จดทะเบียนธุรกิจแบบไหนดีกว่า

รูปแบบธุรกิจ

1. บุคคลธรรมดา บุคคลทั่วไปที่มีชีวิตอยู่ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา15)

2. คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อการทำกิจการร่วมกัน โดยไม่มีวัตถุประสงค์แบ่งปันกำไรที่ ได้จากกิจการที่ทำ (หน่วยภาษีตามมาตรา 56แห่งประมวลรัษฎากร)

3. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อการทำกิจการร่วมกันโดยมีวัตถุ ประสงค์แบ่งปันกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำ (หน่วยภาษีตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร)

4. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียน นิติบุคคล บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน โดยหุ้นส่วน ทุกคนไม่จำกัดความรับผิดและต้องจดทะเบียน เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์

5 ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน หุ้นส่วนมีทั้งที่จำกัดความรับผิดและ ไม่จำกัดความ รับผิดและต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

6. บริษัทจำกัด บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นรับผิดในหนี้ต่าง ๆ ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนลงทุน และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

7. บริษัทมหาชนจำกัด บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยความ ประสงค์ที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชนให้ผู้ถือหุ้นมีความรับผิด จำกัด ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระ และบริษัทดังกล่าวได้ระบุความประสงค์เช่นนั้นไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ (มาตรา 15 พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด)

8. กิจการร่วมค้า กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการ ค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและ/หรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น

- เป็นนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 39)

9. นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

10. กิจการที่ดำเนินการค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ เป็นกิจการของรัฐบาลต่างประเทศหรือ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

- เป็นนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 39)

11. มูลนิธิหรือสมาคม เป็นนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรและมี หน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่จะได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลถ้าเป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังประกาศให้เป็นองค์การสาธารณะ กุศล

ผมมักจะได้รับคำถามว่า ควรจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด อย่างไหนดีกว่ากัน ก่อนที่จะมาดูข้อสรุป เรามาดูว่าแต่ละแบบ มีรูปแบบหรือลักษณะเป็นอย่างไรกันดีกว่า

ข้อ 1,2 และ 3 บุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา ที่เหลือข้อ 4 ถึง 11 มีสภาพเป็นนิติบุคคล ที่ต้องแยกเนื่องจากมีผลต่อการเสียภาษีและการจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์

กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ก็เสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา (ภงด.90,91,94) และไม่ต้องจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์

กรณีเป็นนิติบุคคล ต้องเสียภาษีแบบนิติบุคคล (ภงด.50,51) และจดทะเบียนนิติบุคคลที่กระทรวงพาณิชย์ด้วย

คณะบุคคล คือ บุคคลตั้งแต่สองคน ไม่เกินสามคน (ที่ไม่ใช่ สามี ภรรยา ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย) ร่วมธุรกิจกันประกอบกิจการการค้า โดยต้องทำสัญญาตกลงจัดตั้งคณะบุคคล โดยระบุวัตถุประสงค์ที่ต้องการจัดตั้งและต้องมอบหมายให้ บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการของคณะบุคคลนี้ โดยยื่นต่อกรมสรรพากร เพื่อขอหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี กรณีประกอบกิจการซื้อมาขายไปต้องยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ ต่อสำนักงานกลางทะเบียนพาณิชย์ หรือสำนักทะเบียนพาณิชย์ของแต่ละจังหวัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อออกใบทะเบียนพาณิชย์

ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล หมายถึง บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น

ที่จริงแล้ว คณะบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล มีรูปแบบเหมือนกันทุกประการ แต่ปัจจุบันสรรพากรได้คำนิยามของคณะบุคคลต่างกับห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จด ทะเบียน ตรงที่ว่า คณะบุคคลไม่มีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำ (หรือผู้ที่จะจดทะเบียนคณะบุคคลได้ต้องเป็นมูลนิธิ สมาคม องค์กรสาธารณะกุศล เป็นต้น)

การจดทะเบียนพาณิชย์ บุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ถ้าประกอบธุรกิจการซื้อมาขายไป ก็ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์ด้วยนะครับ ศึกษาข้อมูลได้ที่ http://www.kiatchai.com/archives/1102 ถ้าประกอบธุรกิจบริการ หรือเป็นนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด) ก็ไม่ต้องจด (เหตุผลก็เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีข้อมูลอยู่แล้ว) แต่อาจจะมีบางประเภทธุรกิจที่ยังต้องจดอยู่ ลองเข้าไปดูตาม Link ที่ให้ไว้นะครับ

