รายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์นั่ง

ขอนำประเด็นรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต

มาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา มีบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต อย่างไร

วิสัชนา บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ดังกล่าวแบ่งเป็น
1. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
  (1) ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ข้อ 2 (1) กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายรถยนต์ หรือให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง และการให้บริการรับประกันวินาศภัยสำหรับรถยนต์ดังกล่าว

(2) นอกจากนี้ตามข้อ 2 (11) ของประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ยังกำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครองไปถือ เป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์ดัง กล่าว และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง

2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
  (1) ตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีซื้อที่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 243) พ.ศ.2534 กำหนดยอมให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำภาษีซื้อต้องห้ามเกี่ยว กับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนดังกล่าวไปถือเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของทรัพย์สินได้

  (2) ในส่วนต้นทุนรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนดังกล่าวนั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 มาตรา 5 กำหนดให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสำหรับทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่ มีที่นั่งไม่เกินสิบคน หรือรถยนต์นั่ง จากมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 มกราคม 2532 เป็นต้นไป

  (3) ต่อมาอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาฯ ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ.2540 โดยให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไป กำหนดห้ามไม่ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สิน ประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เฉพาะส่วนที่เกินคันละหนึ่งล้านบาท และค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เฉพาะส่วนที่เกินคันละ 36,000 บาทต่อเดือนในกรณีที่เช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือค่าเช่าส่วนที่เกินคันละ 1,200 บาทต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวัน เศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่าไม่ถึง 1 วันให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่า ทั้งนี้ โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่ไม่รวมถึงกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขาย หรือให้เช่าซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อเป็นสินค้า หรือประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่า เฉพาะมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร 

ที่มา..bangkokbiznews