ขยายเวลายื่นแบบภาษีเงินได้ทุกชนิดในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติอุทกภัย (น้ำท่วม)

เลขที่ข่าว ปชส. 6/2555
วันที่แถลงข่าว 3 พฤศจิกายน 2554
เรื่อง คำชี้แจงแนวปฏิบัติการเสียภาษีของผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัย
........................................................................................

จากสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยในปัจจุบันมีผลกระทบทำให้ผู้เสียภาษีทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากและยังมีการขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง กรมสรรพากรได้มีการนำเสนอขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้มีการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากรให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีในท้องที่ที่เกิดอุทกภัย เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้เสียภาษี โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กรณีการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากร

    1.1 ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้มีการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีอากรให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในเขตท้องที่ต่าง ๆ ดังนี้
          - สำนักงานสรรพากรภาค 4 ได้แก่
           (1) สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (สส.) ทุกแห่ง ในท้องที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (สท.) พระนครศรีอยุธยา 1 สท. พระนครศรีอยุธยา 2 สท. ชัยนาท สท. สิงห์บุรี สท. อ่างทอง สท. อุทัยธานี สท. ลพบุรี สท. ปทุมธานี 1 สท. ปทุมธานี 2 สท. นนทบุรี
           (2) ท้องที่ สส. เมืองสระบุรี สส. แก่งคอย สส. บ้านหมอ สส. เสาไห้ สส. ดอนพุด สส. หนองโดน สส. เฉลิมพระเกียรติ ใน สท. สระบุรี
        - สำนักงานสรรพากรภาค 6 ได้แก่ ท้องที่ สส. บางเลน ใน สท. นครปฐม 1
        - สำนักงานสรรพากรภาค 7 ได้แก่
          (1) ท้องที่ สส. เมืองสุโขทัย สส. สวรรคโลก สส. ศรีสำโรง ใน สท. สุโขทัย
          (2) ท้องที่ สส. เมืองนครสวรรค์ สส. ท่าตะโก สส. โกรกพระ สส. บรรพตพิสัย สส. ชุมแสง สส. ลาดยาว สส. พยุหะคีรี สส. ตาคลี สส. เก้าเลี้ยว ใน สท. นครสวรรค์
          (3) ท้องที่ สส. เมืองพิษณุโลก สส. บางระกำ สส. บางกระทุ่ม สส. เนินมะปราง สส. วังทอง สส. พรหมพิราม ใน สท. พิษณุโลก
          (4) ท้องที่ สส. ทุกแห่งใน สท. พิจิตร
        - สำนักงานสรรพากรภาค 8 ได้แก่
          (1) ท้องที่ สส. เมืองเชียงใหม่ 1 สส. เมืองเชียงใหม่ 2 สส. หางดง สส. สารภี สส. ฮอด สส. แม่แจ่ม ใน สท. เชียงใหม่ 1
          (2) ท้องที่ สส. ฝาง สส. สันทราย ใน สท. เชียงใหม่ 2
        - สำนักงานสรรพากรภาค 9 ได้แก่ ท้องที่ สส. วารินชำราบ ใน สท. อุบลราชธานี
        - สำนักงานสรรพากรภาค 10 ได้แก่ ท้องที่ สส. ด่านซ้าย ใน สท. เลย
ทั้งนี้ได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีในแบบฯ ทุกประเภท ออกไปเป็นภายใน วันที่ 30 ธันวาคม 2554

    1.2 สำหรับเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเขตกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม กรมสรรพากรได้ดำเนินการเสนอกระทรวงการคลัง ให้มีการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 เช่นกัน ยกเว้นเฉพาะการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะครบกำหนดยื่นแบบฯ ภายในเดือน สิงหาคม - ธันวาคม 2554 จะขยายเวลาการยื่นแบบฯ ได้จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ดังนี้
        - สำนักงานสรรพากรภาค 1 ได้แก่
          (1) ท้องที่ สส. จตุจักร ใน สท.กทม. 7
          (2) ท้องที่ สส. บางเขน ใน สท.กทม. 8
          (3) ท้องที่ สส. หลักสี่ ใน สท.กทม. 9
        - สำนักงานสรรพากรภาค 2 ได้แก่ ท้องที่ สส. ทุกแห่ง ใน สท.กทม 21
        - สำนักงานสรรพากรภาค 3 ได้แก่
          (1) ท้องที่ สส. ทุกแห่ง ใน สท.กทม. 25
          (2) ท้องที่ สส. ทุกแห่ง ใน สท.กทม. 26
          (3) ท้องที่ สส. บางกอกน้อย ใน สท.กทม. 30
        - สำนักงานสรรพากรภาค 6 ได้แก่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (สส.) ทุกแห่ง ในท้องที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (สท.) นครปฐม 1 สท. นครปฐม 2 สท. สมุทรสาคร 1
สท. สมุทรสาคร 2 และ สท. สุพรรณบุรี