ส่วนเหตุผลที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ก็ง่ายๆ เลยนะครับ ทางรัฐบาลต้องการข้อมูล เพื่อง่ายต่อการควบคุม ส่งเสริม และสนับสนุน

มาดูประโยชน์ของการจดทะเบียนพาณิชย์

รัฐบาล ได้ตราพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับแรกถูกตราขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2479) โดยพิจารณาเห็นว่า สมควรจะให้มีการจดทะเบียนประกอบพาณิชยกิจ เพื่อประโยชน์การจัดทำสถิติของการประกอบพาณิชยกิจที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ซึ่งแต่เดิมมานั้นไม่อาจจะทราบได้ว่าในประเทศไทยมีการประกอบพาณิชยกิจประเภท ต่าง ๆ เป็นจำนวนเท่าใด สำนักงานแห่งใหญ่และสาขาตั้งอยู่ที่ไหน ใครเป็นเจ้าของ หุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นคนไทยหรือเป็นคนต่างชาติ สัญชาติอะไร มีทุนเท่าไร และเริ่มประกอบพาณิชยกิจตั้งแต่เมื่อใด เป็นต้น

กรณีที่ไม่มีข้อมูลการประกอบพาณิชยกิจดังกล่าวจึงไม่สะดวกในการติดต่อ ค้า ขาย และเป็นการยากที่รัฐบาลจะควบคุมหรือส่งเสริมการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ก็จะต้องทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลใหม่ทุกครั้งไป ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทั้งเวลาและงบประมาณ และยังไม่ทันความต้องการอีกด้วย

ข้อมูลที่ได้จากการทดทะเบียนพาณิชย์นอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลใน การส่งเสริมการพาณิชย์และอุสาหกรรมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบพาณิชยกิจในการใช้เป็นหลักฐานในทางการค้าและ เป็นศูนย์ข้อมูลกลางซึ่งพ่อค้าและประชาชนโดยทั่วไปสามารถใช้เป็นแหล่งในการ ตรวจดูรายละเอียดข้อมูลทางการค้าต่าง ๆ และขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่คัดสำเนา และรับรองสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐาน ได้อีกด้วย

ห้างหุ้นส่วน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แบ่งห้างหุ้นส่วนออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ห้างหุ้นส่วนสามัญ
คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกเดียว โดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้น ส่วนไม่จำกัดจำนวน ห้างหุ้นส่วนสามัญ จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นห้างหุ้นส่วนสามัญจึงแยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ซึ่งไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า "ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล" โครงสร้างห้างหุ้นส่วนสามัญ
1. มีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. มีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกเดียว คือ หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดชอบ โดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในบรรดาหนี้สินทั้งปวง ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวน
3. ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้
4. จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ก็ได้ ถ้าจดทะเบียนเรียกว่า "ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล"

ห้างหุ้นส่วนจำกัด
คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 จำพวก ดังนี้คือ
1. หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งรับผิดจำกัดเพียงจำนวนเงินที่ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น
2. หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ได้แก่ หุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งรับผิดในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วน โดยไม่จำกัดจำนวน โครงสร้างห้างหุ้นส่วนจำกัด
1. มีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. ผู้เป็นหุ้นส่วนมี 2 จำพวก คือ
2.1 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดชอบ รับผิดเฉพาะจำนวนเงินที่รับว่าจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วน
2.2 หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความผิดชอบ รับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน
3. ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
4. ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การดำเนินการจัด ตั้งห้างหุ้นส่วน
เมื่อมีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงใจที่จะเข้าร่วมลงทุนประกอบกิจการเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประเภทใด ประเภทหนึ่งดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากบรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่ ดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่ห้างนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
กรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด กฎหมายกำหนดให้ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จะเป็นได้เฉพาะแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น

บริษัทจำกัด
คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นแต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบ มูลค่าของหุ้นที่ตนถือ

