จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ขั้นตอนและวิธีการ

คำแนะนำการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและห้างหุ้นส่วนจำกัด

จะจัดตั้งห้างหุ้นส่วนได้อย่างไร
การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนั้น เกิดจากการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงที่จะทำการค้าร่วมกัน โดยมุ่งหวังที่จะแบ่งผลกำไรจากการดำเนินกิจการค้านั้น

การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้


ขั้นตอนที่ 1 ทำความตกลงระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนในเรื่องสำคัญ ๆ
          ห้างหุ้นส่วนเป็นรูปแบบการประกอบกิจการค้าที่มีคนหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างประกอบการค้า ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจึงควรทำความตกลงกันในเรื่องสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้ไว้ก่อนให้ชัดเจน

1. จำนวนเงินลงทุนหรือสิ่งที่ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะนำมาลงทุน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถลงทุนด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (ยกเว้นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดจะลงทุนด้วยแรงงานไม่ได้) แต่การลงทุนด้วยทรัพย์สินหรือแรงงาน ต้องตีราคาเป็นจำนวนเงินและกำหนดระยะเวลาชำระเงินหรือสิ่งที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะนำมาลงทุน ซึ่งควรชำระให้ครบก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
2. กำหนดขอบเขตหรือกรอบของกิจการค้าที่ห้างหุ้นส่วนจะประกอบกิจการ หรือที่เรียกว่า “วัตถุที่ประสงค์” ในปัจจุบันส่วนมากจะกำหนดวัตถุประสงค์ไว้หลาย ๆ กิจการ เพื่อความคล่องตัวในการเพิ่มหรือปรับเปลี่ยนกิจการค้า จะได้ไม่ต้องเสียเวลา
ในการดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มหรือเปลี่ยนวัตถุที่ประสงค์ แต่การจดทะเบียนวัตถุที่ประสงค์ไว้
เป็นหลาย ๆ กิจการ นั้นอาจไม่เป็นผลดี เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารประกอบกิจการค้าที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ตนถนัดและให้อำนาจกว้างขวางมากเกินไป *ดูหลักเกณฑ์การกำหนดวัตถุที่ประสงค์*
3. แต่งตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการ (หุ้นส่วนผู้จัดการคือ ผู้ที่จะมีอำนาจกระทำการแทนห้างหุ้นส่วน ซึ่งต้องแต่งตั้งจากหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น)
4. การแบ่งส่วนผลกำไรและขาดทุน
5. เรื่องอื่น ๆ เช่น หลักเกณฑ์และวิธีการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาจัดตั้งห้างเดิม
สถานที่ที่จะใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ ข้อจำกัดในการใช้อำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ และการตั้งผู้ชำระบัญชี เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 ขอตรวจสอบและจองชื่อห้างหุ้นส่วน
          ในปัจจุบันมีการประกอบกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับชื่อที่คล้ายหรือซ้ำกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนขึ้นใหม่ต้องขอตรวจและจองชื่อนิติบุคคลก่อนจะจดทะเบียนจัดตั้ง

ขั้นตอนที่ 3 จัดทำคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบ
          เมื่อผ่านการตรวจและตอบรับจากเจ้าหน้าที่ว่าชื่อที่จะจดทะเบียนไม่คล้ายหรือซ้ำกับชื่อของนิติบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนต้องกรอกรายละเอียด (โดยวิธีการพิมพ์) ในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียนให้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามความเป็นจริงใน
แบบพิมพ์คำขอจดทะเบียน

