ยื่นแบบเพื่อขอคืนภาษี แต่ลืมประทับตรา

การยื่นแบบที่สรรพากร กรณีที่แบบนำส่งลืมประทับตรา ปกติเจ้าหน้าที่เค้าจะไม่รับยื่น กรณีแบบ ภพ.30 ที่ขอคืนภาษีเป็นเงินสด กรรมการจะต้องลงลายมือชื่อไว้ 2 แห่งและประทับตราทั้ง 2 แห่ง ผมเคยลืมประทับตรงที่ขอคืนเป็นเงินสด ประทับตราไว้ที่เดียวตรงผู้มีอำนาจลงนาม แต่เซ็นชื่อไว้ครบทั้ง 2 แห่ง เจ้าหน้าที่บางแห่งก็รับ บางแห่งก็ไม่รับ ถ้ามาดูตามข้อหารือที่เจ้าหน้าที่สรรพากรเคยตอบไว้ กรณีกรรมการลงลายมื่อไว้แล้วเพียงคนเดียวและไม่ได้ประทับตรา ก็ถือได้ว่ายื่นแบบถูกต้องตามกฎหมายแล้วครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/4292

วันที่ : 18 มิถุนายน 2553

เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการลงลายมือชื่อขอคืนภาษี

ข้อกฎหมาย : มาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          1. บริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547มีกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทฯ คือ นาง ส. และนาย ก. ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547
          2. จากการตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ฉบับปกติสำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2552 พบว่า บริษัทฯ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 53,354,688.53 บาท โดยมีนาง ส. กรรมการบริษัทฯ ลงลายมือชื่อขอคืนเพียงคนเดียว และมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทฯ แต่อย่างใด
          เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 นาง ส. ได้มาพบเจ้าพนักงานและชี้แจงว่า คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ สำหรับ เดือนภาษีพฤษภาคม 2552 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เนื่องจากนาง ส. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามหนึ่งในจำนวนสองคน และเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทฯ ถือเป็นตัวแทนของบริษัทฯ ตามมาตรา 1167 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่หลงลืมประทับตราของบริษัทฯ เท่านั้น และในวันที่ 10 กันยายน 2552 นาย ก. กรรมการบริษัทฯ อีกคนหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือ ลงวันที่ 9 กันยายน 2552 ต่อ สท.กทม.9 แจ้งว่า บริษัทฯ มีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ ได้คือ นาย ก. และนาง ส. ลงลายมือชื่อร่วมกันเท่านั้นจึงจะสมบูรณ์

แนววินิจฉัย
          ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า "บรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่นซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องทำยื่นนั้น ให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ" ดังนั้น กรณีตาม ข้อเท็จจริง บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2552 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงิน 53,354,688.53 บาท โดยมี นาง ส. กรรมการบริษัทฯ ลงลายมือชื่อในช่องการขอคืนภาษีในแบบ ภ.พ.30 เพียงคนเดียว และมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทฯ แม้จะต่างจากหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของบริษัทฯ ที่ระบุว่า "กรรมการ ลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทฯ คือ นาง ส. ลงลายมือชื่อร่วมกับนาย ก. และประทับตราสำคัญของบริษัทฯ" ก็ตาม กรณีจึงถือได้ว่า การยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคม 2552 ของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

เลขตู้ : 73/37334

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น