โครงสร้างของ "บริษัทจำกัด"
1. ต้องมีผู้ร่วมลงทุน อย่างน้อย 3 คน
2. แบ่งทุนออกเป็นหุ้น และมีมูลค่าหุ้นละเท่าๆ กัน
3. มูลค่าหุ้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท
4. ความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นมีจำกัด (เฉพาะจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ)
5. ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การดำเนินการจัดตั้ง บริษัทจำกัด ในการจัดตั้งบริษัทจำกัดนั้น จะต้องดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. ต้องมีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิขึ้น แล้วไปจดทะเบียน
2. เมื่อได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องจัดให้หุ้นของบริษัทที่จะตั้งขึ้นนั้นมีผู้ เข้าชื่อจองซื้อหุ้นจนครบ
3. ดำเนินการประชุมตั้งบริษัท โดยต้องส่งคำบอกกล่าวนัดประชุมให้ผู้จองทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันประชุม
4. เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัท และที่ประชุมได้แต่งตั้งกรรมการบริษัทแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องมอบหมายกิจการให้กรรมการบริษัทรับไปดำเนินการต่อไป
5. กรรมการบริษัทเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้จองหุ้นชำระค่าหุ้นอย่างน้อยร้อย ละ 25 ของมูลค่าหุ้น (ทุนของบริษัทจะแบ่งเป็นกี่หุ้นก็ได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท)
6. เมื่อได้รับเงินค่าหุ้นแล้ว กรรมการต้องไปจดทะเบียนเป็นบริษัทภายใน 3 เดือน ภายหลังจากการประชุมตั้งบริษัท
7. ในการจัดตั้งบริษัท ถ้าได้ดำเนินการทุกขั้นตอนดังต่อไปนี้ ภายในวันเดียวกับวันที่ผู้เริ่มก่อการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กรรมการจะจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนตั้งบริษัทไปพร้อมกันภาย ในวันเดียวก็ได้
7.1 จัดให้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นครบตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะจดทะเบียน
7.2 ประชุมจัดตั้งบริษัท  เพื่อพิจารณากิจการต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108 โดยมีผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนเข้าร่วมประชุม และผู้เริ่มก่อการ และผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคน ให้ความเห็นชอบในกิจการที่ได้ประชุมกันนั้น
7.3 ผู้เริ่มก่อการได้มอบกิจการทั้งปวงให้แก่กรรมการบริษัท
7.4 กรรมการได้เรียกให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น ใช้เงินค่าหุ้น โดยจะเรียกครั้งเดียวเต็มมูลค่าหรือไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า ตามมาตรา 1110 วรรคสองก็ได้  และผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนได้ชำระเงินค่าหุ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว

บท สรุป

เมื่อดูหลักการกันแล้วจะเห็นว่า ถ้ารายได้ไม่มาก การประกอบธุรกิจในแบบบุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน น่าจะดีกว่าเพราะขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องจัดทำบัญชี ไม่ต้องไปจดทะเบียนนิติบุคคลที่กระทรวงพาณิชย์ แต่ถ้ามีรายได้มาก และค่าใช้จ่ายก็มากตามด้วย การเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายเหมาในแบบบุคคลธรรมดาอาจจะดูน้อยไปสำหรับค่าใช้ จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และการจดทะเบียนนิติบุคคล ดูจะน่าเชื่อถือกว่า (หรือบางทีก็เป็นเงื่อนไขในการทำธุรกิจ) เมื่อธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น การจดทะเบียนนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริจำกัด) ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมมากกว่าในการทำธุรกิจ

ปัญหาการรับงบการเงินของกระทรวงพาณิชย์

ฉบับที่ กธ.3/วันที่ 5 มีนาคม 2553
เรื่อง ปัญหาการรับงบการเงิน

สำนักบริการข้อมูลธุรกิจได้รวบรวมปัญหา เกี่ยวกับการรับงบการเงินในแต่ละปีที่ผ่านมาเพื่อเผยแพร่ให้นิติบุคคลที่มี หน้าที่ส่งงบการเงินได้ทราบทั่วกัน เพื่อให้สามารถ จัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ครบถ้วนถูกต้องสามารถนำส่งงบการเงินได้ อย่างสะดวกรวดเร็วประหยัดเวลา ดังนี้

1. ประชาสัมพันธ์ เรื่องการกรอกแบบ ส.บช.3 ขอความร่วมมือให้นิติบุคคลดาวน์โหลด แบบฟอร์ม จาก www. dbd.go.th หรือ www.google.co.th เนื่องจากสามารถพิมพ์รายละเอียดในแบบ ฟอร์มได้ ไม่ควรพริ้นท์แบบฟอร์มเปล่าออกมาเขียนด้วย หมึกเพราะผู้บันทึกข้อมูลงบการเงินอาจอ่านเลขทะเบียนนิติบุคคลผิดพลาด ได้ จะกลายเป็นนิติบุคคลอื่นได้ส่งงบการเงินแทน