    1.3 กรณีผู้ประกอบการที่มีสาขาซึ่งได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย และมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะรวมกัน จะให้ยื่นรายการเฉพาะในส่วนของ
สำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ไม่ได้รับผลกระทบไปก่อน สำหรับในส่วนของสาขาซึ่งอยู่ในเขตที่ได้รับผลกระทบ จะขยายเวลาให้ยื่นแบบเพิ่มเติมได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 เช่นกัน ทั้งนี้ โดย
ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

    1.4 กรณีรายผู้ประกอบการทั่วไปที่ได้รับอนุมัติให้เก็บเอกสารนอกสถานที่ และสถานที่ที่เก็บเอกสารอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จนไม่สามารถคำนวณภาษีได้ ให้ขยายระยะเวลาได้ตามนัยข้างต้น
    1.5 สำหรับรายผู้ประกอบการใดที่ไม่เข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้ทำคำร้องชี้แจงเหตุผลมาเป็นการเฉพาะรายโดยให้เสนอผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่และสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
ที่รับผิดชอบ เพื่อส่งให้กรมสรรพากรพิจารณาต่อไป
    1.6 ทั้งนี้กรมสรรพากร ได้สั่งการให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา สามารถรับแบบต่างท้องที่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยแล้ว

2. กรณีหลักฐานเอกสารทางภาษีเสียหายหรือสูญหาย ขอให้ผู้เสียภาษีได้ดำเนินการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานต่อทางราชการตำ รวจท้องที่ เกี่ยวกับรายละเอียดบัญชีเอกสารหลักฐานที่เสียหายหรือ
สูญหาย และหากมีปัญหาในทางปฏิบัติขอให้หารือกับสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ที่รับผิดชอบ

3. กรณีทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหาย หากผู้ประกอบการไม่มีการทำประกันไว้จะสามารถตัดเป็นรายจ่ายได้ทันที แต่หากมีการทำประกันภัย และได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากการชดเชยความเสียหาย เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้

ที่มา..กรมสรรพากร

พัฒนารูปแบบงบการเงินแบบใหม่ รายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน

นางสาวพิกุล  ทักษิณวราจาร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ยกร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เผยแพร่ร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินดังกล่าวทางเวปไซต์ของกรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรูปแบบงบการเงินได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาชีพบัญชี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน เช่น สภาวิชาชีพบัญชี สถาบันการศึกษา สำนักงานสอบบัญชีและสำนักงานรับทำบัญชี เป็นต้น

สำหรับวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของการยกร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินใหม่ เพื่อให้รูปแบบและความหมายของรายการในงบการเงินเป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่มีการปรับปรุง และมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีได้จัดทำขึ้นใหม่ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้กำหนดรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินสำหรับธุรกิจไว้ 5 แบบเช่นเดิม คือ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน (แบบ 1)  บริษัทจำกัด (แบบ 2) บริษัทมหาชนจำกัด (แบบ 3) นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (แบบ 4) และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร (แบบ 5)  ซึ่งมีแนวคิดในการกำหนดรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน ดังนี้

  • รูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินของบริษัทมหาชนจำกัด (แบบ 3)   กำหนดขึ้นโดยอ้างอิงจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่สภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Report Standard : IFRS)
  • รูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน (แบบ 1)   บริษัทจำกัด (แบบ 2)  นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (แบบ 4) และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร (แบบ 5) กำหนดขึ้นโดยอ้างอิงมาจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for Non-Publicly Accountable Entities : TFRS  for  NPAEs) 

รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่นี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้กับงบการเงินที่มีรอบปีบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป  ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาและผ่านทางเวปไซต์ของกรมยังมีบางประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน เห็นว่าควรมีการทบทวนปรับปรุงรายการพร้อมทั้งความหมายของรายการเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น  รวมทั้งขอให้พิจารณาจัดอบรมสัมมนาเกี่ยวกับร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจในการจัดทำงบการเงินรอบปี 2554 ซึ่งเมื่อได้ปรับปรุงร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่เป็นที่เรียบร้อย จะจัดให้มีการอบรมสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจร่างรูปแบบรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่เพื่อเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบต่อไป

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตือนข้อบกพร่องที่พบสำหรับผู้ยื่นงบการเงินปี 2554

นายอิทธิพล  ช้างหลำ  รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  เปิดเผยว่า  ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  มีพันธกิจให้บริการข้อมูลธุรกิจจะต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นคลังข้อมูลที่สมบูรณ์สำหรับงบการเงิน  โดยได้มีกระตุ้นเตือนอย่างต่อเนื่องให้ผู้มีหน้าที่นำส่งงบการเงิน นำส่งงบการเงินตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนให้ความรู้ในเรื่องการเตรียมเอกสารการนำส่ง เพื่อให้การนำส่งมีความถูกต้อง ผู้ประกอบธุรกิจสามารถ   นำข้อมูลไปใช้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบงบการเงินของผู้มีหน้าที่ยื่นงบการเงินต่อ กรมฯ  ที่ผ่านมาได้พบข้อบกพร่องในเอกสารนำส่งงบการเงิน ดังนี้

