ภาษีครึ่งปีบ้านให้เช่า

มีคำถามว่า “ประกอบธุรกิจให้เช่าบ้าน อาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น รวมทั้งการให้เช่าที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง” 

ขอเรียนว่า ในแต่ละปีผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีหน้าที่เสียภาษีประเภทต่าง ๆ ดังนี้

  1. ภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตรา 12.5% ของค่ารายปี ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ตามแบบ ภ.ร.ด.2

  2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับเงินได้ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน โดยต้องยื่นแบบ    ภ.ง.ด.94 พร้อมกับชำระภาษีเงินได้ (ถ้ามี) ภายในเดือนกันยายนของปีภาษี

  3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี สำหรับเงินได้ตลอดปีภาษี โดยต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 พร้อมกับชำระภาษีเงินได้ (ถ้ามี) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
  เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินนั้น ในทางภาษีสรรพากร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า “เงินได้หรือประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่า ทรัพย์สิน” ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า เงินกินเปล่า เงินค่าซ่อมแซม เงินช่วยค่าก่อสร้าง ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้กรรม สิทธิ์ โดยจำแนกประเภทของทรัพย์สินที่ให้เช่าออกเป็นดังนี้

  1. บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และแพ
  2. ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม อาทิ ที่ดินที่เป็นสวน ไร่ หรือนา

  3. ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม อาทิ ที่ดินที่ให้เช่าเพื่อปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ที่ดินที่ใช้เพื่อจอดรถ เพื่อทำการค้า

  4. ยานพาหนะ

  5. ทรัพย์สินอื่น เช่น การให้เช่าเสื้อผ้า หนังสือ ต้นไม้ เครื่องจักร เป็นต้น
  อย่างไรก็ตามในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินได้ที่เป็นเงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าซ่อมแซม และค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์มารวมคำนวณแต่อย่างไร เพราะต้องนำไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 เพื่อเสียภาษีเงินได้ล่วงหน้า
สำหรับเงินได้ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 นั้น แยกเป็นกรณีที่ไม่มีคู่สมรส หรือห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ต้องมีเงินได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่สำหรับท่านที่มีคู่สมรส ต้องมีเงินได้เกินกว่า 60,000 บาท จึงจะมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องชำระหรือไม่ก็ตาม
ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์แล้ว ให้หักลดหย่อนได้กึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนประจำปี คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใด ให้นำจำนวนเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นไม่เกิน 150,000 บาท มาหัก แล้วคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราก้าวหน้า หากมีเงินได้เกินกว่า 1 ล้านบาท จึงจะคำนวณภาษีเงินได้ในอัตรา 0.5% ของเงินได้พึงประเมิน เพื่อเปรียบเทียบกับจำนวนภาษี ที่คำนวณได้จากเงินได้สุทธิ แล้วเสียตามจำนวนที่สูงกว่า

บทความโดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น