2. สำหรับงบการเงินของนิติบุคคลที่มี รอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2552 ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนิติบุคคลต่างประเทศและกิจการร่วม ค้า ต้องส่งงบการเงินภายใน 5 เดือนนับแต่วันสิ้นงวด คือต้องไม่เกิน 31 พฤษภาคม 2553 เท่านั้น และกรณีเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนต้องนำงบการเงินเสนอที่ประชุมใหญ่สามัญ ประจำปีภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นงวด คือไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2553 และต้องส่งงบการเงินภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ประชุมฯ ขอความร่วมมือนิติบุคคลให้รีบนำส่งเสียแต่เนินๆ หากไปส่งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พฤษภาคม 2553 อาจ ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร

3. หากต้องการให้นายทะเบียนรับรองเอกสาร สำเนางบการเงินหรือสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ขอ ความร่วมมือให้รีบส่งก่อนสิ้นระยะเวลาการส่งงบการเงิน เพราะ หากส่งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม อาจไม่ ได้รับความสะดวก

4. ขอความร่วมมือผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีฯ ให้แจ้งรายชื่อธุรกิจต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก่อนที่จะนำส่งงบการเงิน

5. ก่อนส่งงบการเงินควรตรวจสอบรอบปีบัญชีใน แบบ ส.บช.3 หน้ารายงานผู้สอบบัญชี และ ในงบการเงินควรต้องสอดคล้องเป็นรอบปีบัญชีเดียวกัน

6. วันที่ลงลายมือชื่อของผู้สอบบัญชีฯ ในหน้ารายงานผู้สอบบัญชีฯ ต้องเป็นวันที่ก่อนวันที่ ประชุมอนุมัติงบการเงิน เนื่องจากงบการเงินต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีฯ ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ฯ อนุมัติงบดุล

7. การลงลายมือชื่อในงบการเงินให้ผู้มี อำนาจหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในแบบ ส.บช.3 , งบดุลและงบกำไรขาดทุน ตามอำนาจที่ได้จดทะเบียนไว้ ส่วน เอกสารอื่นนอกจากนี้ให้ผู้มีอำนาจหนึ่งคนลงลายมือชื่อได้

8. ขอความร่วมมือผู้ทำบัญชีอย่าลืมลงลายมือ ชื่อในแบบ ส.บช.3 เพราะในแต่ละปีมีงบการเงินที่ผู้ ทำบัญชีไม่ได้ลงลายมือชื่อในแบบ ส.บช.3 เป็นจำนวนมาก

9. งบการเงินของนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิก หรือเสร็จการชำระบัญชีก่อนสิ้นรอบปีบัญชีในรอบปีนั้นๆ ไม่ ต้องส่งงบการเงินประจำปี งบการเงิน ณ วันเลิกเป็นเอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเท่านั้น

10. งบ การเงินของบริษัทที่ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้างแล้วไม่ต้องส่งงบการเงินจนกว่า จะได้ร้องขอคืนสภาพนิติบุคคลต่อศาล และศาลได้สั่งให้คืนสภาพนิติบุคคลแล้ว

11. นิติบุคคล ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลสั่งล้มละลายไม่ต้องส่งงบการเงิน แต่หากมีความประสงค์จะส่งจะต้องนำส่งงบการเงินโดยเจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจอีกต่อไป

12. สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ส่งพร้อมงบการเงินต้องเป็นสำเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้นที่รับรองจากการประชุมสามัญประจำปีเท่านั้น ถ้าเป็นการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นหรือเป็นการคัดลอกจาก สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ให้จัดทำหนังสือแยกส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่างหาก

สำนักกำกับดูแลธุรกิจ
DBD E-Newslet

การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรณีที่หุ้นส่วนผู้จัดการถึงแก่กรรม