  1. ในแบบ ส.บช.3 และงบการเงิน กรรมการผู้มีอำนาจไม่ลงลายมือชื่อ
  2. ไม่ประทับตราให้ครบถ้วน หรือตราที่ประทับไม่ใช่ของนิติบุคคลนั้นๆ
  3. รอบปีบัญชีในรายงานผู้สอบบัญชีไม่ตรงกับเอกสารงบการเงิน หรือไม่เป็นไปตามข้อบังคับของนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนไว้
  4. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่ระบุวันที่ในรายงานการสอบบัญชี
  5. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตระบุวันที่ในรายงานการสอบบัญชีก่อนวันปิดบัญชี
  6. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตระบุวันที่ในรายงานการสอบบัญชี หลังวันที่ประชุมอนุมัติงบการเงิน
  7. งบการเงินของบริษัท ไม่ระบุวันประชุมอนุมัติงบการเงินในหน้างบดุล
  8. กรณีบริษัทมหาชน ไม่มีสำเนารายงานการประชุมที่อนุมัติงบการเงิน
  9. วันประชุมสามัญประจำปีในงบการเงินไม่ตรงกับวันที่ประชุมสามัญประจำปีในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น(บอจ.5)
  10. ระบุวันที่ประชุมอนุมัติงบการเงินก่อนวันปิดรอบปีบัญชี
  11. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่แจ้งรายชื่อธุรกิจก่อนการนำส่งงบการเงิน
  12. ชื่อนิติบุคคล หรือประเภทนิติบุคคลในรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ไม่ตรงกับในงบการเงิน
  13. ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่เข้าหลักเกณฑ์ต้องได้รับการตรวจสอบ และแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ไม่แนบรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

“จึงขอย้ำเตือนให้ผู้มีหน้าที่ยื่นงบการเงิน  โปรดตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน ของงบการเงินก่อน  นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  สำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 0-2547-4370,  0-2547-4385 และ 547-4390-1  โทรสาร 0-2547-4386 และ 0-2547-4377

กระทรวงพาณิชย์ / 25 พฤษภาคม 2554

แจ้งเตือนธุรกิจต้องส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2554

แบบนำส่ง สบช.3 ผมหา Link ไว้ให้แล้วนะครับ แบบ สบช.3 เข้าไป Donwnload ได้เลย

ส่วนปีนี้ 2554 การยื่นงบ มีส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาของกรุงเทพมหานคร คือ สามารถยื่นที่ศูนย์ย่อยได้ ไม่จำเป็นต้องไปที่กระทรวงพาณิชย์ตรงสนามบินน้ำก็ได้ โดยสามารถยื่นที่ศูนย์ย่อยสาขาปิ่นเกล้า พหลโยธิน รัชดาภิเษก สุรวงศ์ และที่ศรีนครินทร์ ก็ได้ อันนี้เป็นที่อยู่นะครับ เผื่อใครไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน คลิ๊กเพื่อดูที่ตั้งเขต 1-5 ในแต่ละเขต ถ้ากดเข้าไปจะพบแผนที่ตั้งเขต อยู่ด้วยนะครับ

เรื่อง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจ้งเตือนธุรกิจต้องส่งงบการเงิน ภายใน 31 พฤษภาคม 2554

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แจ้งเตือนธุรกิจกว่า 400,000 รายที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ต้องนำส่งงบการเงินรอบปี 2553 ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 นี้

นายอิทธิพล  ช้างหลำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอแจ้งเตือนผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 มีหน้าที่ต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  ถ้าเป็นกรณีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร ต้องนำส่งงบการเงินภายในห้าเดือนนับแต่วันปิดรอบบัญชี คือ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2554  สำหรับกรณีบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ต้องนำเสนองบการเงินต่อผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่  ภายในสี่เดือนนับแต่วันปิดรอบบัญชี โดยต้องอนุมัติงบการเงินภายในเดือนเมษายน 2554 และต้องนำส่งงบการเงินภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น สำหรับธุรกิจที่ ไม่นำส่งงบการเงิน หรือไม่ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจะมีความผิดต้องโทษปรับ  โดยกรมฯ เป็นผู้ดำเนินคดีกับธุรกิจที่ไม่นำส่งงบการเงินทุกราย 

รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยนโยบายกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเน้นการให้บริการที่รวดเร็ว ลดขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้มารับบริการจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2553  กรมฯ  ได้ลดจำนวนงบการเงินที่ต้องนำส่งเหลือเพียงชุดเดียวทั่วประเทศ  ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำส่งงบการเงินได้ 2 ช่องทาง คือ

