หลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

“ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี” หมายความว่า นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙

“ทุน” หมายความว่า ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด ทุนชำระแล้วของบริษัทมหาชนจำกัด ส่วนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเงินที่ผู้เป็น
หุ้นส่วนหรือสมาชิกนำมาลงหุ้นในนิติบุคคลอื่น

“รายได้” หมายความว่า รายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามประเภทหนึ่งประเภทใดรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันมาพร้อมกับการยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี การเพิ่มทุนหรือลดทุนของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในระหว่างรอบปีบัญชีไม่กระทบต่อจำนวนหลักประกันที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้จัดให้มีแล้วในรอบปีบัญชีนั้น

ประเภทของหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ได้แก่

  1. เงินฝากสถาบันการเงินในประเทศประเภทฝากประจำตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
  2. บัตรเงินฝากซึ่งสถาบันการเงินในประเทศออกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานการฝากเงินของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้น
  3. พันธบัตรรัฐบาลไทยที่จำหน่ายในราชอาณาจักร
  4. พันธบัตรองค์การหรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
  5. กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชีของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

     หลักประกันข้างต้นต้องปราศจากภาระผูกพัน

จำนวนของหลักประกันตามข้อ (2) (3) และ (4) ให้ถือตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตราสารนั้น ส่วนหลักประกันตามข้อ (5) ให้ถือตามจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องดำรงหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการ

ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีทุกปี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชี ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันในระหว่างรอบปีบัญชี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีแจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันหรือการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกสภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนด

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่จดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีอยู่แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ต้องจัดให้มีหลักประกันประเภทหนึ่งประเภทใดรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมาแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายใน 60 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพประกอบกิจการไม่ถึงหนึ่งรอบปีบัญชี ต้องจัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันที่แจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชี

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ บัญญัติให้นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ ต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตามประเภท จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เอกสารอ้างอิง : หลักประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น