กรณีรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีถัดมา

ผู้มีเงินได้ที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก และได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มักจะใช้วิธีคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อที่จะรับเงินในปีถัดมา ทั้งนี้อาจจะเข้าใจว่าจะทำให้เสียภาษีในปีถัดมาน้อยลง ผมศึกษาเรื่องนี้แล้วพบว่า

กรณีได้รับเงินชดเชยเพราะเหตุออกงาน พร้อมกับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การยกเงินกองทุนไปรับในปีถัดไปหรือคงเงินกองทุนไว้ จะทำให้เสียสิทธิในการคำนวณแบบแยก (ดูที่สรรพากรตอบไว้ตามหนังสือเลขที่ กค 0702/657, 406977, 409013 ด้านล่าง)

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม จะเห็นได้ว่าต้องเป็นกรณีที่ได้รับเงินชดเชยเพราะเหตุออกจากงานพร้อมกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมกัน ซึงใช้สิทธิคำนวณแบบแยกไปแล้วในครั้งแรก จะใช้สิทธิซ้ำในครั้งที่ 2 ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีลาออกจากงานปกติ (ไม่มีเงินชดเชย) และคงเงินไว้ในกองทุนเพื่อรอโอนเปลี่ยนกองทุน ต่อมาถอนเงินออกจากกองทุน แบบนี้ถ้าอายุงานเกิน 5 ปี และไม่เคยใช้สิทธิคำนวณแยกมาก่อน จะสามารถใช้สิทธิคำนวณแยกได้ (ผมเคยโทรสอบถามกรมสรรพากร เค้าบอกว่า ใช้สิทธิคำนวณแยกได้ครั้งเดียวถ้าเคยใช้แล้ว จะใช้ซ้ำไม่ได้ กรณีเป็นเงินได้ที่ได้รับพร้อมกัน)

เลขที่หนังสือ : กค 0702/657

วันที่ : 22 มกราคม 2553

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีจากเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          นาย ก. ได้รับเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท ได้แก่ เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินที่ จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่นาย ก. ได้คงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานธนาคาร ท. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนาคารทหารไทย จำกัด ที่มีหน้าที่ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานต่อไป โดยจะขอ รับเงินจากกองทุนดังกล่าวในปี 2553 นาย ก. จึงขอทราบว่า ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน ปี 2553 นาย ก. มีสิทธิเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย
          ธนาคารฯ ได้จ่ายเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้นาย ก. ดังนี้
          1. เงินเทียบเท่าเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินตอบแทนพิเศษ (เงินบอกกล่าวล่วงหน้า เงินเพิ่มพิเศษตอบแทน ตามอายุงาน และเงินชดเชยสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี) จำนวน 1,305,827 บาท ได้รับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552
          2. เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 1,224,240.96 บาท ได้รับเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ซึ่งนาย ก. เลือกที่คงไว้ ในกองทุนฯ ต่อไป โดยจะขอรับเงินดังกล่าวจากกองทุนฯ ในปี 2553

          ดังนั้น กรณีนาย ก. ได้รับได้รับเงินเทียบเท่าเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินตอบแทนเพราะเหตุออกจากงาน ในปี 2552 และต่อมาจะรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกในปี 2553 ถือเป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินจากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2553 นาย ก. ไม่มีสิทธินำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(5) แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุ ออกจากงานตามมาตรา 48(5) และ 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น นาย ก. จึงต้องนำเงินที่ได้ รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปี 2553 มารวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่ได้รับในระหว่างปีภาษี เพื่อยื่นแบบแสดง รายการและชำระภาษี ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 73/37112

เลขที่: : 406977

เรื่อง: : เลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพล่าช้า ทำให้จ่ายเงินให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างคนละปีกับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

คำถาม: :
นาย ก. เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งมีอายุงานเกิน 5 ปี บริษัทเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป โดยจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานภายในปี 2540 และจ่ายเงินจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปี 2541 เนื่องจากบริษัทดำเนินการเลิกกองทุนฯ เพื่อนำเงินจ่ายคืนให้กับพนักงานแล้วเสร็จในวันที่ 15 มกราคม 2541 ในการเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษี 2540 นาย ก. เลือกเสียภาษีเงินได้โดยไม่นำเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น เมื่อนาย ก. ได้รับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนฯ ในปี 2541 จะใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้โดยไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้หรือไม่

คำตอบ: :
นาย ก. นำเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวนเดียวที่ได้รับในปีภาษี 2540 (ปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้) มาเลือกเสียภาษี ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการเลือกคำนวณภาษี โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ส่วนเงินที่จ่ายจากกองทุนฯ ที่ได้รับในปีภาษี 2541 ซึ่งเป็นปีภาษีถัดไป เงินจำนวนนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ฉะนั้น ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2541 นาย ก. จะใช้สิทธิเลือกเสีย ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร อีกไม่ได้ โดยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่: : 409013

เรื่อง: : ลาออกจากงานขอให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายให้คนละปีกับนายจ้าง

คำถาม: :
นาย ก. อายุ 50 ปี ลาออกจากงานในปี 2548 โดยได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานซึ่งจะต้องนำไปแสดงในส่วนของใบแนบฯ ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะขอรับในปี 2549 สามารถยื่นในใบแนบได้อีกหรือไม่

คำตอบ: :
เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามข้อ 1(ข)(ง) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) แต่เนื่องจากมิใช่เป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าว จึงไม่มีสิทธินำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาคำนวณแยกต่างหากจากเงินได้อื่น แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น