  1. ทางไปรษณีย์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ
  2. นำส่งด้วยตนเอง ณ หน่วยงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ดังนี้ 
    1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ จังหวัดนนทบุรี
    2. สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1 – 5  กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สาขาปิ่นเกล้า  พหลโยธิน  รัชดาภิเษก  สุรวงศ์  และศรีนครินทร์
    3. สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ทั่วประเทศ และอีก 4 สาขาที่เปิดให้บริการใหม่ ได้แก่ สาขาหัวหิน พัทยา สมุย และแม่สอด

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนธุรกิจผู้มีหน้าที่ส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ให้รีบนำส่งงบการเงินของท่านภายในระยะเวลาที่กำหนด

ผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้มีหน้าที่ต้องนำส่งงบการเงิน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่   ส่วนบริหารจัดการข้อมูลธุรกิจ   สำนักข้อมูลธุรกิจ  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  โทร. 0-2547-4370, 0 2547-4385  หรือที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดทั่วประเทศ  และขอรับแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ได้ตามหน่วยงานรับงบการเงินของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือดาวน์โหลดแบบพิมพ์ จากเว็บไซต์ www.dbd.go.th หัวข้อ e-Service, บริการกรม, ดาวน์โหลดแบบพิมพ์ หรือที่ www.Google.co.th ค้นหารายการโดยพิมพ์ “แบบนำส่งงบการเงิน”

เงินบริจาคเพื่อจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หักได้ 2 เท่า (ฉบับที่ 515)

พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 515) พ.ศ. 2554
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๑๕) พ.ศ. ๒๕๕๔”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
                                                  (๑) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บุคคลธรรมดาได้จ่ายให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาลโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น
                                                  (๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓)แห่งประมวลรัษฎากร การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน สำหรับหอสมุดหรือห้องสมุดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินห้าหมื่นบาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
         นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถสร้างพลังขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและส่งเสริมการอ่านอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐในการจัดหาหนังสือให้แก่หอสมุด ห้องสมุด หรือแหล่งหนังสืออื่น ๆ ที่ให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับรายจ่ายตามจำนวนและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๕ ก วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔)

การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ (ฉบับที่ 194)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ
ของผู้มีเงินได้ตามวรรคสามของข้อ ๒(๖๑) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
-------------------------------------------------------------------------

                           อาศัยอำนาจตามความในวรรคสามของข้อ ๒(๖๑) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๗๙ (พ.ศ. ๒๕๕๔) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                                   (๑) เป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป
                                   (๒) เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
                                   (๓) มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผลประโยชน์เงินบำนาญดังกล่าวจะจ่ายเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้ โดยการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน
                                   (๔) มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ ๕๕ ปีขึ้นไป ถึงอายุ ๘๕ ปี หรือกว่านั้น และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ

ข้อ ๒ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ กรณีผู้มีเงินได้ได้จ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือได้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี ให้ยกเว้นเงินได้ที่จ่ายไปเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่น แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ๙๐,๐๐๐ บาท ตามข้อ ๒(๖๑) วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ยกเว้นเงินได้เพิ่มขึ้นอีกตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
                                   (๑) ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป
                                   กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                   (๒) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ได้จ่ายเบี้ยประกันภัยในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของสามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

                                   กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน

                                   ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ได้จ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือได้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้ มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่น แล้วแต่กรณี ของสามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
                                   (๓) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
                                        (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                        (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี และภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
                                   กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                        (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
                                   กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                   ทั้งนี้ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีตาม (ก) (ข) และ (ค) ต้องไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

ข้อ ๓ การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยซึ่งได้รับรองว่า เป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศฉบับนี้

ข้อ ๔ กรณีผู้มีเงินได้ ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๒ แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ ๑ ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๒ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๕ การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ข้อ ๖ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔

สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

การนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการ

การนำสินค้าที่ไว้เพื่อขาย เช่น รถยนต์ หรือ เครื่องจักร นำมาใช้งานเองในบริษัท เช่น นำรถยนต์ มาไว้ให้ลูกค้าทดลองขับ หรือเครื่องจักร นำไปสาธิตวิธีการใช้ให้ลูกค้าดู เป็นต้น แบบนี้ทรัพย์สินดังกล่าว ได้รับการยกเว้นไม่ถือเป็นรายได้ และไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ : กค 0702/398

วันที่ : 13 มกราคม 2554

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(8)(ง) มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1) และ (ฉบับที่ 2)ฯ

