จดทะเบียนบริษัท คำถามที่ถูกถามบ่อย

คำถาม ผู้ร่วมลงทุนไม่ถึง 7 คนได้หรือไม่
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป กฎหมายได้เปลี่ยนจำนวนผู้เริ่มก่อการและถือหุ้นบริษัทจากอย่างน้อย 7 คน เหลือ อย่างน้อย 3 คน (มาตรา 1097)
คำถาม ทุนจดทะเบียนไม่ถึง 1,000,000 บาทได้หรือไม่
บริษัทจำกัด ตามกฎหมาย (ป.พ.พ.) กำหนดมูลค่าหุ้นไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท ฉะนั้น ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุดของบริษัท คือ 15 บาท ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้แล้ว (ผู้ถือหุ้น 3 ราย ถือคนละ 1 หุ้นๆ ละ 5 บาท) ห้างหุ้นส่วน กฎหมายไม่ได้กำหนดทุนขั้นต่ำไว้
ผมเคยเข้าไปตรวจสอบทุนจดทะเบียน เคยเห็นมีบริษัทที่จดทะเบียนทุนไว้ 10,000 บาทอยู่ 2-3 ราย จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนในเดือนนั้น 1,000 กว่าบริษัท (เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร)
การกำหนดทุนจดทะเบียนขึ้นอยู่กับ งบกระแสเงินสด (Cashflow) ต้องเพียงพอต่อการทำดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ต้องดูประเภทของธุรกิจด้วยว่าเป็นธุรกิจแบบไหน เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป บริการ หรือโรงงานอุตสาหกรรม แต่ละธุรกิจก็มีความจำเป็นในการใช้เงินแตกต่างกัน เช่น
  • โรงงานอุตสาหกรรม อาจจะต้องเงินลงทุนมากเนื่องจากต้องสร้างอาคารโรงงาน ซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ
  • กิจการซื้อมาขายไป ก็ต้องดูในเรื่องสต๊อค ต้องเก็บสต๊อคไว้มากน้อยแค่ไหน การหมุนเวียนเป็นเงินสดเร็วช้าแค่ไหน
  • กิจการบริการ อาจไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนทุนไว้สูง เนื่องจากไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินเพื่อลงทุน
คำถาม ทุนจดทะเบียน ต้องชำระอย่างน้อยเท่าไหร่
ต้องชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของมูลค่าหุ้น ตัวอย่างเช่น ทุนจดทะเบียน 500,000 บาท ยอดเงินลงทุนที่ต้องเรียกชำระขั้นต่ำ 25% เท่ากับ 125,000 บาท จึงจะสามารถไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ได้
หลังจากกิจการได้ประชุมผู้ถือหุ้นและแต่งตั้งกรรมการชุดแรก เพื่อบริหารงานและกรรมการชุดแรกนี้ต้องเรียกชำระค่าหุ้น เพื่อนำไปจดทะเบียนบริษัทต่อไป
คำถาม กรณีจดทะเบียนทุน 1 ล้านแต่ไม่กรรมการยังไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีบริษัทได้หรือไม่
ในขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท กรรมการชุดแรกจะต้องเรียกชำระค่าหุ้น และมีหลักฐานการรับชำระค่าหุ้น จึงจะสามารถจดทะเบียนบริษัทได้ ต่อมาภายหลัง กรรมการไม่ได้นำเงินที่รับชำระค่าหุ้นเข้าบัญชีบริษัท ต้องถือว่า กรรมการได้ยืมเงินของกิจการไปใช้ ในทางบัญชีจะต้องบันทึกกรรมการ เป็นลูกหนี้เงินให้ยืมกรรมการ และคิดดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำ หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (กรณีกิจการกู้ยืมเงินมาใช้ในการดำเนินงาน)

คำถาม ชำระค่าหุ้นเต็มจำนวนหรือชำระค่าหุ้นตามจริง (บางส่วน) อย่างไหนดีกว่า
กฎหมายอนุญาตให้มีการเรียกชำระค่าหุ้น เป็นระยะได้และไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะต้องชำระให้เสร็จสิ้นเมื่อใด เพียงแต่กำหนดการเรียกชำระค่าหุ้นในครั้งแรกไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 25%
การบันทึกบัญชีทั้ง 2 กรณี มีวิธีบันทึกที่แตกต่างกันไป ดังนี้
กรณีชำระเต็มจำนวนและกรรมการไม่นำเงินเข้าบัญชี แต่นำไปใช้ส่วนตัว ก็ต้องบันทึกกรรมการเป็น ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ และคิดดอกเบี้ย
กรณีชำระบางส่วนและกรรมการนำเงินเข้าบัญชีจริง ส่วนที่ผู้ถือหุ้นยังชำระค่าหุ้นไม่ครบก็ต้องบันทึกผู้ถือหุ้น เป็น ลูกหนี้ค่าหุ้น อันนี้ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย (แต่ผู้ถือหุ้นยังคงมีหน้าที่ที่ต้องชำระค่าหุ้นอยู่ ตามจำนวนเงินที่ค้าง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น