบัญชีจะต้องส่งคืนหนังสือรับรองให้แก่กรมภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งหรือวันยกเลิกการรับรองหรือวันเลิกประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี
(7) ในกรณีที่ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนหนังสือรับรอง หรือมีการแจ้งขอยกเลิกการรับรองหรือเลิกประกอบกิจการด้านการทำบัญชี ต้องยุติการใช้สิ่งพิมพ์ สื่อโฆษณา ที่มีการอ้างอิงถึงการได้รับการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี
(8) ต้องจัดทำและเก็บรักษารายการบันทึกข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีรวมทั้งผลการดำเนินการกับข้อร้องเรียนทั้งหมด และต้องส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้แก่กรมหรือผู้ตรวจประเมิน เมื่อได้รับการร้องขอ
ข้อ 9 ในกรณีที่มีการย้ายที่ตั้งสำนักงานหรือมีการเปลี่ยนแปลงในสำนักงานที่เป็นสาระสำคัญ เช่น การโอนกิจการ การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น สำนักงานบัญชีที่ได้รับหนังสือรับรองจะต้องแจ้งการย้ายหรือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อกรมภายใน 30 วันนับแต่วันที่ย้ายหรือวันที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วแต่กรณี โดยใช้แบบ ร.สบ.3 ที่แนบท้ายประกาศฉบับนี้พร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในแบบ ร.สบ.3 และในกรณีดังกล่าวสำนักงานบัญชีจะต้องรับการตรวจประเมินคุณภาพใหม่ซึ่งอาจตรวจประเมินเพียงบางส่วนตามความเหมาะสมซึ่งเมื่อผ่านการตรวจประเมินแล้ว กรมจะออกหนังสือรับรองฉบับใหม่ให้โดยหนังสือรับรองฉบับใหม่มีอายุเท่ากับหนังสือรับรองฉบับเดิม
ข้อ 10 กรมอาจกำหนดให้มีการตรวจประเมินเพิ่มเติมหรือตรวจประเมินใหม่ทั้งหมดโดยไม่แจ้งให้สำนักงานบัญชีที่ได้รับหนังสือรับรองทราบล่วงหน้าได้ เมื่อมีเหตุดังต่อไปนี้ - 4 -
(1) มีเหตุที่น่าเชื่อว่าคุณภาพของสำนักงานบัญชีลดลง ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี
(2) มีการเปลี่ยนแปลงในสำนักงานที่เป็นสาระสำคัญและมีผลต่อการดำเนินงานของสำนักงานบัญชีที่ได้รับหนังสือรับรอง
(3) มีการร้องเรียนว่า สำนักงานบัญชีที่ได้รับหนังสือรับรองปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีและกรมพิจารณาเห็นว่าข้อร้องเรียนนั้นมีมูล
ข้อ 11 กรมอาจมีคำสั่งให้พักใช้หรือเพิกถอนหนังสือรับรองได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) หัวหน้าสำนักงานหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือกรรมการ แล้วแต่กรณี เป็นบุคคลล้มละลายถูกห้ามประกอบวิชาชีพบัญชีหรือถูกเพิกถอนสมาชิกภาพจากสภาวิชาชีพบัญชี
(2) ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่กำหนดใน ข้อ 8 (1) (2) (3) (4) และ (8)
(3) กรณีอื่น ๆ ที่กรมพิจารณาแล้วเห็นว่าสำนักงานบัญชีอาจกระทำให้เกิดความเสียหายหรือมีผลกระทบต่อการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี
ข้อ 12 การพักใช้หนังสือรับรองครั้งหนึ่งให้มีกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน และไม่เกิน 180 วัน
ข้อ 13 สำนักงานบัญชีที่ได้รับหนังสือรับรองรายใดถูกสั่งพักใช้หนังสือรับรองแล้ว หากมีเหตุที่กรมอาจสั่งพักหรือเพิกถอนหนังสือรับรองตาม ข้อ 11 ซ้ำอีก ภายในกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันถูกสั่งพักใช้หนังสือรับรองครั้งแรก กรมจะเพิกถอนหนังสือรับรอง
ข้อ 14 ในกรณีที่หนังสือรับรองชำรุด หรือสูญหาย หรือมีการเปลี่ยนชื่อสำนักงานบัญชี สำนักงานบัญชีอาจยื่นคำขอให้กรมออกใบแทนหนังสือรับรองให้ได้
ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550
คณิสสร นาวานุเคราะห์
(นายคณิสสร นาวานุเคราะห์)นายคณิสสร นาวานุเคราะห์าวานุเคราะห์
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
(เอกสารแนบท้าย ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี พ.ศ. 2550)
ข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี
สารบัญ
หน้าที่
บทนำ 1
1. คำนิยาม 1
2. องค์ประกอบของระบบคุณภาพสำนักงานบัญชี 2