ข้อหารือ
บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการผลิต ซื้อขายเครื่องจักร และอะไหล่เครื่องจักร รวมทั้งการให้บริการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องจักร ในปี 2550 บริษัทฯ นำเข้าเครื่อง SHOT HANGER BLASTING รุ่น SHB-II จากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นสินค้าไว้เพื่อขาย จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 2,530,557.82 บาท ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2552 บริษัทฯ ได้นำเครื่องจักรดังกล่าวมาใช้ในการประกอบกิจการโดยใช้เป็นเครื่องจักรตัวอย่างให้ลูกค้าทดสอบการทำงานของเครื่อง โดยบริษัทฯ ได้โอนเครื่องจักรดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ และคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในอัตราร้อยละ 10.0 ต่อปี บริษัทฯ จึงขอหารือดังนี้
   1. บริษัทฯ ต้องนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการดังกล่าวมาถือเป็นภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ และต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบหรือไม่ อย่างไร
   2. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของสินค้าดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร
   3. การนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานยืนยันการอนุมัติหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย
1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ นำเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อขายมาใช้ในการประกอบกิจการ โดยใช้เป็นตัวอย่างเพื่อให้ลูกค้าทดสอบการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งบริษัทฯ ได้โอนเครื่องจักรดังกล่าวมาเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ซึ่งไม่ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และให้บริษัทฯ ตัดบัญชีออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ นำเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อขายมาใช้ในการประกอบกิจการและได้โอนมาเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่เป็นสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย และถือเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ตามมาตรา 65 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

3. กรณีตาม 3. ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดให้บริษัทฯ จัดทำหลักฐานเพื่อยืนยันการอนุมัติการนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายไว้ การจัดทำหลักฐานดังกล่าวขึ้นอยู่กับระเบียบของบริษัทฯ เอง

เลขตู้  : 73/37104

สรรพากรใจดีให้คนไทยที่บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่นได้สิทธิลดหย่อนภาษี

เลขที่ข่าว ปชส. 39/2554
วันที่แถลงข่าว 16 มีนาคม 2554
เรื่อง สรรพากรใจดีให้คนไทยที่บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่นได้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย
.........................................................................................................
ตามที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในหลายพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นได้รับความเดือดร้อนสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก จนมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว โดยเปิดรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อรวบรวมส่งไปใช้บรรเทาทุกข์ต่อไปนั้น

กรมสรรพากร ขอแจ้งให้ทราบว่าเพื่อให้การบริจาคช่วยเหลือในกรณีดังกล่าว สามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาค นำมาหักเป็นค่าลดหย่อน หรือหักเป็นรายจ่ายในการเสียภาษีได้ นั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

๑. ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา ได้เฉพาะผู้ที่บริจาคเป็นเงิน ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีช่วยเหลือผู้ประสบภัยของหน่วยงานราชการที่เปิดรับบริจาคเป็นการเฉพาะ หรือผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 อสมท. เป็นต้น สามารถนำเงินบริจาคนั้น หักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้ตามจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ ด้วย) แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว โดยใช้หนังสือสำคัญการรับเงินบริจาคที่ส่วนราชการ หรือนิติบุคคลที่เป็นตัวแทนรับบริจาคออกให้ หรือใบโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือสลิปของธนาคาร เพื่อเป็นหลักฐานในการนำไปหักลดหย่อนต่อไป

๒. ผู้บริจาคที่เป็นบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคนำมาหักรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิในปีที่บริจาค นอกจากนี้ กรณีการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าดังกล่าว ถือเป็นเหตุอันสมควรที่ไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่รับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ตามข้อ 1 และข้อ ๒ ต้องนำเงินและทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมาทั้งจำนวนนั้น ไปบริจาคให้แก่หน่วยงานของส่วนราชการไทยเท่านั้น เช่นกระทรวงการต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และหน่วยงานราชการนั้นจะต้องออกหนังสือสำคัญหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้รับการบริจาคโดยมียอดเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นยอดรวมทั้งสิ้นตรงกับยอดที่รับบริจาคมาทั้งจำนวน กรณีนี้ ผู้บริจาคตามข้อ ๑ และข้อ ๒ จึงจะได้รับสิทธินำยอดเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคไปหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายได้ แต่หากตัวแทนรับบริจาคนำไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยโดยตรง ผู้บริจาคจะไม่ได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนแต่อย่างใด

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรง มีชาวญี่ปุ่นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก การที่คนไทยร่วมกันบริจาคเงินและทรัพย์สิน
ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจและความมีเมตตาประสงค์ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้น นอกจากผู้บริจาคจะได้รับอานิสงค์ผลบุญตามความเชื่อของชาวไทยแล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย แต่ทั้งนี้ขอให้เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรด้วย”
.........................................................................................................

จดทะเบียนบริษัทภายใน 1 วัน จากเดิมใช้เวลา 8 วัน จริงหรือ?

เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้ออกเอกสาร “การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทภายในวันเดียว” ทำให้มีผู้ประกอบการหลายคนเข้าใจไปตามนั้น มีคนโทรมาถามว่าถ้าส่งเอกสาร (สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน) ให้วันนี้ พรุ่งนี้จดทะเบียนบริษัทได้เลยหรือเปล่า คำตอบก็คือ “ไม่ได้” หลายคนก็สงสัยว่าทำไมไม่ได้ ในเมื่อกระทรวงพาณิชย์บอกเองว่า สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทภายใน 1 วันได้

เราลองมาดูคำอธิบายเพิ่มเติมกันนะครับ

แต่เดิมการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ต้องใช้เวลาในการจด 2 วัน (หรือ 2 ครั้ง) ครั้งแรก ต้องจดหนังสือบริคณห์สนธิก่อน หลังจากนั้นจึงออกหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท โดยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน หลังการประชุมแล้ว จึงมาขอจดทะเบียนตั้งบริษัทในครั้งที่ 2 หรือรวมระยะเวลาในการจดห่างจากครั้งแรก รวมเป็น 8 วัน

ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้ยกเลิกการแยกจดหนังสือบริคณห์สนธิกับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว โดยให้นำเอกสารทั้งสองส่วนที่แยกกันจด มาจดพร้อมกันในวันเดียว จึงกลายเป็นว่าสามารถจดทะเบียนบริษัทเสร็จภายใน 1 วัน ซึ่งหมายความว่า เมื่อเอกสารทุกอย่างจัดเตรียมพร้อมแล้วสามารถนำไปจดที่กระทรวงพาณิชย์ให้เสร็จได้ภายในวันเดียว (แต่เอกสารต้องถูกต้อง ครบถ้วนนะครับ)

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทให้เสร็จภายในวันเดียว เรามาดูก่อนว่า ต้องทำยังไงบ้าง แล้วใช้เวลากี่วันกันแน่?

  1. จองชื่อนิติบุคคล (ชื่อบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด) เนื่องจากชื่อนิติบุคคลซ้ำกันไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีชื่อนิติบุคคลก่อน โดยตั้งชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่งให้นายทะเบียนตรวจสอบก่อน (ยืนขอทางอินเตอร์เน็ตก็ได้) ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเฉลี่ยแล้วประมาณ 2 วัน (บางทีก็มากกว่า 2 วัน) ถ้าชื่อที่ขอไม่ผ่าน ก็ต้องจองใหม่
  2. หลังจากได้ชื่อนิติบุคคลแล้ว ก็มาจัดเตรียมเอกสารรวมทั้งจัดทำตรายาง ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1 วัน
  3. ส่งเอกสารให้ผู้ประกอบการเซ็น (ผู้ถือหุ้นและกรรมการต้องเซ็นทุกคน) ขั้นตอนนี้ไม่แน่นอนบางทีก็ใช้เวลาวันเดียว บางทีก็ต้องทิ้งเอกสารไว้ 2-3 วันก็มี
  4. ไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ อีก 1 วัน

เพราะฉะนั้นเมื่อรวมทุกขั้นตอนแล้ว เร็วสุดก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 วันครับ

เรามาดูปัญหาที่พบบ่อยๆ ในการจดทะเบียนบริษัทที่ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนบริษัทได้ (นายทะเบียนปฏิเสธ) การจดทะเบียนเนื่องจากเหตุผลดังนี้

  • ตรายางผิด ใช้คำย่อ หจก. บจก. หรือ ตัวอักษรเล็กมากแล้วใช้ตัวอักษรแบบพิเศษ เวลาปั๊มมาทำให้ตัวอักษรบางตัวเพี้ยนไป เช่น r s เวลาปั๊มมาจะเป็น เส้นตรง ฯลฯ
  • บัตรประชาชนไม่ชัด ภาพถ่ายดำมองไม่เห็นหน้า วันออกบัตร วันหมดอายุ อ่านไม่ออก (ไม่รู้ว่าบัตรหมดอายุหรือยัง) หรือชื่อที่อยู่อ่านไม่ออก (ตรวจสอบที่อยู่ไม่ได้)

ผู้เขียน: เกียรติชัย

ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในปี 2554

ในปี 2554 เป็นปีที่ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 ของการบริการ ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมาได้มุ่งมั่น สร้างสรรค์ หลักประกันของชีวิต ด้วยจิตสำนึกในการให้บริการ การทำงานร่วมกัน เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ โดยมีเป้าหมายสูงสุดของการทำงานคือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ประกันตน ซึ่งในปีนี้ สำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตน ประกอบด้วย

กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ในส่วนกรณีทันตกรรม เดิมผู้ประกันตนมีสิทธิกรณี ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน โดยนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์มาเบิกคืนได้ไม่เกินครั้งละ 250 บาท  ปีละไม่เกิน 500 บาท จะได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นครั้งละไม่เกิน 300 บาท ปีละไม่เกิน 600 บาท และได้เพิ่มสิทธิในการใส่รากฟันเทียม ให้กับผู้ประกันตนที่ประสบอุบัติเหตุ และสูญเสียฟันทั้งปาก หรือ ผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 53 ปีขึ้นไป และสูญเสียฟันทั้งปาก ซึ่งผู้ประกันตนต้องยื่นความจำนงขอรับสิทธิภายใน 90 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ พร้อมรับแบบคำขอและตรวจสอบคุณสมบัติ ของผู้ประกันตนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ โดยสำนักงานประกันสังคม จะส่งผู้ประกันตนพบแพทย์ในโรงพยาบาลโครงการรากฟันเทียมให้ความเห็น ตามใบรับรองแพทย์ที่กำหนด และส่งเรื่องหารือคณะกรรมการการแพทย์ พร้อมแจ้งมติให้ผู้ประกันตนทราบ เพื่อเข้ารับการรักษา โดยสถานพยาบาลในโครงการรากฟันเทียมจะเป็นผู้ขอรับค่าบริการ ทางการแพทย์ หลังจากสิ้นสุดการรักษาเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 16,000 บาทต่อราก และไม่เกินรายละ 2 ราก

