มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 45 (ปรับปรุง 2550)

เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วม
คำแถลงการณ์
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 28 เรื่อง
เงินลงทุนในบริษัทร่วม พ.ศ. 2549 (IAS No. 28,“ Investments in Associates”(revised 2006))

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 45 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วม
ขอบเขต
1. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติกับการบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทร่วม ยกเว้นเงินลงทุนในบริษัท
ร่วมซึ่งถือโดย
1.1 กิจการร่วมลงทุน (venture capital organisations)
1.2 กองทุนรวม (mutual funds) หน่วยลงทุน (unit trusts) และกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันรวมทั้ง
กองทุนประกันภัยซึ่งมีลักษณะของเงินลงทุน (investment-linked insurance funds)
ซึ่งผู้ลงทุนรับรู้เริ่มแรกโดยจัดประเภทเงินลงทุนเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้าและบันทึกบัญชีตามมาตรฐาน
การบัญชี เรื่องการรับรู้และการวัดมูลค่าตราสารการเงิน (เมื่อมีการประกาศใช้) ผู้ลงทุนต้องรับรู้รายการ
เงินลงทุนดังกล่าวด้วยมูลค่ายุติธรรมตามที่กำหนด และรับรู้การเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมในกำไรหรือ
ขาดทุนในงวดบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลง ตามมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าตราสาร
การเงิน (เมื่อมีการประกาศใช้)
คำนิยาม
2. คำศัพท์ที่ใช้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้มีความหมายโดยเฉพาะ ดังนี้
บริษัทร่วม หมายถึง กิจการซึ่งรวมถึงกิจการที่ไม่ได้ก่อตั้งในรูปบริษัท เช่น ห้างหุ้นส่วน
ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญของผู้ลงทุนและไม่ถือเป็น
บริษัทย่อยหรือส่วนได้เสียในการร่วมค้า
งบการเงินรวม หมายถึง งบการเงินของกลุ่มกิจการที่นำเสนอเสมือนว่าเป็นงบการเงินของ
หน่วยงานทางเศรษฐกิจหน่วยงานเดียว (A single economic entity)
การควบคุม หมายถึง อำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของ
กิจการ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากกิจกรรมต่างๆ ของกิจการนั้น
วิธีส่วนได้เสีย หมายถึง วิธีการบัญชีซึ่งบันทึกเงินลงทุนเมื่อเริ่มแรกด้วยราคาทุนและ
ปรับปรุงด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการลงทุนตาม
สัดส่วนที่ผู้ลงทุนมีสิทธิในสินทรัพย์สุทธิของกิจการที่ถูกลงทุน
กำไรหรือขาดทุนของผู้ลงทุนรวมถึงส่วนแบ่งของผู้ลงทุนในกำไร
หรือขาดทุนของกิจการที่ถูกลงทุน

การควบคุมร่วม หมายถึง การมีส่วนร่วมในการควบคุมกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจตามที่ตกลงไว้
ในสัญญาและเกิดขึ้นต่อเมื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ด้านการเงิน
และการดำเนินงานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องได้รับความ
เห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากผู้ร่วมค้าซึ่งมีส่วนร่วมในการควบคุม
งบการเงินเฉพาะ
กิจการ
หมายถึง งบการเงินที่นำเสนอโดยบริษัทใหญ่ หรือโดยผู้ลงทุนในบริษัทร่วม