เรื่อง การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรณีที่หุ้นส่วนผู้จัดการ ถึงแก่กรรม
                  เมื่อหุ้นส่วนของห้างถึงแก่กรรม ห้างหุ้นส่วนย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา 1055(5) และ มาตรา 1080 แต่หุ้นส่วนที่ยังคงอยู่อาจตกลงให้ห้างยังคงอยู่
ต่อไป โดยรับทายาทของหุ้นส่วนที่ถึงแก่กรรมเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทนได้ (ตามนัยคำ พิพากษาฎีกา
ที่ 3196/2532)
                  ในการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการกรณีที่หุ้นส่วนผู้จัดการเดิมถึงแก่กรรม จะถือว่า
มีการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการก็ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทำสัญญา หรือมีมติที่ประชุมของ
ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนตกลงกันให้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมของห้างหุ้นส่วนตาม มาตรา 1032 ให้
เปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการโดยให้หุ้นส่วนผู้จัดการเดิมที่ถึงแก่กรรม พ้นจากตำแหน่งและตั้ง
หุ้นส่วนผู้จัดการใหม่ ดังนั้น ห้างหุ้นส่วนจึงต้องนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้
เป็นหุ้นส่วนทุกคนทำสัญญาหรือมีมติที่ประชุมของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนตกลงกัน ให้เปลี่ยนแปลง
หุ้นส่วนผู้จัดการ

สำนักทะเบียนธุรกิจ
18 มกราคม 2553

ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทะเบียนธุรกิจ
สำนักทะเบียนธุรกิจ
DBD E-Newsletter

ความหมายของคำว่า คัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

ความหมายของคำว่า"คัดจากสมุดทะเบียน ผู้ถือหุ้น"ในแบบสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น(แบบ บอจ.5)

ความหมาย ของคำว่า "คัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น" ในแบบสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5 )
การกรอกรายละเอียดในแบบ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ให้ปฏิบัติตาม
ระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน และบริษัท พ.ศ. 2549 ข้อ 55
แก้ไขโดยระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้าง หุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ.2549
แก้ไขเพิ่มเติม(ครั้งที่ 1) พ.ศ.2551 ข้อ 10 คือ การนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นนอกจากวันประชุมสามัญ
ประจำปี หากผู้ยื่นไม่ได้ระบุวันประชุมสามัญประจำปีหรือวิสามัญก็ให้รับไว้ โดยให้ระบุว่า "ได้คัดลอก
บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อวัน เดือน ปีใดแทน)
สำนักทะเบียนธุรกิจ
25 มกราคม 2553

ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทะเบียนธุรกิจ
สำนักทะเบียนธุรกิจ
DBD E-Newsletter

การเสียภาษีอากรของคณะบุคคล

เลข ที่หนังสือ : กค 0706/10581

วัน ที่ : 19 ตุลาคม 2550

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการมีเงินได้และการเสียภาษีอากรของคณะบุคคล

ข้อ กฎหมาย : มาตรา 56 และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ทำการตรวจสภาพกิจการของคณะบุคคล พบว่า มีการจัดตั้งคณะบุคคลจำนวนหกคณะ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ประกอบกิจการประเภทเดียวกัน และมีผู้จัดการคณะบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน คณะบุคคลฯ ทั้งหกคณะประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โดยมีนาย จ. เป็นผู้จัดการคณะบุคคล เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับบริษัท ก. จำกัด (ผู้ว่าจ้าง) ฝ่ายหนึ่ง และคณะบุคคลฯ ทั้งหกคณะ โดยนาย จ. (ผู้จัดการ) (ผู้รับจ้าง) อีกฝ่ายหนึ่ง โดยรับจ้างทำงานก่อสร้าง (ทั้งวัสดุและค่าแรง) เพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง จำนวน 10 หน่วย ในโครงการอาคารพาณิชย์ เป็นค่าจ้างจำนวน 9,500,000 บาท โดยถือราคาเหมารวม และกำหนดจ่ายเงินค่าจ้างตามผลการทำงานแล้วเสร็จและได้ตรวจรับแล้วเป็นงวด จำนวน 10 งวด นอกจากนี้คู่สัญญาได้กำหนดรายละเอียดเบิกเงินงวด งานตามคณะบุคคล ซึ่งไม่สอดคล้องกับงวดงานที่ทำเสร็จ เนื่องจากพบกรณีการแบ่งจ่ายเงินค่าจ้างของงวดงานที่ทำแล้วเสร็จ โดยมิให้คณะบุคคลใดมีเงินได้เกินมูลค่าฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม คือไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี เพื่อให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