3. ความรับผิดชอบของผู้บริหารของสำนักงานบัญชี 3
4. ข้อกำหนดทางด้านจรรยาบรรณของสำนักงานบัญชี 4
5. กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าของสำนักงานบัญชี 8
6. การจัดการทรัพยากรของสำนักงานบัญชี 8
7. การปฏิบัติงานของสำนักงานบัญชี 9
8. การติดตาม ตรวจสอบ ของสำนักงานบัญชี 9
9. การจัดการเอกสารของสำนักงานบัญชี 9
ภาคผนวก 10
บทนำ
1. วัตถุประสงค์ของข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีนี้เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำกับและพัฒนาสำนักงานบัญชีให้มีการจัดทำบัญชีให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจและของตนเองเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานการบัญชี และเพื่อพัฒนาและยกระดับสำนักงานบัญชีให้มีมาตรฐานเดียวกันและเป็นที่ยอมรับ
2. มาตรฐานที่ใช้เพิ่มเติมในข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี เป็นแนวทางที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพเฉพาะสำนักงานบัญชีที่ประสงค์จะรับการรับรองคุณภาพ ซึ่งประยุกต์มาจากการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสากล 1 (International Standard on Quality Control (ISQC) 1) และมาตรฐาน มอก. 9001 ระบบบริหารงานคุณภาพ
3. สำนักงานบัญชีควรกำหนดรูปแบบระบบการควบคุมคุณภาพที่เหมาะสมแก่สำนักงานบัญชีเพื่อแสดงว่าสำนักงานบัญชีดำเนินการตามข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชี
4. ข้อกำหนดการรับรองคุณภาพสำนักงานบัญชีสามารถนำไปใช้ได้กับทุกสำนักงานบัญชี
1. คำนิยาม
ระบบคุณภาพสำนักงานบัญชี หมายถึง ระบบที่มีการกำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์ และการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดทิศทางและควบคุมองค์กรในเรื่องคุณภาพด้านการจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายและ
มาตรฐานการบัญชี - 2 -
สำนักงานบัญชี หมายถึง สำนักงานที่ให้บริการด้านการทำบัญชี ซึ่งสำนักงานบัญชีอาจจัดตั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคลก็ได้ โดยหัวหน้าสำนักงาน หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการแล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการให้บริการรับทำบัญชีในสำนักงานอย่างน้อย 1 คน ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี ปฏิบัติงานเต็มเวลาและแจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีต่อกรมไว้แล้ว และมีผู้ช่วยผู้ทำบัญชีที่มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี
อย่างน้อย 1 คนปฏิบัติงานเต็มเวลาสังกัดอยู่
ผู้ทำบัญชี หมายถึง ผู้ทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ที่สังกัดในสำนักงานบัญชี
ผู้ช่วยผู้ทำบัญชี หมายถึง ผู้ช่วยของผู้ทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ที่สังกัดในสำนักงานบัญชี
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ทำบัญชี หมายถึง
- ผู้ช่วยผู้ทำบัญชีที่มีส่วนสำคัญต่อการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงาน
- ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในสำนักงานบัญชี
- คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ทำบัญชี
- คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ช่วยผู้ทำบัญชีที่มีส่วนสำคัญต่อการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงาน
- คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในสำนักงานบัญชี
- สำนักงานบัญชี
- บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ของสำนักงานบัญชี
ผู้บริหารระดับสูง หมายถึง ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในหน่วยงานที่ให้บริการด้านการจัดทำบัญชี
2. องค์ประกอบของระบบคุณภาพสำนักงานบัญชี
2.1 ระบบคุณภาพของสำนักงานบัญชีประกอบด้วยนโยบายและกระบวนการของแต่ละปัจจัยสำคัญซึ่งประกอบด้วย
2.1.1 ความรับผิดชอบของผู้บริหารของสำนักงานบัญชี