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มสิทธิ กรณีผู้ป่วยโรคจิตของกองทุนประกันสังคม จากเดิมที่ผู้ป่วยโรคจิตไม่สามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลตามบัตรรับรอง สิทธิได้ ยกเว้นการป่วยในกรณีเฉียบพลัน  ซึ่งจะต้องเข้ารับการรักษาทันทีภายใน 15 วัน ได้มีการขยายสิทธิการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคจิต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการคุ้มครองและรักษาผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

กรณีทุพพลภาพ จากเดิมผู้ประกันตนเคยได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน เดือนละ 2,000 บาท ในปีนี้ได้เพิ่มเป็นไม่เกิน 4,000 บาท ต่อเดือน ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเอกชน ประเภทผู้ป่วยใน แต่หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐเบิกได้เท่าที่จ่ายจริง รวมทั้งเหมาจ่ายค่าพาหนะเพื่อรับบริการทางแพทย์ไม่เกินเดือนละ 500 บาท

กรณีคลอดบุตร จากเดิมผู้ประกันตนได้รับค่าคลอดบุตร 12,000 บาท ในปีนี้ได้เพิ่มค่าคลอดบุตรเป็นครั้งละ 13,000 บาท นอกจากนี้ผู้ประกันตนหญิงยังคงได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอด บุตรร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน ส่วนผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาไม่ได้เป็นผู้ประกันตนใช้สิทธิได้ 2 ครั้ง

กรณีสงเคราะห์บุตร จากที่ผู้ประกันตนเคยได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 350 บาทต่อบุตร 1 คน สำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์เบิกได้คราวละไม่เกิน 2 คน จะได้เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็นรายละ 400 บาท

ทั้งนี้เฉพาะกรณีสงเคราะห์บุตรให้รอประกาศเป็นกฎกระทรวงก่อน นอกจากนั้น ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ประกันตนทุกคนที่จะได้รับการเพิ่มสิทธิ ประโยชน์ในครั้งนี้ เพราะสำนักงานประกันสังคมได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้ประกันตน ซึ่งเป็นเจ้าของเงินกองทุนประกันสังคมตัวจริง ดังนั้นควรจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ อย่างเต็มที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปนั่นเอง