แนววินิจฉัย

          การจัดตั้งคณะบุคคลจำนวนหกคณะ โดยมีนาย จ. เป็นผู้จัดการคณะบุคคลทั้งหกคณะเพื่อเข้าทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับบริษัท ก. จำกัด ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง จำนวน 10 หน่วย มูลค่างานเป็นเงิน 9,500,000 บาท โดยทำสัญญาฉบับเดียวกันและมีผู้ว่าจ้างรายเดียวกันเป็นกรณีที่คณะบุคคลทั้ง หกคณะมีเจตนาร่วมกันในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เข้าลักษณะบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำกิจการร่วมกัน คณะบุคคลทั้งหกคณะ ดังกล่าวจึงมีลักษณะประกอบกิจการร่วมกันเป็นคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล แม้ว่าในรายละเอียดการเบิกเงินตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างจะมี การระบุรายละเอียดงานและจำนวนเงินงวดตามคณะบุคคล แต่สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเป็นสัญญาที่ตกลงจ้างคณะบุคคลทั้งหกคณะ มิได้กำหนดว่าจ้างเป็นรายคณะบุคคลและการดำเนินการก่อสร้างก็ไม่อาจแบ่งแยก เนื้องานได้อย่างชัดเจนประกอบกับข้อสัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระบุการ จ่ายค่าจ้างเป็นรายงวดของงานที่ทำเสร็จให้แก่ผู้รับจ้างคิดเป็นมูลค่ารวมมิ ได้แบ่งแยกแต่อย่างใด

          ดังนั้น คณะบุคคลทั้งหกคณะดังกล่าวจึงต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลเพียงคณะ เดียวหรือในนามห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเป็นการให้บริการที่มีมูลค่าของฐาน ภาษีเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าวจึงต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา..กรมสรรพากร

space

คณะบุคคล ช่องทางเลี่ยงภาษีจริงหรือ

ข่าวสรรพากรใล่บี้ภาษีจากผู้ที่เสียภาษีในรูป "คณะบุคคล" ซึ่งกรมสรรพากรถือว่าบุคคลพวกนี้อาจอยู่ในข่ายเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นสมมุติฐานที่ทางกรมสรรพากรตั้งขึ้นมาก่อน เพื่อในการเป็นข้ออ้างในการตรวจสอบ

กรมสรรพากร ได้ เคยแถลงข่าวใว้ว่า  ได้ตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันได้มีการหลีกเลี่ยงภาษี หรือฉ้อโกงภาษี มีการจัดตั้ง คณะบุคคลเป็นเท็จ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สร้างรายจ่ายเท็จ เช่น รายจ่ายค่าขนส่ง ค่านายหน้า ค่าที่ปรึกษา ค่าจ้างทำของ ฯลฯ เพื่อให้มีกำไรสุทธิน้อยลง หรือมีผลขาดทุนสุทธิ ทำให้เสียภาษีน้อยลงหรือ ไม่ต้องเสียภาษี หรือมีการขอคืนภาษี โดยวิธีการจัดตั้งคณะบุคคลเป็นเท็จ และสร้างหลักฐานว่ามีการจ่าย ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้แก่คณะบุคคล ซึ่งกรมสรรพากรได้ตรวจสอบแล้ว ก็จะพบว่า ผู้มีชื่อร่วมเป็นคณะบุคคล ไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดตั้งคณะบุคคล หรือมิได้มีการประกอบกิจการร่วมกันในฐานะคณะบุคคล แต่อย่างใด รวมถึง ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้จำนวนมาก หลีกเลี่ยงภาษีโดยวิธีจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมา หลาย ๆ คณะ โดยแต่ละคณะบุคคลจะมีชื่อของผู้มีเงินได้อยู่ในทุกคณะบุคคล แต่ชื่อผู้ร่วมจัดตั้งคณะบุคคล จะเปลี่ยนไป เพื่อเกิดเป็นคณะบุคคลใหม่ ทั้งนี ้ เพื่อเป็นการกระจายฐานเงินได้ของผู้มีเงินได้ที่แท้จริง ทำให้ เสียภาษีในอัตราต่า

   ตาม มาตรา 1012 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ " อันสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน คือ สัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ด้ววัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น "

        มาตรา 1013 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แบ่งประเภทของห้างหุ่นส่วนออกเป็น ห้างหุ้นส่วนสามัญ และห้างหุ้นส่วนจำกัด  ( จดทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์ )

       สำหรับ คณะบุคคล ( การร่วมกันทำกิจการของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์แบ่งเป็นผลกำไรที่จะพึงได้จากกิจการที่กระทำ ร่วมกันดังกล่าว ) นั้นไม่มีสถานภาพบุคคลตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ในบทบัญญัติของประมวลรัษฏากร ถือให้เป็นหน่วยภาษีที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับ ห้างหุ้นส่วนสามัญ