2.1.2 ข้อกำหนดทางด้านจรรยาบรรณของสำนักงานบัญชี
2.1.3 กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าของสำนักงานบัญชี
2.1.4 การจัดการทรัพยากรของสำนักงานบัญชี
2.1.5 การปฏิบัติงานของสำนักงานบัญชี
2.1.6 การติดตาม ตรวจสอบ ของสำนักงานบัญชี
2.1.7 การจัดการเอกสารของสำนักงานบัญชี
2.2 นโยบายคุณภาพและกระบวนการต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและให้เหมาะสมกับสำนักงานบัญชี และ
สื่อสารให้แก่เจ้าหน้าที่ภายในสำนักงานบัญชีอย่างทั่วถึง - 3 -
3. ความรับผิดชอบของผู้บริหารของสำนักงานบัญชี
3.1 ความมุ่งมั่นของผู้บริหาร
ผู้บริหารระดับสูงต้องแสดงหลักฐานความมุ่งมั่น ในการพัฒนาและการนำระบบคุณภาพสำนักงานบัญชีไปปฏิบัติ
รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องโดย
- สื่อสารภายในสำนักงานบัญชีถึงความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรฐานการบัญชีในด้านการจัดทำบัญชี และจรรยาบรรณ ความต้องการของลูกค้า กฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี
- กำหนดนโยบายคุณภาพ
- จัดทำแผนธุรกิจ
- ติดตาม ตรวจสอบ
- จัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ
3.2 การให้ความสำคัญแก่ลูกค้า
ผู้บริหารระดับสูงต้องทำให้มั่นใจว่าความต้องการของลูกค้าได้ถูกนำมาพิจารณาและกระทำให้บรรลุผลโดยมุ่งหวัง
ในอันที่จะส่งเสริมความพึงพอใจของลูกค้าและต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี มาตรฐานการบัญชี และจรรยาบรรณ
3.3 นโยบายคุณภาพ
ผู้บริหารระดับสูงต้องทำให้มั่นใจว่านโยบายคุณภาพ
- เหมาะสมกับจุดประสงค์ของสำนักงานบัญชี
- มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย มาตรฐานการบัญชี และจรรยาบรรณ และปรับปรุงประสิทธิผลของระบบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
- เป็นกรอบในการจัดทำแผนธุรกิจ
- ได้มีการสื่อสารและเป็นที่เข้าใจภายในสำนักงานบัญชี
- ได้มีการทบทวนให้เหมาะสมตลอดเวลา
3.4 การวางแผนธุรกิจ
สำนักงานบัญชีต้องกำหนดและจัดทำแผนธุรกิจ และแผนการเงินประจำปีเป็นลายลักษณ์อักษร
3.5 ความรับผิดชอบ อานาจหน้าที่ และการสื่อสาร
3.5.1 ความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่
ผู้บริหารระดับสูงต้องมั่นใจว่าได้มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานเป็นลายลักษณ์อักษรและได้ สื่อสารให้ทราบโดยทั่วถึงทั้งสำนักงานบัญชี - 4 -
3.5.2 การสื่อสารภายใน
ผู้บริหารระดับสูงต้องมั่นใจว่ามีการสื่อสารในสำนักงานบัญชีด้วยวิธีการที่เหมาะสม และคำนึงถึงประสิทธิผลของระบบคุณภาพสำนักงานบัญชี
3.5.3 การทบทวนการบริหาร
ผู้บริหารระดับสูงต้องมีการทบทวนการบริหารงานของสำนักงานบัญชีอย่างสม่ำเสมอ และต้องมีการเก็บบันทึกผลการทบทวน
3.6 การให้ความร่วมมือกับภาครัฐ
สำนักงานบัญชีต้องร่วมมือกับภาครัฐในด้านการกำกับดูแลและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากภาครัฐ
สู่ลูกค้า
4. ข้อกำหนดทางด้านจรรยาบรรณของสำนักงานบัญชี
4.1 ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต
ความโปร่งใส หมายถึง การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ เป็นปัจจุบัน สะท้อนภาพที่แท้จริง ภายในเวลา
ที่เหมาะสม ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญ
ความเป็นอิสระ หมายถึง การปฏิบัติงานด้วยความเป็นอิสระ สามารถตัดสินใจโดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลใด ๆ หรือ
ปัจจัยภายนอกและภายในซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีและความเป็นอิสระนั้นต้องเป็นที่ประจักษ์
แก่บุคคลทั่วไป เพื่อให้ผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีเป็นที่เชื่อถือได้
ความเที่ยงธรรม หมายถึง ความเป็นกลางในการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความมีอคติ ความลำเอียง
ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง การประพฤติตรง จริงใจ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ปฏิบัติงานตรงตามความเป็นจริง