ที่มา..ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506

อัตราค่าแรงขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554

ข่าวดี! ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 8 - 17 บาท

คณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 8-17 บาท มีผลทันที 1 มกราคมนี้ โดยจังหวัดภูเก็ตได้ปรับขึ้นมากสุด 17 บาท จังหวัดพะเยามีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดของประเทศ ขณะที่องค์การลูกจ้างแห่งประทศไทยยังไม่ยอมรับมติ อ้างบางจังหวัดปรับไม่ถึง 10 บาทตามที่เรียกร้อง เตรียมเคลื่อนไหวต่อ
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่าการพิจารณาปรับค่าจ้างดังกล่าว ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั่วประเทศ โดยยึดตัวเลขที่คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดส่งมา ซึ่งดูจากค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างเป็นหลัก
ซึ่งส่งผลให้แต่ละพื้นที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากัน โดยจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นสูงสุด 17 บาท มี 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต ทำให้เป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดของประเทศ จาก 204 บาท เป็น 221 บาท/วัน
ขณะที่จังหวัดพะเยาปรับขึ้นต่ำสุด 8 บาท/วัน ทำให้ยังเป็นจังหวัดที่มีค่าเเรงขั้นต่ำน้อยที่สุดของประเทศ จากปัจจุบัน 151 บาท วันนี้ปรับให้อีก 8 บาท เป็น 159 บาท/วัน
ส่วนกรุงเทพ และปริมาณฑล ปรับขึ้น 9 - 10 บาท ส่งผลให้กรุงเทพ และปริมณฑลมีค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน จาก 205 - 206 บาท เป็น 215 บาท
การปรับขึ้นค่าจ้างวันนี้ จะมีแรงงานที่กินค่าแรงขั้นต่ำได้ประโยชน์ประมาณ 4 ล้านคนเศษ แยกเป็นคนไทย 2 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวอีกราว 2 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่ประมาณ 14,694 ล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้เกิดการบริโภค จับจ่ายใช้สอยในระบบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ด้านกลุ่มแรงงาน ในนามองค์การลูกจ้างแห่งประทศไทย ที่ชุมนุมกดดันการประชุมอยู่หน้ากระทรวงแรงงาน ไม่ยอมรับอัตราค่าจ้างที่ปรับขึ้น โดยเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะมีจังหวัดที่ปรับขึ้นไม่ถึง 10 บาท มากกว่า 30 จังหวัด ขณะที่ภูเก็ตขึ้นไปถึง 17 บาท โดยทางกลุ่มจะกลับไปกำหนดเเนวทางการเคลื่อนไหว เพื่อกดดันให้เกิดการปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ 10 บาทอีกครั้ง
ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง ยืนยันให้ได้เท่านี้ ที่เหลือรัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้าง 250 บาท /วัน ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ และยังจี้ให้รัฐบาลไปดูราคาสินค้าเพื่อลูกจ้างจะได้ประโยชน์จากค่าจ้างที่ปรับขึ้น
ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยด้วยว่าในอนาคตการกำหนดค่าจ้างจะดูตามมาตรฐานของฝีมือแรงงานเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
สำหรับรายละเอียดการปรับขึ้นค่าจ้างมีดังนี้ / จังหวัดที่ปรับขึ้น 8 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดที่ปรับขึ้น 9 บาท มี 24 จังหวัด ได้แก่ น่าน ตาก สุรินทร์ มหาสารคาม นครพนม ชัยภูมิ ลำปาง หนองบัวลำภู เชียงราย บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ยโสธร สกลนคร ชัยนาท สุพรรณบุรี ตราด ลำพูน สมุทรสงคราม อ่างทอง เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ
จังหวัดที่ปรับขึ้น 10 บาท มี 16 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น กำแพงเพชร หนองคาย นครนายก เลย สระแก้ส นครราชสีมา นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี และสมุทรสาคร
จังหวัดที่ปรับขึ้น 11 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส อุบลราชธานี สิงห์บุรี เพชรบุรี และระยอง
จังหวัดที่ปรับขึ้น 12 บาท มี 10 จังหวัด ได้แก่ เเพร่ พิจิตร สุโขทัย อุดรธานี ยะลา จันทบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี ระนอง และชลบุรี
จังหวัดที่ปรับขึ้น 13 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง ราชบุรี พังงา ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี
จังหวัดที่ปรับขึ้น 14 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สตูล และกระบี่
และสุดท้ายจังหวัดที่ปรับขึ้นสุดสุด 17 บาท มีจังหวัดเดียวคือ ภูเก็ต

ข้อมูลอ้างอิง : ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 5)

ภาษีเบี้ยประกันชีวิต

แต่เดิมเราเคยได้ยินว่า เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ จ่ายให้กรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทฯ แล้วบริษัทฯ มีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรและเพื่อความสะดวกในการแสดงหลักฐาน ให้บริษัทประกันภัยหมายเหตุไว้ในใบเสร็จรับเงินให้มีข้อความว่าเบี้ยประกันชีวิตที่รับนี้จ่ายโดยบริษัท...

เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ ออกให้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานที่ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป โดยบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวด้วย และหากกรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป และบริษัทผู้รับประกันประกอบกิจการในประเทศไทย พนักงานหรือลูกจ้างมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กรณีบริษัทฯ ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารซึ่งมีข้อกำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้กู้ ต้องทำประกันชีวิตกับบริษัทฯ ที่ประกอบกิจการประกันชีวิต โดยใช้กรมธรรม์ที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ความคุ้มครองสินเชื่อของธนาคาร โดยกรมธรรม์ดังกล่าวจะกำหนดให้บริษัทฯ เป็นผู้เอาประกันแต่เพียงผู้เดียวและจะผูกเงื่อนไขการชำระค่าสินไหมทดแทนบนสาเหตุมรณกรรมของกรรมการ ทั้งนี้บริษัทประกันชีวิตจะได้รับอนุมัติจากกรมการประกันภัยให้ออกกรมธรรม์โดยระบุชื่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นผู้เอาประกันได้ และธนาคารฯ จะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แต่เพียงผู้เดียว

ในกรณีที่กรรมการถึงแก่ความตาย และบริษัทประกันชีวิตได้รับหลักฐานการพิสูจน์มรณกรรมของกรรมการแล้ว บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารฯ เท่ากับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระภายใต้สัญญากู้ยืมเงินในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 1 และผลประโยชน์ที่เหลือจะจ่ายให้แก่บริษัทฯ ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 2 ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

ทั้งนี้บริษัทฯจะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันชีวิตจะออกใบเสร็จในนามบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ เป็นคู่สัญญาภายใต้กรมธรรม์และเป็นผู้เอาประกันตามกรมธรรม์

เช่นนี้การทำประกันชีวิตเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ โดยกรรมการหรือบุคคลในครอบครัวมิได้เป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ จากกรมธรรม์ ดังนั้นเบี้ยประกันภัยที่บริษัทฯ จ่ายไปให้กับบริษัทประกันชีวิต จึงเป็นการจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทฯ และไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการแต่อย่างใด (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/ 5745 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2550).

ที่มา : Daily News Online
วันที่ : 28 ธันวาคม 2553