นอกจาก “คณะบุคคล” จะมีหน้าที่เสียภาษีเสมือนหนึ่งเป็นบุคคลที่แยกออกจากบุคคลธรรมดาทั่วไปแล้ว เมื่อประกอบธุรกิจมีผลกำไร ในแต่ละปี แล้วนำกำไรของคณะบุคคลมาแบ่งให้กับบุคคลที่อยู่ในคณะบุคคล ส่วนแบ่งกำไร ดังกล่าวก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (14) เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ บุคคลที่อยู่ในคณะบุคคลไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการแบ่งกำไรจากคณะบุคคล ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้
“(14) เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม”

การคำนวณหัก ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน คณะบุคคลมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ พึงประเมินประเภทต่างๆ ที่ได้รับเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา แต่สำหรับการหักค่าลดหย่อนคณะบุคคลสามารถหักค่าลดหย่อนตามจำนวนบุคคลที่เป็น บุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนซึ่ง  เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เท่านั้น คณะบุคคลจะหักลดหย่อนประเภทอื่นๆ เช่นการหัก ลดหย่อนคู่สมรส การหักลดหย่อนบุตร การหัก ลดหย่อนเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต การหักลดหย่อนเงินที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย ดังเช่นที่บุคคลธรรมดามีสิทธิไม่ได้

     การเสียภาษีของคณะบุคคล การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินได้พึงประเมินภายหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว (หรือเงินได้สุทธิ) คณะบุคคลจะต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate)

    อ่านไปอ่านมาจึงเกิดข้อสงสัยว่ามันจะแตกต่างกันตรงใหนกับการเสียภาษีของ บุคคลธรรมดา หรืออาจจะคิดไปว่าถ้าหากเปรียบเที่ยบไปจะประหยัดสักเท่าไรกัน

ประเด็นที่ยกให้เห็นจะเป็นข้อแตกต่างจาก บุคคลธรรมดาก็คือ การแตกออกมาเป็นหน่วยหนึ่งของการเสียภาษี หมายถึงแยกออกมา ก็หมายความว่าขยายฐานภาษออกมาให้กว้างขึ้น จากที่อาจจะเสียในอัตราสูงสุด 37% พอขยายฐานออกมา รายได้ก็ลดลงกลายเป็นเสียในอัตรา 10% ( ซึ่งจริงๆแล้วกรมสรรพากรก็รู้อยู่แก่ใจแต่จะทำไรได้ครับเมื่อมันมีช่องทาง ให้ผู้มีอันจะกินหลบออกไป  )

อีกหนึ่งประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อประกอบธุรกิจมีผลกำไร ในแต่ละปี แล้วนำกำไรของคณะบุคคลมาแบ่งให้กับบุคคลที่อยู่ในคณะบุคคล ส่วนแบ่งกำไร ดังกล่าวก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (14) เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้  ( ประเด็นนี้ก็ได้อีกต่อหนึ่งเหมือนกันนะครับ )

เพราะฉนั้นพวกวิชาชีพต่างๆ เช่น นักแสดง วิศวะ กฏหมาย แพทย์ บัญชี หรือกระทั้งพ่อค้า หัวใสต่างๆหรือที่ไม่หัวใสแต่มีที่ปรึกษาด้านการบริหารภาษีทีดี ส่วนใหญ่หันไปพึงพา จดเป็นคณะบุคคลเป็นว่าเล่น ไม่นับรวมเอาญาติพี่น้องมาจดร่วมกันหรือว่าเพื่อนฝูงโดนจดร่วมกันทั้งที่ไม่ รู้และก็รู้  คนๆหนึ่งมีไม่ต่ำกว่าหนึ่ง คณะบุคคล

  ถ้ากรมสรรพากรจะจริงจังในการตรวจสอบการเสียภาษีของ คณะบุคคล เห็นทีจะต้องไปแก้กฎหมายเสียใหม่ก่อนนะครับ เพราะว่ามันเป็นชอ่งทางให้คนเขาเดินออกจริงๆ ถ้าปิดได้ก็คงจะดี

" คณะบุคคล " จะเป็นช่องทางที่หลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ ลองพิจารณาดูเอาเองครับ เพราะเมือ่มี "คณะบุคคล" ขึ้นมาแล้ว เสียภาษีน้อยกว่าปกติ ครับ

ภาษีครึ่งปีบ้านให้เช่า

มีคำถามว่า “ประกอบธุรกิจให้เช่าบ้าน อาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น รวมทั้งการให้เช่าที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง” 

ขอเรียนว่า ในแต่ละปีผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีหน้าที่เสียภาษีประเภทต่าง ๆ ดังนี้

