สรุปสาระสำคัญการแก้ไข ปพพ.ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท​ ​มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2551

การแก้ไข ป.พ.พ. ว่าด้วย หุ้นส่วนบริษัท เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการ

จัดตั้งธุรกิจ และความน่าเชื่อถือในการติดต่อธุรกิจการค้า

-----------------

ตามที่ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป สาระสำคัญของการแก้ไขเป็นเรื่องที่ ผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนช่วยส่งเสริมการจัดตั้งธุรกิจ และเพิ่มความน่าเชื่อถือในการติดต่อทำธุรกิจการค้า

สรุปประเด็นสำคัญ มีดังต่อไปนี้

1. มาตรการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วแก่ธุรกิจ

1.1 ลดจำนวนผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจาก 7 คน เหลือเพียง 3 คน และ

สามารถจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจัดตั้งบริษัทภายในวันเดียวกัน (จากเดิมที่ต้องแยกการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิก่อนแล้วจึงออกหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท โดยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน หลังการประชุม แล้วจึงมาขอจดทะเบียนตั้งบริษัทได้)

1.2 สามารถแปรสภาพห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและห้างหุ้นส่วนจำกัด

เป็นบริษัทจำกัด โดยใช้ชื่อเดิมได้(จากเดิมหากต้องการเปลี่ยนเป็นบริษัทจะต้องจดทะเบียนเลิกห้างแล้วจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ และไม่สามารถใช้ชื่อเดิมของห้างเพื่อการจัดตั้งบริษัทได้)

1.3 การประชุมใหญ่เพื่อให้เป็นมติพิเศษตามกฎหมายเดิมกำหนดให้

ต้องประชุมสองครั้ง แก้ไขให้ประชุมเพียงครั้งเดียว

1.4 ลดการประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ในกรณีต้องการลดทุนและ

ควบบริษัท จากเดิมต้องลง 7 ครั้ง เหลือเพียงครั้งเดียว และลดระยะเวลาการคัดค้านของเจ้าหนี้ลงด้วย นอกจากนั้นยังลดการประกาศโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์ในเรื่องอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้จากเดิมสองครั้งเหลือเพียงครั้งเดียวทั้งหมด

1.5 ยกเลิกการส่งหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ต่อนาย

ทะเบียน

2. มาตรการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุนและติดต่อธุรกิจการค้า

2.1 บริษัทจำกัดที่จัดตั้งแล้วหากมีการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่จะต้อง

ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และต้องส่งทางไปรษณีย์ตอบรับด้วย เพื่อเป็นมาตรการรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (ทั้งนี้เดิมกำหนดให้เรียกประชุมโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้)

2.2 กำหนดให้นายทะเบียนมีอำนาจขีดชื่อห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ออกจากทะเบียนเป็นห้างร้างได้ (จากเดิมดำเนินการได้เฉพาะบริษัทจำกัดเท่านั้น)

2.3 กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน

สิ้นสภาพนิติบุคคล และไม่สามารถตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อชำระสะสางทรัพย์สินหนี้สินของตนอีกต่อไป แต่อาจร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อคืนสู่ทะเบียนได้ ทั้งนี้ต้องร้องขอภายในสิบปีนับแต่วันถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน

เนื่องจากการแก้ไขประเด็นกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิ หน้าที่ และความ

รับผิดของผู้ประกอบธุรกิจและนายทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท บุคคลที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องทราบและดำเนินการให้ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจมีผลให้การยื่นขอจดทะเบียนในกรณีต่าง ๆ มีปัญหา

การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทดังกล่าวข้างต้น เป็นการเปลี่ยนแปลง

บทบัญญัติที่ใช้มานานตั้งแต่ พ.ศ. 2472 หรือประมาณ 79 ปี อันจะเป็นผลทำให้การจัดตั้งและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมีความสะดวกคล่องตัวและมีข้อมูลทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือในการติดต่อค้าขายต่อไป จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ รวมทั้งการอบรมสัมนาผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและนายทะเบียน โดยขอให้ดำเนินการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้

 

**********************

ที่มา.. กระทรวงพาณิชย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น