หรือโดยผู้ร่วมค้าในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน ซึ่งการบันทึกบัญชี
เงินลงทุนเป็นไปตามเกณฑ์ส่วนได้เสียในส่วนของเจ้าของโดยตรง
มิใช่ตามเกณฑ์ของผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นและสินทรัพย์สุทธิ
ของกิจการที่ถูกลงทุน
อิทธิพลอย่างมี
นัยสำคัญ
หมายถึง อำนาจในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายทาง
การเงินและการดำเนินงานของกิจการที่ถูกลงทุน แต่ไม่ถึงระดับ
ที่จะควบคุมหรือควบคุมร่วมในนโยบายดังกล่าว
บริษัทย่อย หมายถึง กิจการซึ่งรวมถึงกิจการที่ไม่ได้ก่อตั้งในรูปบริษัท เช่น ห้างหุ้นส่วน
ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการอื่น (บริษัทใหญ่)
การนำวิธีส่วนได้เสียมาปฏิบัติ
3. ผู้ลงทุนต้องบันทึกบัญชีเงินลงทุนในบริษัทร่วมโดยใช้วิธีส่วนได้เสียในทุกกรณี ยกเว้นเมื่อมีเหตุการณ์ใด
เหตุการณ์หนึ่งต่อไปนี้เกิดขึ้น
3.1 เงินลงทุนที่จัดประเภทเป็นเงินลงทุนที่ถือไว้เพื่อขาย ตามมาตรฐานการบัญชี เรื่อง สินทรัพย์ไม่
หมุนเวียน ที่ถือไว้เพื่อขาย และการดำเนินงานที่ยกเลิก (เมื่อมีการประกาศใช้)
3.2 มีการนำข้อยกเว้นตามที่กำหนดในย่อหน้าที่ 5 ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 44 (ปรับปรุง 2550)
เรื่อง งบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการมาปฏิบัติซึ่งอนุญาตให้บริษัทใหญ่ที่มีเงินลงทุนใน
บริษัทร่วมไม่ต้องนำเสนองบการเงินรวม หรือ
3.3 เมื่อมีลักษณะตามข้อกำหนดทุกข้อต่อไปนี้
3.3.1 ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นบริษัทย่อยซึ่งถูกกิจการอื่นควบคุมอยู่ทั้งหมด หรือเป็นบริษัทย่อยซึ่ง
ถูกกิจการอื่นควบคุมในบางส่วน โดยที่ผู้ถือหุ้นอื่นของกิจการ รวมทั้งผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสิทธิ
ออกเสียง ได้รับทราบและไม่คัดค้านในการที่ผู้ลงทุนจะไม่นำวิธีส่วนได้เสียมาปฏิบัติ
3.3.2 ตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของผู้ลงทุนไม่มีการซื้อขายในตลาดสาธารณะ (ไม่ว่าจะเป็น
ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศหรือต่างประเทศหรือการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้ง
ตลาดในท้องถิ่นและในภูมิภาค)
3.3.3 ผู้ลงทุนไม่ได้นำส่งหรืออยู่ในกระบวนการของการนำส่งงบการเงินให้แก่สำนักงาน
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่นเพื่อวัตถุประสงค์ในการ
ออกขายตราสารใดๆ ในตลาดสาธารณะ

3.3.4 บริษัทใหญ่ในลำดับสูงสุดหรือบริษัทในระหว่างกลางของผู้ลงทุนได้จัดทำงบการเงินรวม
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ของสาธารณชนซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปแล้ว
4. เงินลงทุนที่ถือไว้เพื่อขายตามข้อ 3.1 ให้วัดมูลค่าด้วยจำนวนที่ต่ำกว่าระหว่างมูลค่าตามบัญชีกับมูลค่า
ยุติธรรมสุทธิจากต้นทุนในการขาย ตามมาตรฐานการบัญชี เรื่อง สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายและ
การดำเนินงานที่ยกเลิก (เมื่อมีการประกาศใช้)
5. ผู้ลงทุนต้องเลิกใช้วิธีส่วนได้เสียนับจากวันที่ผู้ลงทุนไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทร่วม และ