  1. ภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตรา 12.5% ของค่ารายปี ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ตามแบบ ภ.ร.ด.2

  2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับเงินได้ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน โดยต้องยื่นแบบ    ภ.ง.ด.94 พร้อมกับชำระภาษีเงินได้ (ถ้ามี) ภายในเดือนกันยายนของปีภาษี

  3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี สำหรับเงินได้ตลอดปีภาษี โดยต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 พร้อมกับชำระภาษีเงินได้ (ถ้ามี) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
  เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินนั้น ในทางภาษีสรรพากร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า “เงินได้หรือประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่า ทรัพย์สิน” ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า เงินกินเปล่า เงินค่าซ่อมแซม เงินช่วยค่าก่อสร้าง ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้กรรม สิทธิ์ โดยจำแนกประเภทของทรัพย์สินที่ให้เช่าออกเป็นดังนี้

  1. บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และแพ
  2. ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม อาทิ ที่ดินที่เป็นสวน ไร่ หรือนา

  3. ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม อาทิ ที่ดินที่ให้เช่าเพื่อปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ที่ดินที่ใช้เพื่อจอดรถ เพื่อทำการค้า

  4. ยานพาหนะ

  5. ทรัพย์สินอื่น เช่น การให้เช่าเสื้อผ้า หนังสือ ต้นไม้ เครื่องจักร เป็นต้น
  อย่างไรก็ตามในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินได้ที่เป็นเงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าซ่อมแซม และค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์มารวมคำนวณแต่อย่างไร เพราะต้องนำไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 เพื่อเสียภาษีเงินได้ล่วงหน้า
สำหรับเงินได้ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 นั้น แยกเป็นกรณีที่ไม่มีคู่สมรส หรือห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ต้องมีเงินได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่สำหรับท่านที่มีคู่สมรส ต้องมีเงินได้เกินกว่า 60,000 บาท จึงจะมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องชำระหรือไม่ก็ตาม
ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์แล้ว ให้หักลดหย่อนได้กึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนประจำปี คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใด ให้นำจำนวนเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นไม่เกิน 150,000 บาท มาหัก แล้วคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราก้าวหน้า หากมีเงินได้เกินกว่า 1 ล้านบาท จึงจะคำนวณภาษีเงินได้ในอัตรา 0.5% ของเงินได้พึงประเมิน เพื่อเปรียบเทียบกับจำนวนภาษี ที่คำนวณได้จากเงินได้สุทธิ แล้วเสียตามจำนวนที่สูงกว่า

บทความโดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ค่าเช่าตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

การจ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ ว่าจะจ่ายให้กับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ยกเว้นการจ่ายเงิน ค่าเช่าตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หากเข้าหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ดังนี้ 
          1. ผู้ให้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ได้รับ ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 60,000,000 บาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล 
          3. กำหนดเวลาเช่า ต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่าราย อื่นระยะเวลาการให้เช่าอาจไม่ถึง 3 ปีก็ได้ ทั้งนี้ คำว่า “การให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง” หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่า โดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ ผู้ให้เช่าก็ได้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.176/2552ฯ ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

การให้เช่าทรัพย์สินแบบเช่าดำเนินงาน (Operation lease) เงินได้จากการให้เช่าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายค่าเช่าหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่า ทรัพย์สินให้แก่บริษัทมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 ทั้งนี้ ตามข้อ 6(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ 

การให้เช่าทรัพย์สินแบบเช่าทางการเงิน (Financial lease) เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ผู้ให้เช่าจึงจะไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่า  หรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.176/2552

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.๑๗๖/๒๕๕๒
เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร
มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

------------------------------------------

                 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔๔ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ อธิบดีกรมสรรพากรสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของข้อ ๖ ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๔/๒๕๒๘ เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๓๔/๒๕๓๔ เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                          “ความในวรรคหนึ่ง ไม่ให้ใช้บังคับกับการจ่ายเงินค่าเช่าตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                          (๑) ผู้ให้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ได้รับ ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า ๖๐ ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๒/๓ แห่งประมวลรัษฎากร
                          (๒) ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล
                          (๓) กำหนดเวลาเช่าต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไป เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่าราย อื่น ระยะเวลาในการให้เช่าอาจไม่ถึง ๓ ปีก็ได้
                          คำว่า “การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง” หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ ผู้ให้เช่าก็ได้”

ข้อ ๒ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ที่ลงใน คำสั่งนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร