เงินบริจาคเพื่อจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หักได้ 2 เท่า (ฉบับที่ 515)

พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 515) พ.ศ. 2554
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๑๕) พ.ศ. ๒๕๕๔”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
                                                  (๑) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บุคคลธรรมดาได้จ่ายให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาลโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น
                                                  (๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓)แห่งประมวลรัษฎากร การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน สำหรับหอสมุดหรือห้องสมุดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินห้าหมื่นบาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
         นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถสร้างพลังขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและส่งเสริมการอ่านอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐในการจัดหาหนังสือให้แก่หอสมุด ห้องสมุด หรือแหล่งหนังสืออื่น ๆ ที่ให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับรายจ่ายตามจำนวนและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๕ ก วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔)

การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ (ฉบับที่ 194)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ
ของผู้มีเงินได้ตามวรรคสามของข้อ ๒(๖๑) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
-------------------------------------------------------------------------

                           อาศัยอำนาจตามความในวรรคสามของข้อ ๒(๖๑) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๗๙ (พ.ศ. ๒๕๕๔) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                                   (๑) เป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป
                                   (๒) เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
                                   (๓) มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผลประโยชน์เงินบำนาญดังกล่าวจะจ่ายเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้ โดยการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน
                                   (๔) มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ ๕๕ ปีขึ้นไป ถึงอายุ ๘๕ ปี หรือกว่านั้น และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ

ข้อ ๒ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ กรณีผู้มีเงินได้ได้จ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือได้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี ให้ยกเว้นเงินได้ที่จ่ายไปเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่น แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ๙๐,๐๐๐ บาท ตามข้อ ๒(๖๑) วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ยกเว้นเงินได้เพิ่มขึ้นอีกตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
                                   (๑) ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป
                                   กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                   (๒) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ได้จ่ายเบี้ยประกันภัยในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของสามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

                                   กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน

                                   ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ได้จ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือได้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้ มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่น แล้วแต่กรณี ของสามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
                                   (๓) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
                                        (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                        (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี และภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
                                   กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                        (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
                                   กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                   ทั้งนี้ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีตาม (ก) (ข) และ (ค) ต้องไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

ข้อ ๓ การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยซึ่งได้รับรองว่า เป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศฉบับนี้

ข้อ ๔ กรณีผู้มีเงินได้ ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๒ แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ ๑ ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๒ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๕ การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ข้อ ๖ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔

สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

การนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการ

การนำสินค้าที่ไว้เพื่อขาย เช่น รถยนต์ หรือ เครื่องจักร นำมาใช้งานเองในบริษัท เช่น นำรถยนต์ มาไว้ให้ลูกค้าทดลองขับ หรือเครื่องจักร นำไปสาธิตวิธีการใช้ให้ลูกค้าดู เป็นต้น แบบนี้ทรัพย์สินดังกล่าว ได้รับการยกเว้นไม่ถือเป็นรายได้ และไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ : กค 0702/398

วันที่ : 13 มกราคม 2554

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(8)(ง) มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1) และ (ฉบับที่ 2)ฯ

ข้อหารือ
บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการผลิต ซื้อขายเครื่องจักร และอะไหล่เครื่องจักร รวมทั้งการให้บริการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องจักร ในปี 2550 บริษัทฯ นำเข้าเครื่อง SHOT HANGER BLASTING รุ่น SHB-II จากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นสินค้าไว้เพื่อขาย จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 2,530,557.82 บาท ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2552 บริษัทฯ ได้นำเครื่องจักรดังกล่าวมาใช้ในการประกอบกิจการโดยใช้เป็นเครื่องจักรตัวอย่างให้ลูกค้าทดสอบการทำงานของเครื่อง โดยบริษัทฯ ได้โอนเครื่องจักรดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ และคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในอัตราร้อยละ 10.0 ต่อปี บริษัทฯ จึงขอหารือดังนี้
   1. บริษัทฯ ต้องนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการดังกล่าวมาถือเป็นภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ และต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบหรือไม่ อย่างไร
   2. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของสินค้าดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร
   3. การนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานยืนยันการอนุมัติหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย
1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ นำเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อขายมาใช้ในการประกอบกิจการ โดยใช้เป็นตัวอย่างเพื่อให้ลูกค้าทดสอบการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งบริษัทฯ ได้โอนเครื่องจักรดังกล่าวมาเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ซึ่งไม่ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และให้บริษัทฯ ตัดบัญชีออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ นำเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อขายมาใช้ในการประกอบกิจการและได้โอนมาเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่เป็นสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย และถือเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ตามมาตรา 65 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

3. กรณีตาม 3. ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดให้บริษัทฯ จัดทำหลักฐานเพื่อยืนยันการอนุมัติการนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายไว้ การจัดทำหลักฐานดังกล่าวขึ้นอยู่กับระเบียบของบริษัทฯ เอง

เลขตู้  : 73/37104