บริษัทร่วมนั้นไม่ได้กลายเป็นบริษัทย่อยหรือกิจการร่วมค้าตามคำนิยามที่กำหนดในมาตรฐานการบัญชี
ฉบับที่ 46 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง ส่วนได้เสียในการร่วมค้า ผู้ลงทุนจะต้องบันทึกบัญชีเงินลงทุนดังกล่าว
ในเวลาต่อมาตามข้อกำหนดของมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าตราสารการเงิน
(เมื่อมีการประกาศใช้)
6. ผู้ลงทุนต้องถือมูลค่าตามบัญชีของเงินลงทุน ณ วันที่ผู้ลงทุนไม่ถือว่าเงินลงทุนดังกล่าวเป็นบริษัทร่วมของ
ผู้ลงทุนแล้ว เป็นราคาทุนสำหรับการวัดมูลค่าเริ่มแรกของสินทรัพย์ทางการเงินตามที่กำหนดในมาตรฐาน
การบัญชี เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าตราสารการเงิน (เมื่อมีการประกาศใช้)
7. ในการนำวิธีส่วนได้เสียมาปฏิบัติ ผู้ลงทุนต้องใช้งบการเงินล่าสุดของบริษัทร่วม หากวันที่ในงบการเงินของ
ผู้ลงทุนและบริษัทร่วมแตกต่างกัน ให้บริษัทร่วมจัดทำงบการเงินให้มีวันที่เดียวกับวันที่ในงบการเงินของ
ผู้ลงทุนเพื่อการใช้ประโยชน์ของผู้ลงทุน เว้นแต่จะไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ
8. เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 7 หากงบการเงินของบริษัทร่วมที่จะนำมาใช้ในการนำวิธี
ส่วนได้เสียมาปฏิบัติมีวันที่แตกต่างจากวันที่ในงบการเงินของผู้ลงทุน ผู้ลงทุนต้องปรับปรุงผลกระทบของ
รายการหรือเหตุการณ์ทางบัญชีที่สำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ในงบการเงินของบริษัทร่วมกับวันที่ใน
งบการเงินของผู้ลงทุน อย่างไรก็ตาม งบการเงินของบริษัทร่วมและผู้ลงทุนอาจมีวันที่ในงบการเงินแตกต่าง
กันได้ไม่เกินกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาของงวดบัญชีและความแตกต่างของวันที่ในงบการเงินจะต้อง
เหมือนกันในทุกๆ งวดบัญชี
9. ผู้ลงทุนต้องจัดทำงบการเงินโดยใช้นโยบายการบัญชีเดียวกันสำหรับรายการบัญชีที่เหมือนกันและเหตุการณ์
ทางบัญชีที่คล้ายคลึงกัน
งบการเงินเฉพาะกิจการ
10. ผู้ลงทุนต้องบันทึกบัญชีเงินลงทุนในบริษัทร่วมในงบการเงินเฉพาะกิจการของผู้ลงทุนตามข้อกำหนดใน
ย่อหน้าที่ 16–19 ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 44 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง งบการเงินรวมและ
งบการเงินเฉพาะกิจการ

การเปิดเผยข้อมูล
11. ผู้ลงทุนต้องเปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้
11.1 มูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัทร่วมซึ่งมูลค่าดังกล่าวเป็นราคาที่เปิดเผยต่อสาธารณชน
11.2 ข้อมูลทางการเงินโดยสรุปของบริษัทร่วม รวมทั้งมูลค่ารวมของสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ และ
ผลกำไรหรือขาดทุน
11.3 เหตุผลที่ผู้ลงทุนมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่ผู้ลงทุนมีอำนาจในการออกเสียงหรืออำนาจใน
การออกเสียงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมโดยผ่านบริษัทย่อยอื่นในกิจการที่ถูกลงทุน
น้อยกว่าร้อยละ 20
11.4 เหตุผลที่ผู้ลงทุนไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่ผู้ลงทุนมีอำนาจในการออกเสียงหรืออำนาจใน
การออกเสียงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมโดยผ่านบริษัทย่อยอื่นในกิจการที่ถูกลงทุน
เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20
11.5 วันที่ในงบการเงินของบริษัทร่วม เมื่อผู้ลงทุนใช้งบการเงินของบริษัทร่วมนั้นในการนำวิธีส่วนได้เสีย
มาปฏิบัติซึ่งมีวันที่ในงบการเงินหรืองวดบัญชีแตกต่างจากวันที่ในงบการเงินของผู้ลงทุน รวมทั้ง
เหตุผลในการใช้วันที่ในงบการเงินหรืองวดบัญชีที่แตกต่างกัน
11.6 ลักษณะและขอบเขตของข้อจำกัดใดๆ ที่มีสาระสำคัญ (เช่น ผลจากภาระผูกพันในการกู้ยืมหรือ
เงื่อนไขทางกฎหมาย) ต่อความสามารถของบริษัทร่วมในการโอนเงินทุนให้แก่ผู้ลงทุนไม่ว่าจะเป็นใน
รูปของเงินปันผล หรือการจ่ายคืนเงินกู้ยืมหรือเงินทดรองจ่ายล่วงหน้า
11.7 ส่วนแบ่งในผลขาดทุนของบริษัทร่วมซึ่งยังไม่ได้รับรู้ ทั้งยอดที่เกิดขึ้นสำหรับงวดบัญชีและยอดสะสม
ในกรณีที่ผู้ลงทุนหยุดรับรู้ผลขาดทุนของบริษัทร่วมในส่วนที่เป็นของผู้ลงทุน
11.8 ข้อเท็จจริงที่บริษัทร่วมไม่นำวิธีส่วนได้เสียมาปฏิบัติตามข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 3 และ
11.9 ข้อมูลทางการเงินโดยสรุปของบริษัทร่วม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลรายบริษัทหรือข้อมูลของทั้งกลุ่มบริษัท
ที่ผู้ลงทุนไม่นำวิธีส่วนได้เสียมาปฏิบัติ รวมทั้งมูลค่าของสินทรัพย์รวม หนี้สินรวม รายได้ และ
ผลกำไรหรือขาดทุน
12. ผู้ลงทุนต้องจัดประเภทรายการเงินลงทุนในบริษัทร่วมซึ่งบันทึกบัญชีโดยใช้วิธีส่วนได้เสียเป็นสินทรัพย์
ไม่หมุนเวียน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนต้องเปิดเผยส่วนแบ่งของผู้ลงทุนในผลกำไรหรือขาดทุนของบริษัทร่วม
มูลค่าตามบัญชีของเงินลงทุนในบริษัทร่วม และส่วนของการดำเนินงานที่ยกเลิกของบริษัทร่วมเป็นรายการ
แยกต่างหาก
13. ผู้ลงทุนต้องรับรู้มูลค่าของการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งรับรู้โดยตรงในส่วนของเจ้าของของบริษัทร่วมตามที่
ผู้ลงทุนมีส่วนได้เสียเป็นรายการหนึ่งในส่วนของเจ้าของของผู้ลงทุนและจะต้องเปิดเผยรายการดังกล่าวใน
งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของตามที่กำหนดในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 35 (ปรับปรุง
2550) เรื่อง การนำเสนองบการเงิน
6
14. ตามที่กำหนดในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 53 เรื่อง ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์
ที่อาจเกิดขึ้น ผู้ลงทุนต้องเปิดเผยข้อมูลต่อไปนี้
14.1 หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นของบริษัทร่วมในส่วนที่เป็นของผู้ลงทุน ซึ่งเกิดขึ้นร่วมกันกับผู้ลงทุนอื่น และ
14.2 หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ลงทุนมีภาระต่อหนี้สินใดๆ ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือในบางส่วน
ของบริษัทร่วม
วันถือปฏิบัติ
15. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่
1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม กิจการสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้
ก่อนวันถือปฏิบัติ และหากกิจการต้องการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2550
กิจการต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวในงบการเงิน

คลิ๊กเพื่อดูไฟล์ฉบับเต็ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น