ขั้นตอนที่ 4 การยื่นขอจดทะเบียน
การยื่นขอจดทะเบียนทำได้ 2 วิธี คือ


1. ยื่นคำขอจดทะเบียนพร้อมเอกสารประกอบต่อนายทะเบียน กรณีนี้
หุ้นส่วนผู้จัดการจะไปยื่นขอจดทะเบียนด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนก็ได้
2. ยื่นขอจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ www.dbd.go.th เพื่อให้นายทะเบียนตรวจพิจารณาคำขอจดทะเบียนก่อน และเมื่อผ่านการตรวจและตอบรับว่าคำขอจดทะเบียนถูกต้องแล้ว ให้ผู้ขอจดทะเบียนสั่งพิมพ์ (print out) เอกสารคำขอจดทะเบียนดังกล่าวให้ผู้เป็นหุ้นส่วนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้าง หลังจากนั้นก็นำไปยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีความรวดเร็วกว่ากรณีการยื่นขอจดทะเบียนตาม 1. มาก เนื่องจากนายทะเบียนจะตรวจเอกสารคำขอจดทะเบียนที่นำมายื่นนั้นว่ามีข้อความถูกต้องตรงกับที่ยื่นไว้ทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่เท่านั้น

ข้อมูลที่ใช้
1. ชื่อของห้างหุ้นส่วน
2. วัตถุประสงค์ของห้าง
3. ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และ/หรือสาขา
4. ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ และสิ่งที่นำมาลงหุ้น
5. ชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ต้องเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด)
กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถเข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ทุกคน
6. ข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการ (ถ้ามี)
7. ตราสำคัญของห้าง *ดูหลักเกณฑ์การกำหนดดวงตรา*

เอกสารและหลักฐานที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน
ในการขอจดทะเบียนต้องเตรียมเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
1. คำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน (แบบ หส. 1)
2. รายการจดทะเบียน (แบบ หส.2) /ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ใช้เฉพาะหน้า 1 และ 3
3. วัตถุประสงค์ (แบบ ว.)
4. แบบ สสช. 1 จำนวน 1 ฉบับ
5. แบบจองชื่อนิติบุคคลที่ยังไม่เกินกำหนด
6. สำเนาบัตรประจำตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน *ดูหลักเกณฑ์เรื่องบัตรประจำตัว*
7. สำเนาหลักฐานการรับชำระเงินลงหุ้นที่ห้างหุ้นส่วนได้ออกให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน
8. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี) *ดูหลักเกณฑ์การลงลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียน*
9. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเองก็มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและปิดอากรแสตมป์ด้วย)
10. กรณีมีคนต่างด้าวลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนตั้งแต่ร้อยละ 40 แต่ไม่ถึงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน หรือมีคนต่างด้าวลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนต่ำกว่า ร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียน แต่คนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนห้างหุ้นส่วน ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนที่มีสัญชาติไทยส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุน ซึ่งปรากฏจำนวนเงินสอดคล้องกับจำนวนเงินที่นำมาลงทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน ดังนี้
     - สำเนาสมุดเงินฝากธนาคาร หรือสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน หรือ
     - เอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรอง หรือแสดงฐานะทางการเงินของผู้ถือหุ้น หรือ
     - สำเนาหลักฐานแสดงแหล่งที่มาของเงินที่นำมาลงทุน
คำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบสามารถขอและซื้อได้ที่หน่วยงานของกรมพัฒนาธุรกิจทุกแห่ง หรือ Download ได้จาก www.dbd.go.th

อัตราค่าธรรมเนียม
1. การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนทุกจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท แห่งทุนที่กำหนดไว้ 100 บาท เศษของ 100,000 บาท ให้คิดเป็น 100,000 บาท ทั้งนี้ รวมกันไม่ให้ต่ำกว่า 1,000 บาท และไม่ให้เกิน 5,000 บาท
2. หนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
3. ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
4. กรณีขอให้นายทะเบียนรับรองสำเนาเอกสารการจดทะเบียน หน้าละ 50 บาท
สถานที่จดทะเบียน
1. สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนได้ที่ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 9 ถนนนนทบุรี 1 จังหวัดนนทบุรี หรือสำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจทั้ง 7 แห่ง *ดูรายละเอียด*
2. สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่จังหวัดอื่น ยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่ห้างหุ้นส่วนมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
3. ยื่นจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ www.dbd.go.th

รูปภาพประกอบ

Partnership

 

 

ที่มา..กระทรวงพาณิชย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น