ไม่แสดงตนว่าได้ปฏิบัติงานถ้าไม่ได้ปฏิบัติจริง ความซื่อตรงต่อวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี
4.1.1 หลักการพื้นฐาน
ในการปฏิบัติงาน สำนักงานบัญชีต้องรักษาไว้ซึ่งความโปร่งใส ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ผลงานเป็นที่เชื่อถือ
4.1.2 ข้อกำหนด
(1) สำนักงานบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ไม่ปกปิดข้อเท็จจริง หรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญ
ในการปฏิบัติงาน ผู้ทำบัญชีต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่นำมาใช้ถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ เป็นปัจจุบัน สะท้อนภาพ ที่แท้จริง เพื่อให้มั่นใจว่างานบริการที่ให้แก่ลูกค้ามีความถูกต้อง
(2) สำนักงานบัญชีต้องไม่รับงานที่ตนขาดความอิสระ
ผู้ทำบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจในการรับงาน และต้องถอนตัวจากการให้บริการ หรือหยุดการให้บริการชั่วคราวจนกว่าความสัมพันธ์หรือสถานการณ์ที่กระทบความเป็นอิสระได้ยุติลง (ศึกษากรณีตัวอย่างที่ 1 ประกอบ) - 5 -
(3) สำนักงานบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา ปราศจากความลำเอียงและอคติ คงไว้ซึ่งความเป็นกลางในการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงาน
สำนักงานบัญชีจะสามารถปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา ปราศจากความลำเอียงและอคติ
คงไว้ซึ่งความเป็นกลางในการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงานได้ ก็ต่อเมื่อสำนักงานบัญชีดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) สำนักงานบัญชีมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จากระบบการจัดเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
(2) สำนักงานบัญชีสามารถควบคุมการให้บริการให้อยู่ในกรอบของจรรยาบรรณของวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี
สำนักงานบัญชีต้องหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์หรือสถานการณ์ใดๆ ที่อาจกดดันให้ผู้ทำบัญชีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางในการใช้ดุลยพินิจ
(4) สำนักงานบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี
สำนักงานบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี (ศึกษากรณีตัวอย่างที่ 2 ประกอบ)
4.2 ความรู้ความสามารถและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
4.2.1 หลักการพื้นฐาน
ในการปฏิบัติงาน ผู้ทำบัญชีต้องใช้ความรู้ความสามารถและความชำนาญในวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีด้วยความใส่ใจ เต็มความสามารถ เพื่อที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และมั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับบริการทางวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี ที่อยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ และเทคนิคที่เกี่ยวข้อง
การที่จะสามารถปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังรอบคอบ ผู้ทำบัญชีต้องวางแผนและควบคุมงานจนสามารถรวบรวมข้อมูลและหลักฐานให้เพียงพอในการปฏิบัติงาน
ผู้ทำบัญชีต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ประกอบวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากงานบริการวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี บนพื้นฐานของการพัฒนากฎเกณฑ์ มาตรฐานในการปฏิบัติงาน และเทคนิคที่เป็นปัจจุบัน
4.2.2 ข้อกำหนด
(1) ผู้ทำบัญชีต้องไม่รับงานที่เกินความรู้ความสามารถของตนที่จะปฏิบัติงานได้
ในการพิจารณารับงาน ผู้ทำบัญชีต้องมีความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจของลูกค้า ลักษณะงานบริการที่ลูกค้าต้องการ และมีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสำนักงานบัญชีต้องไม่รับงานในปริมาณมากจนไม่สามารถควบคุมการปฏิบัติงานได้ - 6 -
การที่ผู้ทำบัญชีจะมีความรู้ความสามารถในงานที่รับว่าจะให้บริการ ผู้ทำบัญชีจะต้องมีประสบการณ์และ
การฝึกฝนในการใช้วิจารณญาณการประยุกต์ใช้ความรู้นั้นกับงานที่รับว่าจะให้บริการ หรือผู้ทำบัญชีต้องผ่านการศึกษาการอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมา กรณีที่ผู้ทำบัญชีไม่มีความรู้ความสามารถในงานที่จะให้บริการอย่างเพียงพอ ผู้ทำบัญชีต้องศึกษาค้นคว้าสอบถามจากผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ หรือหาทีมงานที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติงานได้
ผู้ทำบัญชีต้องไม่แสดงตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องที่ตนเองไม่มีความรู้และความสามารถ ในกรณีนี้ผู้ทำบัญชีควรพิจารณาที่จะรับคำแนะนำหรือใช้ผลงานจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความถนัดในงานดังกล่าว
(2) ผู้ทำบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังรอบคอบ
ผู้ทำบัญชีต้องใช้ความรู้ตามมาตรฐานการบัญชี วิธีปฏิบัติ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความชำนาญและประสบการณ์ทางวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ
(3) สำนักงานบัญชีต้องควบคุมคุณภาพงานให้ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ
สำนักงานบัญชีควรมีการอบรมและควบคุมคุณภาพงานของผู้ทำบัญชีและผู้ช่วยผู้ทำบัญชีอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าผลงานการบริการทางวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีได้มาตรฐาน
(4) ไม่ยินยอมให้ผู้อื่นอ้างว่าตนเป็นผู้ปฏิบัติงาน โดยตนมิได้ปฏิบัติงานหรือควบคุมการปฏิบัติงานนั้น
สำนักงานบัญชีต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นอ้างชื่อว่าตนเป็นผู้ปฏิบัติหรือควบคุมงานให้บริการทางวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี โดยที่ตนเองมิได้เป็นผู้ปฏิบัติหรือควบคุมงานให้บริการอย่างแท้จริง
4.3 ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการและการรักษาความลับ
4.3.1 หลักการพื้นฐาน
สำนักงานบัญชีต้องรับผิดชอบต่องานที่ปฏิบัติโดยต้องไม่ละทิ้งงานที่ให้บริการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ในการปฏิบัติงาน ผู้ทำบัญชีอาจล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลใดๆ ที่ต้องถือเป็นความลับของกิจการที่ตนให้บริการ ผู้ทำบัญชีจะต้องไม่นำข้อมูลนั้นไปเปิดเผย ทั้งนี้ รวมถึงการที่ผู้ทำบัญชี ผู้ช่วยผู้ทำบัญชี หรือผู้ร่วมสำนักงานบัญชี
จะต้องไม่นำข้อมูลที่ได้มาในระหว่างการปฏิบัติงานไปใช้หรือเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าได้ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง
หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก เว้นแต่กรณีที่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าหรือกรณีที่ต้องให้ถ้อยคำตามกฎหมาย รวมทั้งกรณีที่เป็นการเรียกตรวจสอบโดยหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีจึงจะเปิดเผยได้ - 7 -
4.3.2 ข้อกำหนด
(1) สำนักงานบัญชีต้องไม่เปิดเผยความลับของกิจการที่ตนเองได้รู้มาในหน้าที่จากการให้บริการเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า ต้องให้ถ้อยคำในฐานะพยานตามกฎหมาย หรือเปิดเผยต่อหน่วยงานที่กำกับดูแล
หน้าที่ในการรักษาความลับนั้นยังคงมีอยู่ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสำนักงานบัญชีและลูกค้าจะสิ้นสุดแล้ว ก็ตามสำนักงานบัญชีต้องควบคุมดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ทำบัญชี ไม่ให้นำข้อมูลที่ได้มาในระหว่างการปฏิบัติงานไปใช้หรือเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าได้ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก (ศึกษากรณีตัวอย่างที่ 3 ประกอบ)
(2) ไม่ละทิ้งการปฏิบัติงานของสำนักงานบัญชีที่รับไว้แล้วโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ในกรณีที่สำนักงานบัญชีได้ตกลงรับงานไว้แล้ว ต่อมาไม่ปฏิบัติงานให้สำเร็จตามที่ตกลงไว้และได้ละทิ้งงานไปโดยไม่มีเหตุผลสมควร และไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบในเวลาอันสมควร เช่น การแจ้งกระชั้นชิด ถือว่าสำนักงานบัญชี
ขาดความรับผิดชอบต่อลูกค้า และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า
4.4 ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลหรือนิติบุคคลที่สำนักงานบัญชีปฏิบัติหน้าที่
4.4.1 หลักการพื้นฐาน
สำนักงานบัญชีต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน บุคคลหรือนิติบุคคลที่สำนักงานบัญชีปฏิบัติหน้าที่ให้
4.4.2 ข้อกำหนด
สำนักงานบัญชีต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน บุคคลหรือนิติบุคคลที่ผู้ทำบัญชีปฏิบัติหน้าที่
โดยมีพฤติกรรมที่ดีเพื่อชื่อเสียงแห่งวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีเสมอ และไม่ปฏิบัติตนในลักษณะที่ทำให้เกิด
ความเสื่อมเสียแก่วิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี
4.5 สำนักงานบัญชีต้องไม่ปฏิบัติให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี
4.5.1 หลักการพื้นฐาน
สำนักงานบัญชีต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ เพื่อรักษาชื่อเสียงแห่งวิชาชีพ และงดเว้นการกระทำ
ที่จะนำมาสู่การเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
4.5.2 ข้อกำหนด
สำนักงานบัญชีต้องไม่กระทำการในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่วิชาชีพในด้านการทำบัญชี
(ศึกษากรณีตัวอย่างที่ 4 ประกอบ)
4.6 สำนักงานบัญชีต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณที่กำหนดในข้อ 4.1-4.5 และไม่ขัดกับข้อกำหนดแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี รวมทั้งต้องปฏิบัติเพิ่มเติมตามข้อกำหนดแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด - 8 -
5. กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าของสำนักงานบัญชี
5.1 สำนักงานบัญชีต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดค่าธรรมเนียม
5.2 สำนักงานบัญชีต้องมีการจัดทำสัญญาที่ชัดเจนและได้รับการยอมรับจากลูกค้า
5.3 สำนักงานบัญชีต้องกำหนดระยะเวลาจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน
5.4 สำนักงานบัญชีต้องออกหลักฐานการรับเงินให้กับลูกค้าทุกครั้ง
5.5 ในกรณีที่ลูกค้ามอบหมายให้สำนักงานบัญชีเป็นผู้กระทำการใด ๆ แทน เช่น การนำส่งภาษีของลูกค้า การนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น สำนักงานบัญชีต้องนำส่งและดำเนินการให้ครบถ้วนตามที่ลูกค้ามอบหมาย
5.6 การดูแลทรัพย์สินของลูกค้า สำนักงานบัญชีต้องมีการจัดทำหลักฐานการส่งมอบและรับมอบทรัพย์สิน รวมถึง
การดูแลรักษา การจัดเก็บทรัพย์สินของลูกค้า ทั้งนี้ต้องไม่นำทรัพย์สินของลูกค้ามาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของสำนักงานบัญชี เช่น การยึดบัญชีและเอกสารของลูกค้าไว้โดยไม่ส่งคืน
6. การจัดการทรัพยากรของสำนักงานบัญชี
6.1 เครื่องมืออุปกรณ์
สำนักงานบัญชีต้องจัดหา และบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำบัญชีเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการจัดระเบียบเรียบร้อยในสถานที่ทำงาน เพื่อก่อให้เกิดสภาพการทำงานที่ดี ปลอดภัย มีระเบียบเรียบร้อย อันจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตที่สูงขึ้น เช่น การทำ 5 ส เป็นต้น
6.2 ทรัพยากรบุคคล
6.2.1 บุคลากรในสำนักงานบัญชีต้องมีความรู้ ความสามารถตามตำแหน่งหน้าที่งาน ทั้งนี้ รวมถึงบุคลากรจากภายนอกสำนักงานบัญชีที่เข้ามาปฏิบัติงานกับสำนักงานบัญชีด้วย
6.2.2 ผู้ทำบัญชีต้องมีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547
6.2.3 บุคลากรที่บรรจุใหม่หรือโยกย้ายตำแหน่งงานต้องได้รับการชี้แจงหรืออบรมการปฏิบัติงานของตำแหน่งนั้น ๆ ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน รวมทั้งสำนักงานบัญชีต้องจัดให้มีการดูแลการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามการทำงานของบุคลากรในความรับผิดชอบให้มีความเข้าใจในงานที่ปฏิบัติ
6.2.4 บุคลากรในสำนักงานบัญชีต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมตามสมควรและเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย
6.2.5 บุคลากรในสำนักงานบัญชีต้องได้รับการสื่อสารจากสำนักงานบัญชีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความต้องการ
ของลูกค้า/กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
6.2.6 ในกรณีที่ใช้ผู้ทำบัญชีภายนอกสำนักงานบัญชี สำนักงานบัญชีต้องมีมาตรการในการควบคุมผู้ทำบัญชีนั้นให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี มาตรฐานการบัญชี และจรรยาบรรณ - 9 -
7. การปฏิบัติงานของสำนักงานบัญชี
7.1 สำนักงานบัญชีต้องมีการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
7.2 สำนักงานบัญชีต้องมีคู่มือการปฏิบัติงานของผู้ทำบัญชีและปฏิบัติตามคู่มือนั้น
7.3 สำนักงานบัญชีต้องมีการชี้แจงบุคลากรให้เข้าใจชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของงาน และมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมตามความจำเป็น เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามวัตถุประสงค์
7.4 สำนักงานบัญชีต้องจัดให้มีการกำกับดูแลความคืบหน้าของงาน และคอยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับงานนั้น
7.5 สำนักงานบัญชีต้องมีการแต่งตั้งและมอบหมายให้มีผู้ทำการทบทวนผลงานรวมทั้งนำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อน
ส่งมอบให้กับลูกค้า
8. การติดตาม ตรวจสอบ ของสำนักงานบัญชี
8.1 สำนักงานบัญชีต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตนเองตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ทราบถึงผลการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามแผนธุรกิจและข้อกำหนดของกฎหมาย โดยการตรวจสอบนี้จะกระทำโดยตนเองหรือบุคคลภายนอกก็ได้
8.2 หากพบปัญหาจากการติดตาม ตรวจสอบ สำนักงานบัญชีต้องดำเนินการวิเคราะห์หาสาเหตุและกำหนดแนวทาง
แก้ไข เพื่อให้มั่นใจว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดซ้ำ
8.3 สำนักงานบัญชีต้องมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนของลูกค้า ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์หาสาเหตุ การปฏิบัติการแก้ไขและแจ้งกลับไปยังลูกค้า
8.4 สำนักงานบัญชีต้องบันทึกผลการดำเนินการตามข้อ 8.1-8.3 และต้องเก็บรักษาไว้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม
9. การจัดการเอกสารของสำนักงานบัญชี
9.1 สำนักงานบัญชีต้องมีวิธีการในการติดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีให้เป็นปัจจุบัน
9.2 สำนักงานบัญชีต้องจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าและของตนเองในลักษณะที่ป้องกันความเสียหาย สูญหาย หรือเสื่อมสภาพ และกำหนดระยะเวลาจัดเก็บตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
9.3 ในกรณีที่มีการเก็บข้อมูลในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการสำรองข้อมูลตามรอบระยะเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม - 10 -
ภาคผนวก
กรณีตัวอย่างที่ 1
กรณีตัวอย่างที่ถือว่าผู้ทำบัญชีขาดความเป็นอิสระจนทำให้ความเป็นกลางหรือความสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีลดลง เช่น
- ผู้ทำบัญชีและผู้ช่วยผู้ทำบัญชีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของลูกค้า ไม่ว่าด้วยความคุ้นเคยหรือความเกรงใจ หรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม และผู้ทำบัญชียอมโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของบุคคลเหล่านั้น ทำให้การปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามข้อกำหนด กฎหมาย มาตรฐานการบัญชี และจรรยาบรรณ
- มีการรับของขวัญหรือการรับรอง ในจำนวนที่ทำให้เชื่อได้ว่าจะมีผลต่อการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ทำบัญชี
ที่จะพึงกระทำตามความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ไม่รวมถึงการรับค่าตอบแทนจากการให้บริการทางวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีนั้น
- การกู้เงินหรือการค้ำประกันโดยลูกค้าที่ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารหรือสถาบันการเงินในจำนวนที่มีสาระสำคัญ
- ในกรณีที่สำนักงานบัญชีให้บริการด้านการสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีต้องมีความเป็นอิสระจากการจัดทำบัญชีรายนั้นๆ
กรณีตัวอย่างที่ 2
กรณีตัวอย่างที่ถือว่าสำนักงานบัญชีไม่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี เช่น
- กระทำการหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการโดยทุจริต ซ่อนเร้น ปลอมแปลง แก้ไข หรือทำลายเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ผิดจากความเป็นจริง
- มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีและงบการเงิน หรือการสื่อสารข้อมูลที่เชื่อได้ว่าเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด ข้อมูลที่อาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
- การจงใจให้บริการทางวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีแก่ลูกค้าที่ดำเนินธุรกรรมผิดกฎหมาย
- 11 -
กรณีตัวอย่างที่ 3
กรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้แสดงถึงกรณีที่ผู้ทำบัญชีต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับตามข้อกำหนดของกฎหมาย เช่น
- การจัดทำเอกสารหรือเตรียมหลักฐานให้แก่กระบวนการทางกฎหมาย
- การเปิดเผยต่อหน่วยงานกำกับดูแลถึงการฝ่าฝืนกฎหมาย
- การเปิดเผยการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการบัญชีและข้อกำหนดทางจรรยาบรรณ เพื่อปกป้องวิชาชีพ
ในด้านการจัดทำบัญชีในกระบวนการทางกฎหมาย หรือเพื่อตอบคำถามหรือการสอบสวนของหน่วยงานกำกับดูแล
- การเปิดเผยตามมาตรฐานการบัญชีและข้อกำหนดจรรยาบรรณในการตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับนั้น ผู้ทำบัญชีควรพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้
• ส่วนได้เสียของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงบุคคลที่สาม เนื่องจากส่วนได้เสียของบุคคลเหล่านั้นอาจได้รับผลกระทบ หากมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
• ขอบเขตของข้อเท็จจริงที่ควรเปิดเผย ผู้ทำบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีเพื่อพิจารณาว่าข้อมูลที่เปิดเผยควรมีขอบเขตเพียงใด เช่น ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ หรือการสรุปผล
• ประเภทของการสื่อสารที่เหมาะสมเพื่อให้ไปถึงผู้รับที่ต้องการ
กรณีตัวอย่างที่ 4
กรณีดังต่อไปนี้อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่วิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชี
- การกล่าวเกินจริงเกี่ยวกับบริการที่ตนสามารถให้ได้ คุณสมบัติของตนเอง หรือประสบการณ์ที่มี
- การใส่ร้ายป้ายสี ดูถูกเหยียดหยามงานของผู้ทำบัญชีอื่น
- แสดงข้อความหรือพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อหน่วยงานกำกับดูแล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการชี้แจงการปฏิบัติงาน
- ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย หรือตัดสินให้มีความผิดทางอาญาอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโทษจำคุก
- ให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ เพื่อเป็นการจูงใจให้บุคคลอื่นแนะนำหรือจัดหางานทางวิชาชีพในด้านการจัดทำบัญชีให้ตนทำ
- เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากบุคคลใดในเมื่อบุคคลนั้นได้รับงานเพราะการแนะนำหรือการจัดหางานของตนในฐานะที่เป็นผู้ทำบัญชีของกิจการนั้น
- จงใจแนะนำให้ลูกค้าเสียภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
อนึ่ง ในทางปฏิบัติอาจมีบางกรณีที่นอกเหนือจากตัวอย่างที่ให้ไว้ และอาจจำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มเติมโดยไม่จำกัดขอบเขตเพียงตัวอย่างที่ให้ไว้ในที่นี้เท่านั้น

 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ที่มา..http://www.dbd.go.th/thai/law/pdf/prakad_fail_safe.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น