การขอเปลี่ยนรอบบัญชีต้องทำอย่างไร

หากต้องการเปลี่ยนรอบบัญชีจะต้องขออนุญาตหรือไม่ มีวิธีการขออนุญาตอย่างไร และต้องยื่นคำขอที่ไหน

          ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีประสงค์จะขออนุญาตเปลี่ยนรอบปีบัญชีจะต้องขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชี ในการขออนุญาตต้องจัดเตรียมเอกสาร ดังนี้

  1. แบบคำขออนุญาต( ส.บช. 4) จำนวน 1 ชุด
  2. สำเนาหลักฐานของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
    • สำเนาหนังสือรับรองรายการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กรณีเป็นนิติบุคคล
    • สำเนาทะเบียนพาณิชย์ กรณีเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย หรือบุคคลธรรมดา
    • สำเนาการขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร กรณีเป็นกิจการร่วมค้า
  3. สำเนาหนังสือของกรมสรรพากรที่อนุญาตให้เปลี่ยนรอบปีบัญชี (ถ้ามี)
  4. สำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นที่อนุมัติให้เปลี่ยนรอบปีบัญชี
  5. สำเนารายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท หรือสำเนาข้อบังคับของบริษัท อย่างใดอย่างหนึ่ง (ถ้ามี)
  6. สำเนาแบบนำส่งงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน (ส.บช. 3) ครั้งสุดท้ายก่อนการขออนุญาต
  7. หนังสือ มอบอำนาจที่ติดอากรครบถ้วนพร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบ อำนาจ (กรณีผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคลมอบหมายให้ผู้อื่นทำการแทน)

          ทั้ง นี้ สำเนาเอกสารประกอบคำขออนุญาตทุกฉบับจะต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาโดยผู้มี อำนาจทำการแทนนิติบุคคลพร้อมประทับตราสำคัญ(ถ้ามี) หรือโดยผู้รับมอบอำนาจแล้วแต่กรณี

          บริษัท จำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีข้อบังคับระบุเรื่องรอบปีบัญชีให้ยื่นคำขออนุญาตเปลี่ยนรอบปีบัญชี พร้อมกับการขอจดทะเบียนข้อบังคับ โดยยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท

          กรณี เป็นนิติบุคคลที่มีสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขออนุญาตเปลี่ยนรอบปีบัญชีต่อสารวัตรบัญชีประจำสำนักงานบัญชีประจำ ท้องที่กรุงเทพมหานคร หรือยื่นต่อสารวัตรใหญ่บัญชีสำนักงานกลางบัญชี ณ สำนักกำกับดูแลธุรกิจกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

          กรณี เป็นนิติบุคคลที่มีสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัด อื่น ให้ยื่นคำขออนุญาตเปลี่ยนรอบปีบัญชีต่อสารวัตรบัญชีประจำสำนักงานประจำท้อง ที่จังหวัด ณ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่นิติบุคคลดังกล่าวตั้งอยู่หรือจะยื่น ต่อสารวัตรใหญ่บัญชี สำนักงานกลางบัญชี ณ สำนักกำกับดูแลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจะเปลี่ยนรอบปีบัญชีได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจาก สารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีแล้วจึงจะเปลี่ยนรอบปีบัญชีได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีอนุญาตแล้วจะมี หนังสือแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

 

ที่มา...กระทรวงพาณิชย์

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยระบบอินเตอร์เต็ต

รีวิว: จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยระบบอินเทอร์เน็ต
โดย เรวัต ตันตยานนท์


เมื่อเถ้าแก่ใหม่ต้องการจัดตั้งบริษัท ร้อยทั้งร้อยจะต้องไต่ถามญาติสนิทมิตรสหาย ว่ามีใครที่พอจะสามารถรับทำให้ได้บ้าง
โดยต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าบริการจำนวนหนึ่งแลกกับการที่ต้องเสียเวลาติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการด้านไอที กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ได้นำเสนอการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบรรดาผู้ประกอบการทั่วไป
โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงที่ไม่กลัวอินเทอร์เน็ต
เฉพาะใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และ สมุทรปราการ ในช่วงเริ่มต้นของการให้บริการนี้
ผมเองก็เกิดอาการอดรนทนไม่ได้ ที่จะต้องไปทดลองแสวงหาสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ เพื่อที่จะนำมาเล่าต่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ เพื่อนำเสนอเป็นทางเลือก
เผื่อจะมีประโยชน์ต่อท่าน หากต้องการจะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมากับเขาบ้าง
การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ หรือที่ภาษาราชการจะเรียกว่า “การจดทะเบียนนิติบุคคล” ธุรกิจด้วยระบบอินเทอร์เน็ตนั้น จะเริ่มต้นจากการเข้าไปลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกที่เวบไซต์ www.dbd.or.th เสียก่อน
ในการลงทะเบียน ท่านจะต้องมี อีเมล ประจำตัวของท่านเอง เนื่องจากอาจมีการติดต่อสอบถามกลับมายังท่านผ่านระบบ อีเมล
ดังนั้น หากยังไม่มี อีเมล ใช้ประจำตัว ท่านจะต้องจัดหา อีเมล ของท่านให้ได้เสียก่อน
ขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นสมาชิก ก็ไม่ยุ่งยาก โดยต้องตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับสถานภาพของตัวเอง เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ บัตรประจำตัวประชาชน ฯลฯ ตามปกติทั่วไป
เมื่อกรอกข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนและยื่นขอรับการลงทะเบียนแล้ว ท่านจะต้องรอรับ ชื่อ User Name และ รหัสผ่าน Password ผ่านทางอีเมล เพื่อนำมาใช้ในการเข้าสู่ระบบต่อไป
ขั้นตอนนี้ก็ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 1-2 วันทำงาน ก็จะได้รับคำตอบกลับมา ผมคาดว่าจะเป็นการตอบกลับแบบอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ จึงใช้เวลาไม่นานมาก
การลงทะเบียนเป็นสมาชิกของระบบ จะทำให้ท่านสามารถเป็นผู้ยื่นคำร้องต่างๆ ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตัวเอง ในชื่อของท่านเองในฐานะเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัท
เมื่อได้รับ ชื่อ User Name และ รหัสผ่าน มาแล้ว ท่านก็จะสามารถเข้าสู่ระบบได้เพื่อดำเนินการขั้นต่อไปได้
โดยทั่วไปแล้ว การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัททางระบบอินเทอร์เน็ต จะมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1. จองชื่อนิติบุคคล
2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ
3. จดทะเบียนบริษัท
ซึ่งผมจะพาท่านท่องเน็ต ผ่านขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้โดยละเอียดพอสมควร เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นภาพคร่าวๆ ว่าท่านพอที่จะดำเนินการด้วยตัวเองได้หรือไม่
หากทำได้ ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายก้อนแรกในการเริ่มธุรกิจใหม่ของท่านไปได้ก้อนหนึ่ง ก็คือ ค่าจ้างหรือค่าบริการในการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
ถึงแม้จะเป็นเงินเพียงไม่กี่พันบาทก็ตาม
ขั้นตอนแรกสุดของการจัดตั้งบริษัท จะเริ่มจากการ จองชื่อนิติบุคคล หรือการจองชื่อบริษัทที่ท่านต้องการ
และเนื่องจากชื่อทางธุรกิจ หรือ ชื่อบริษัทนั้น จะซ้ำกันไม่ได้ เพราะถ้าชื่อบริษัทซ้ำกัน บุคคลทั่วไปก็คงจะต้องเกิดอาการงุนงงสงสัย ไม่ทราบว่าใครเป็นใครกันแน่ อาจสร้างความวุ่นวายต่างๆ ขึ้นได้
ด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ท่านจะสามารถตรวจสอบรายชื่อของบริษัทต่างๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้กับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ชื่อที่ท่านเลือกไว้ ตรงกับบริษัทที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว
ก็คงต้องเป็นระบบใครมาก่อนได้ก่อนแหละครับ
หากชื่อที่ท่านคิดไว้ มีผู้ใช้ไปก่อนแล้ว ท่านก็จะต้องเลือกหาชื่อใหม่ต่อไป จนกระทั่งตรวจสอบได้ว่า เป็นชื่อที่ไม่ซ้ำกับใคร
ในระหว่างการค้นหาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนี้ ท่านก็จะได้ประจักษ์กับตัวเองว่า ชื่อบริษัทในใจของท่าน ที่คิดว่า เจ๋งสุดขีด เป็น นวัตกรรมสุดยอดจากความคิดสร้างสรรค์ของท่านนั้น อาจเป็นชื่อที่ผู้อื่นได้คิดไว้ก่อนท่านตั้งนานแล้ว
และท่านยังอาจได้เห็นการตั้งชื่อบริษัทต่างๆ ที่หวือหวา ทันสมัย หรือ จ๊าบ เกินกว่าที่ท่านเคยคิดไว้ก็ได้
ในการตั้งชื่อบริษัทนั้น ทางการได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยชื่อที่จะขอจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นั้น จะต้องไม่มีคำ หรือ ข้อความใดๆ ดังต่อไปนี้
(1) พระนามของพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี รัชทายาท หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน ยกเว้นแต่จะได้รับพระบรมราชานุญาต
(2) ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน หรือ องค์การของรัฐ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง
(3) ชื่อประเทศ เว้นแต่จะระบุไว้ภายในวงเล็บต่อท้ายชื่อ และที่อยู่นำหน้าคำว่า “จำกัด”
(4) ชื่อที่อาจก่อให้เกิดสำคัญผิดว่า รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ ทั้งของประเทศไทยหรือต่างประเทศ เป็นเจ้าของหรือดำเนินการ
(5) ชื่อที่ขัดต่อแนวนโยบายของรัฐ หรือ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(6) ชื่อซึ่งมีคำว่า “บริษัทมหาชนจำกัด” หรือ “บริษัทจำกัด (มหาชน)” หรือ “บมจ.” หรือชื่อที่เรียกขานคล้ายกับคำเหล่านี้
(7) ชื่อภาษาไทย หรือ ภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีความหมาย หรือ ทำให้เข้าใจได้ว่า ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กิจการประกันภัย กิจการจัดหางาน หรือ กิจการคลังสินค้า เพราะ ธุรกิจเหล่านี้จะต้องไปจดทะเบียนเฉพาะซึ่งแตกต่างจากกิจการของบริษัทจำกัด
(Cool ชื่อที่ซ้ำกับชื่อที่ได้ยื่นจดทะเบียนไว้แล้ว ในลักษณะที่จะทำให้เกิดการหลงผิดคิดได้ว่าเป็นบริษัทเดียวกัน
เมื่อตรวจค้น และ ตั้งชื่อบริษัทของท่านได้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ และถูกใจของท่านเองได้แล้ว ท่านก็สามารถขอจองชื่อกับนายทะเบียนได้โดยการป้อนข้อมูลต่างๆ และทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้
นอกจากนี้ ผู้ขอจองชื่อจะต้องเป็น ผู้เริ่มก่อการ หรือ กรรมการ หรือ ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือ หุ้นส่วนผู้จัดการ ของนิติบุคคล หรือของ นิติบุคคลที่จะจัดตั้ง แล้วแต่กรณี เท่านั้น
ภายหลังการยื่นแบบฟอร์มผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ท่านจะต้องเข้าไปตรวจสอบผลการจองชื่อของท่านเป็นระยะๆ ดูว่า ชื่อที่ท่านขอจองไว้นั้นได้รับการตรวจสอบและรับรองจากนายทะเบียน หรือยัง
ขั้นตอนนี้ สำหรับกรณีของผมเอง พบว่าใช้เวลาประมาณ 4-5 วันทำงาน โดยต้องคอยคลิกเข้าไปติดตามดูผลงานทุกวัน
ทางที่ดี ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า น่าจะใช้วิธีแจ้งกลับทางอีเมล ผู้ยื่นขอจะได้ไม่ต้องนั่งนับวันนับคืน และต้องคอยติดตามเข้าเวบเพื่อตรวจสอบทุกวัน
เมื่อได้รับการรับรองการจองชื่อกับนายทะเบียนแล้ว ท่านสามารถพิมพ์ใบรับรองออกมาโดยเครื่องพิมพ์ของท่านเอง และใช้เป็นเอกสารแนบในการขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในขั้นตอนต่อไปได้
ชื่อที่ได้รับอนุญาตให้จองต้องนำไปจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจอง หากพ้นกำหนดนี้ต้องขอจองชื่อใหม่
บทความในสัปดาห์ต่อไป จะเป็นประสบการณ์ของผมในการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตครับ!!
เรวัต ตันตยานนท์ เชี่ยวชาญด้สนธุรกิจเอสเอ็มอี จบปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ 13 ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา: http://www.bangkokbizweek.com/




รีวิว: จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยระบบอินเทอร์เน็ต (2)
เรวัต ตันตยานนท์

สัปดาห์ที่แล้ว ผมนำท่านเถ้าแก่ใหม่ไฮเทค ไปทดลองสำรวจโลก E-Government กับ บริการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
โดยในขั้นตอนแรกสุดของการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ก็คือ การขอจองชื่อนิติบุคคล ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
ซึ่งหากทำได้สำเร็จเรียบร้อยตามเงื่อนไขของการตั้งชื่อ เช่น ไม่เป็นชื่อซ้ำ หรือ เป็นชื่อที่ต้องห้าม ท่านก็จะสามารถพิมพ์ (print out) เอกสาร แบบแจ้งผลการจองชื่อนิติบุคคล ที่สามารถนำไปใช้ประกอบในการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ได้ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจอง
หากพ้นกำหนด 30 วัน จะต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้น คือ ต้องยื่นขอจองชื่อใหม่อีกครั้งหนึ่ง
แต่มีเสียงกระซิบบอกมาว่า การยื่นขอจดทะเบียนฯ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทางนายทะเบียน มักจะยอมอนุญาตให้ แบบแจ้งผลการจองชื่อนิติบุคคล เกินอายุได้อีก 5 วัน โดยผู้ประกอบการไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่
ถือเป็นการบริการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง!!!
เมื่อได้รับอนุญาตจองชื่อบริษัทที่ต้องการได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป ท่านจะต้องทำการ จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ เสียก่อน
บริคณห์สนธิ คือ เอกสารที่ผู้เริ่มก่อการแสดงความประสงค์ที่จะจัดตั้งบริษัทขึ้นตามกฎหมาย
ข้อมูลที่ท่านจะต้องเตรียมให้พร้อมก่อนการ จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ได้แก่
1. ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขบัตรประจำตัว อายุ อาชีพ ของ บุคคลผู้เริ่มก่อการ จำนวน 7 คนขึ้นไป
การจัดตั้งเป็น บริษัทจำกัด จำเป็นที่จะต้องมีผู้เริ่มก่อการอย่างน้อย 7 คน ตามกฎหมาย
หากไม่ครบ 7 คน ท่านเถ้าแก่ใหม่ ก็จะต้องออกแรงไปเสาะแสวงหาบุคคลที่ท่านพอจะรู้จักไว้เนื้อเชื่อใจ พอที่ท่านจะอาศัยชื่อของเขาไปเป็นผู้ร่วมก่อการได้
ความยากลำบาก ก็อาจจะเริ่มต้นขึ้นต่อท่าน ตั้งแต่ขั้นตอนนี้
หากท่านใช้วิธีจ้างให้คนอื่นจดทะเบียนบริษัทให้ ผู้รับจ้างก็พร้อมที่จะหาชื่อผู้เริ่มก่อการให้ท่านได้ครบตามจำนวน โดยไม่ต้องสร้างความลำบากแก่ท่านแต่อย่างใด
เพียงแต่ท่านจะต้องเสียเงินเป็นค่าบริการจำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ ยังจะต้องเตรียมจัดหา พยาน อีก 2 คน เพื่อ รับรองว่า ผู้เริ่มก่อการทั้งหมด ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานไว้ถูกต้อง
สำหรับการจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกเวบไซต์ของ www.dbd.go.th ซึ่งใช้สิทธิเป็นผู้ขอจองชื่อนิติบุคคล จะต้องมีรายชื่ออยู่เป็น 1 ในกลุ่มผู้ริเริ่มก่อการ และต้องทำหน้าที่เป็น ผู้ริเริ่มก่อการผู้ขอจดทะเบียน ด้วย ตามระบบที่กำหนดไว้
ข้อมูลที่ท่านจะต้องมีพร้อมอยู่ในมือลำดับต่อไป ก็คือ
2. ทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวนหุ้น และ มูลค่าหุ้น ที่จะให้ผู้ก่อการเข้าซื้อ
สำหรับ มูลค่าหุ้น ส่วนใหญ่ก็จะกำหนดไว้ที่ หุ้นละ10 บาท บ้าง 100 บาท บ้าง แล้วแต่ที่เจ้าของบริษัทต้องการ ไม่ค่อยที่จะเห็นการตั้งมูลค่าหุ้น 2 บาท หรือ 3 บาท
ตั้งเป็นเศษสตางค์ก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ตั้ง มูลค่าหุ้นจัดตั้ง ให้มีเศษสตางค์
ดังนั้น บริษัทที่ต้องการทุนจดทะเบียน 1,000,000 (1 ล้าน) บาท และกำหนด มูลค่าหุ้นไว้ในราคาหุ้นละ 100 (1 ร้อย) บาท จะต้องมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 10,000 (1 หมื่น) หุ้น เป็นต้น
เมื่อกำหนดจำนวนหุ้นได้แล้ว จะต้องกำหนดต่อไปอีกว่า ผู้ริเริ่มก่อการทั้ง 7 คน นั้น จะซื้อหุ้นไว้คนละจำนวนกี่หุ้น ให้ครบตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ตั้งไว้
หากท่านสังเกตพบเห็นรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นในบริษัทไว้จำนวนเพียง 1 หุ้น ท่านก็อาจตีความได้เลยว่า ผู้ถือหุ้นรายนั้นอาจเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มก่อการ ที่ถูก “เกณฑ์” หรือ “อุปโลกน์” ขึ้นมาเพื่อให้ครบ 7 คนตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นเอง
ข้อมูลชุดต่อไปที่จะต้องเตรียมตัดสินใจไว้ก่อนการยื่นขอจดทะเบียน หนังสือบริคณห์สนธิ ก็คือ
3. รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ ของบริษัท
ผมเข้าใจว่า คำว่า “รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ “ เป็นภาษาที่ใช้ในกฎหมาย ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ ก็คือ “วัตถุประสงค์” ที่ต้องการจะจัดตั้งบริษัทขึ้นมา นั่นเอง
เจ้าของบริษัท หรือ ผู้ที่ต้องการตั้งบริษัทขึ้นมา จะต้องชี้แจงต่อทางการว่า ที่ท่านต้องการจะจัดตั้งบริษัทขึ้นมานั้น ท่านมีวัตถุประสงค์เช่นใด
ขั้นตอนนี้ก็ไม่ยากเย็นเท่าไรครับ
เพราะว่าทางราชการ ได้กำหนด รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ ที่เป็นมาตรฐานไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว
มีทั้งสำหรับ ธุรกิจบริการ, ธุรกิจพาณิชยกรรม หรือ ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต ให้เลือกตามความเหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ สำหรับ ธุรกิจพาณิชยกรรม ที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานสำเร็จรูป จะมีอยู่ 22 ข้อ ครอบจักรวาลไว้ก่อน เช่น บริษัทสามารถที่จะ ซื้อ จัดหา รับ เช่า เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง ปรับปรุง ใช้ ทรัพย์สินใดๆ
ขาย โอน จำนอง จำนำ แลกเปลี่ยน และจำหน่าย ทรัพย์สิน
เป็นนายหน้า ตัวแทน ตัวแทนค้าต่างในกิจการทุกประเภท ยกเว้นธุรกิจที่กฎหมายห้าม เช่น ธุรกิจประกันภัย การหาสมาชิกให้กับสมาคม และ การค้าหลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจการที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุม
กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน ทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจธนาคาร ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
จัดตั้งสำนักงานสาขา หรือ สำนักงานตัวแทน ทั้งในและนอกประเทศ
เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัด
นอกจากนี้ยังครอบคลุม การทำพาณิชยกรรมต่างๆ ไว้ เช่น
การค้าสัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ชำแหละ, การค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด และพืชไร่ต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสินค้าเหล่านั้น เช่น ครั่ง ไม้ แร่ ยาง, การค้าผักผลไม้ต่างๆ, บุหรี่ ยาเส้น, เครื่องดื่ม น้ำดื่ม น้ำแร่ และเครื่องบริโภคอื่น, การค้าผ้า เส้นใย เสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ, อุปกรณ์การกีฬา, การค้าวัสดุก่อสร้าง เครื่องมือช่าง เครื่องสุขภัณฑ์ อุปกรณ์ประปา, การค้าเครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องมือกล ยานพาหนะ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า, กิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน ผลิตภัณฑ์อื่นที่ก่อให้เกิดพลังงาน สถานีบริการเชื้อเพลิง, การค้ายา เภสัชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช, เครื่องสำอาง อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อเสริมความงาม, การค้ากระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์การพิมพ์ เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์, การค้าทอง นาก เงิน เพชร พลอย และ อัญมณีอื่น, เม็ดพลาสติก พลาสติก ยางเทียม สิ่งทำเทียมโดยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์, การสั่งเข้าและส่งออกสินค้าเหล่านี้ และ การยื่นประมูลเพื่อขายสินค้าเหล่านี้ให้กับหน่วยงานและองค์การราชการและ เอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ
เห็นไหมครับ ครอบจักรวาล จริงๆ
แต่หากท่านยังไม่พอใจทั้ง 22 รายการมาตรฐานเหล่านี้ ท่านก็จะสามารถเขียนวัตถุประสงค์เพิ่มได้อีกไม่จำกัดข้อ เพียงแต่ต้องระบุรายละเอียดไว้ให้ชัดเจน
เมื่อป้อนข้อมูลหลัก ทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมาแล้ว เข้าไปในหน้าจอของ การยื่นขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ครบถ้วนแล้ว ท่านก็สามารถ “คลิก” ส่งไปให้นายทะเบียนทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
หากต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลรายการใด นายทะเบียนก็จะแจ้งให้ท่านทราบผ่านทาง รายการตรวจสอบคำขอ
ซึ่งท่านก็ยังคงต้องคอยเข้าไปดูที่เวบไซต์เป็นระยะๆ เพื่อให้รู้ว่า นายทะเบียน มีคำตอบอะไรมาให้หรือยัง
หากจะพัฒนาเป็นการส่งข้อมูลทางอีเมล มายังผู้ประกอบการที่ยื่นขอได้ ผมก็คิดว่าจะเพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการได้มากขึ้น
เพราะไม่ต้องคอยใจจดใจจ่อ เพื่อเปิดดูเวบไซต์ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อดูว่า รายการที่ยื่นขอได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนหรือยัง
เป็นประจำทุกวัน วันละ 3 เวลา หลังอาหาร
ที่มา: http://www.bangkokbizweek.com/20050901/smallbiz/index.php?news=column_18470273.html


SME CLINIC : จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยระบบอินเทอร์เน็ต (3)
โดย เรวัต ตันตยานนท์


ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาใน 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยตลอด ก็คงจะพอได้ข้อมูลคร่าวๆ แล้วว่า การขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นบริการที่จัดไว้ให้โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ นั้น จะมีขั้นตอนต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการ ขอจองชื่อนิติบุคคล ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
หลังจากที่ได้รับการอนุมัติจองชื่อแล้ว ขั้นตอนต่อไปผู้ที่ต้องการจัดตั้งบริษัทใหม่จะต้องทำการจดทะเบียนหนังสือ บริคณห์สนธิ ซึ่งสามารถทำผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน
ท่านที่พลาดเนื้อหาในรายละเอียดขั้นตอนเหล่านี้ อาจลองติดต่อกับทีมงานของ BizWeek เพื่อขอต้นฉบับในตอนแรกๆ ผ่าน อีเมล bizweek@nationgroup.com ดูก็ได้ครับ
สัปดาห์นี้เราก็มาติดตามขั้นตอนที่ต่อจากการที่ได้รับอนุมัติข้อมูลราย ละเอียดของหนังสือบริคณห์สนธิจากนายทะเบียนผู้ตรวจสอบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เรียบร้อยแล้ว
หลังจากที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน ว่าข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิถูกต้องการกฎเกณฑ์ที่ได้ กำหนดไว้แล้ว ผู้ยื่นขอ ก็จะสามารถสั่งพิมพ์เอกสารหรือแบบฟอร์มต่างๆ ที่กรอกข้อมูลไว้แล้วออกมา เอกสารแบบฟอร์มต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่
แบบแจ้งผลการจองชื่อนิติบุคคล
แบบ อบจ. 1 (คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด) แจ้งขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ
แบบ อบจ. 2 (หนังสือบริคณห์สนธิ) ซึ่งจะระบุ ทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น มูลค่าหุ้น ของบริษัท รวมถึงรายชื่อของผู้เริ่มก่อการ พร้อมลายมือชื่อของผู้ร่วมก่อการทุกคน พร้อม คำรับรองลายมือชื่อของพยาน 2 คน แบบ อบจ. 2 จะต้องติดอากรแสตมป์จำนวน 200 บาท
แบบ ว. (รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์) ซึ่งจะระบุวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้เกี่ยวกับการทำธุรกิจของบริษัท โดยกรรมการผู้ขอจดทะเบียนจะต้องลงชื่อกำกับทุกหน้า
ท่านที่สนใจต้องการเห็นตัวอย่างแบบฟอร์มต่างๆ อาจเข้าไปดาวน์โหลดมาได้จากเวบไซต์ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ www.dbd.go.th
แต่การจดทะเบียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ก็ยังต้องไปอาศัยระบบเอกสารแบบเดิมเนื่องจากการต้องยึดถือการลงลายมือชื่อใน รูปแบบดั้งเดิม เอกสารแบบฟอร์มที่สั่งพิมพ์ออกมาจากระบบอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะแบบ อบจ. 1 จะต้องได้รับการลงนามโดยกรรมการผู้ขอจดทะเบียน ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า จะต้องไปลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียน หรือ ลงลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในท้องถิ่นที่ผู้ลงลายมือชื่อมีภูมิลำเนาอยู่ หรือลงลายมือชื่อต่อหน้าสมาชิกสามัญ หรือ สมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งจะต้องมีสำเนาเอกสารประจำตัวของผู้รับรองแนบมากับแบบฟอร์มอื่นๆ ด้วย
หากไม่ต้องการที่จะเดินทางไปยื่นเอกสารโดยตรงที่สำนักงานบริการจด ทะเบียนโดยตรง ผู้ขอยื่นอาจใช้วิธีการส่งเอกสารทั้งหมดไปทางไปรษณีย์ส่งตรงไปที่ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง ของกรม ก็ได้
ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ การชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน
ในกรณีที่ส่งเอกสารจดทะเบียนทางไปรษณีย์ ผู้ยื่นขอก็จะสามารถชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ผ่านทางธนาคารต่างๆ ตามที่ กรมพัฒนาธุรกิจ ได้กำหนดไว้ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารเอเชีย เป็นต้น ใบเสร็จรับเงินอย่างเป็นทางการก็จะถูกส่งกลับมาให้ทางไปรษณีย์ เช่นกัน
อัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิจะคำนวณตามจำนวนทุนจดทะเบียนของบริษัท
ทุกๆ 100,000 บาทของทุนจดทะเบียน จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 50 บาท เศษของ 100,000 บาท คิดเป็น 100,000 บาท ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมรวมกันจะต้องไม่ต่ำกว่า 500 บาทและไม่เกิน 25,000 บาท เช่น ทุนจดทะเบียน 200,000 บาท จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ 500 บาท หรือ ทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท ก็จะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 25,000 บาท เป็นต้น
แต่หากผู้ยื่นขอตัดสินใจจะไปยื่นเอกสารทั้งหมดด้วยตนเอง ก็จะสามารถไปลงลายมือต่อหน้านายทะเบียนได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องหา สมาชิกสามัญ หรือ วิสามัญของเนติบัณฑิตยสภา มารับรองลายมือชื่ออีก ทั้งการชำระเงินค่าธรรมเนียม ก็สามารถทำได้อย่างถูกต้องแน่นอนได้ที่สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ ซึ่งก็คงต้องเตรียมเวลาไว้ 1 วันเต็มๆ สำหรับการเดินทางและการรอคิว ตามปกติของการติดต่องานราชการ
การจดทะเบียนด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ก็ยังไม่สามารถทำได้ “เต็มใบ” ล้วนๆ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดเรื่องการลงลายมือชื่อดังกล่าว เอกสารประกอบการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ก็จะได้รับการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งจากนายทะเบียน แล้วให้หมายเลขกำกับหนังสือบริคณห์สนธิไว้ ภายหลังตรวจสอบเอกสารใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว นายทะเบียนจะแนะนำให้ผู้ขอยื่น ถ่ายสำเนาเอกสารหนังสือบริคณห์สนธิและรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ไว้ เนื่องจากจะต้องใช้ยื่นประกอบในขั้นตอนของการจดทะเบียนบริษัทต่อไป
เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ ผู้ประสงค์จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ ก็จะได้รับหมายเลขทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งเป็นหมายเลขที่จะต้องใช้สำหรับป้อนเข้าไปในระบบการจดทะเบียนนิติบุคคล ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ในขั้นตอนของการจัดตั้งบริษัท
ซึ่งผมจะนำรายละเอียดมาเล่าให้ท่านฟังในสัปดาห์ต่อไป
ที่มา: http://www.bangkokbizweek.com/20050902/smallbiz/index.php?news=column_18544639.html


SMEs Clinic : รีวิว: จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยระบบอินเทอร์เน็ต (4)
โดย เรวัติ ตันตยานนท์


ผู้ประกอบการเริ่มต้นใหม่ หรือ เถ้าแก่ใหม่ ที่ต้องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยตนเอง โดยไม่อยากเสียเงินค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทหรือกิจการที่รับจ้างจดทะเบียน บริษัทให้ ในยุคสมัยของอินเทอร์เน็ตนี้ ท่านสามารถที่จะทำการจดทะเบียน จัดตั้งบริษัทผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตนเองแล้วครับ
ขั้นตอนต่างๆ สามารถทำผ่านเวบไซต์ www.dbd.go.th ของ กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์
ซึ่งผมเองได้ทดลองเข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนี้ด้วยตนเองมาแล้ว
และถือโอกาสนำเกร็ดและขั้นตอนวิธีการต่างๆ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบผ่านคอลัมน์นี้มาเป็นตอนที่ 4 แล้ว
ขั้นตอนต่างๆ ที่ได้นำเสนอมาแล้ว ได้แก่ การขอจองชื่อนิติบุคคล หรือ ชื่อบริษัทของเรา ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ เพื่อแสดงเจตจำนงในการที่จะจัดตั้งบริษัทขึ้นมา
สำหรับในสัปดาห์นี้ จะขออนุญาตเล่าต่อถึงขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท หลังจากได้รับหมายเลขหนังสือบริคณห์สนธิจากนายทะเบียนมาแล้ว
ท่านผู้อ่านที่ต้องการจะอ่านข้อมูลในบทความตอนแรกๆ ลองเขียนอีเมลไปขอกับทีมงานของ Biz Week ได้ที่ bizweek@nationgroup.com ซึ่งเป็น อีเมล ที่ท่านผู้อ่านสามารถใช้ติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคอลัมน์นี้ได้ด้วยครับ
การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เป็นขั้นตอนต่อไปจากการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ โดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จำเป็นที่จะต้องอ้างอิงถึงหมายเลขของหนังสือบริคณห์สนธิ
โดยเฉพาะการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จะบังคับให้ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องกรอกข้อมูลหมายเลขหนังสือบริคณห์สนธิก่อน เป็นอันดับแรก
มิเช่นนั้น จะผ่านเข้าไปทำรายการในขั้นตอนต่อไปไม่ได้
เงื่อนไขสำคัญที่จะต้องทำให้ครบก่อนการจัดตั้งบริษัท อันดับแรกก็คือ ผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งบริษัท จะต้องทำการจัดให้หุ้นตามจำนวนและมูลค่าที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ มีผู้เข้าชื่อจองซื้อหุ้นจนครบทั้งหมด
ซึ่งต้องระบุรายการของผู้จองซื้อหุ้น และจำนวนหุ้นที่จอง ลงในช่องรายการที่กำหนดให้บนหน้าจอ
เงื่อนไขข้อต่อไปก็คือ จะต้องมีการเรียก ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อแจ้งในทราบถึงการจัดตั้งบริษัท โดย กรรมการผู้ริเริ่ม จะต้องออกหนังสือบอกกล่าวการประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
ในระบบอินเทอร์เน็ต ก็ไม่ยุ่งยากอะไรมากครับ เพราะเนื้อความต่างๆ ทั้งที่จะปรากฏอยู่ในหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม หรือ ในรายงานการประชุม จะเป็นข้อความมาตรฐานที่กำหนดไว้ในโปรแกรมแล้วทั้งสิ้น
เราเพียงกรอกข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องสำหรับบริษัทของเราเท่านั้น ระบบก็จะเรียบเรียงเอกสารต่างๆ ออกมาให้โดยอัตโนมัติ
และเชื่อได้ว่า จะต้องเป็นไปตามระเบียบที่กฎหมายกำหนดไว้ทั้งสิ้น โดยไม่ผิดพลาด
วาระในการประชุมจัดตั้งบริษัท ก็จะเป็นวาระมาตรฐานเช่นกัน ที่สำคัญได้แก่ การแต่งตั้งกรรมการบริษัท โดยที่กรรมการบริษัทจะต้องจัดการเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้จองหุ้นที่ได้ ระบุรายชื่อไว้ ชำระค่าหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น และมีหลักฐานยืนยันการชำระค่าหุ้น
ในระบบอินเทอร์เน็ต ก็จะมีแบบรายการที่ให้กรรมการผู้จัดการ หรือ กรรมการผู้มีอำนาจ ได้ลงนามรับรองยืนยันการชำระค่าหุ้นให้ด้วย
ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้มากกว่าการที่จะต้องยืนยันเป็นเอกสารของธนาคารหรือเอกสารอื่นๆ
นอกจากนี้ การประชุมจัดตั้งบริษัท ยังจะต้องมีวาระการเสนอพิจารณาตั้ง ข้อบังคับของบริษัท ซึ่งโปรแกรมในระบบอินเทอร์เน็ตก็จะมีรูปแบบมาตรฐานของข้อบังคับของบริษัท เป็นแนวทางให้ผู้ขอจัดตั้งบริษัทได้ใช้เป็นตัวอย่าง โดยสามารถเพิ่มรายการข้อบังคับพิเศษเพิ่มเติมเข้าไปได้ตามต้องการ
ข้อบังคับของบริษัท จะประกอบด้วยหมวดพื้นฐานต่างๆ เช่น บททั่วไป ชนิดของหุ้นและคุณสมบัติของผู้ถือหุ้น จำนวนและคุณสมบัติของกรรมการของบริษัท การประชุมผู้ถือหุ้น การจัดทำงบดุลของบริษัท และ การจัดการเงินปันผลและเงินสำรองของบริษัท
เงื่อนไขมาตรฐานในหมวดต่างๆ เหล่านี้ ก็จะกำหนดไว้ในโปรแกรมทั้งหมด เช่น จะต้องมีการจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทั่วไปภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้จัดตั้งบริษัท และจากนั้น จะต้องมีการประชุมสามัญ อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ส่วนการประชุมผู้ถือหุ้นในวาระอื่นๆ นอกจากการประชุมสามัญประจำปี จะเรียกว่าเป็นการประชุมวิสามัญ
ในส่วนของงบดุลของบริษัท จะต้องกำหนดรอบปีบัญชีของบริษัทไว้ด้วย โดยทั่วไปก็จะนิยมใช้รอบบัญชีของบริษัทตามปีปฏิทิน คือ เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม และสิ้นสุดที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี บางบริษัท อาจใช้รอบปีบัญชีตามรอบงบประมาณของรัฐบาล คือ เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน ของทุกปีก็ได้ ไม่มีข้อกำหนดตายตัวแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังต้องมีการมอบหมาย อำนาจหน้าที่ของกรรมการ ไว้ เช่น จะต้องมีกรรมการกี่คนที่สามารถลงลายมือชื่อซึ่งผูกพันบริษัทได้ หรือ ในการลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท จะต้องประทับตราสำคัญของบริษัทด้วยหรือไม่
ประเด็นน่าสนใจอย่างหนึ่ง อยู่ที่การกำหนด ดวงตราสำคัญ ของบริษัท เงื่อนไขข้อกำหนดลักษณะดวงตราสำคัญของบริษัท ตามกฎหมาย ระบุให้ต้องมีลักษณะดังนี้
1. ต้องไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับ เครื่องหมายตราจักรีบรมราชวงศ์, พระบรมราชาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกรัชกาล, พระบรมสัญลักษณ์ พระราชสัญลักษณ์ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงค์ ทุกรัชกาล, พระมหามงกุฎ ฉัตรต่างๆ ตราแผ่นดิน ตราราชการ พระราชลัญจกร ตราครุฑพ่าห์ ธงชาติ เครื่องหมายราชการ เครื่องหมายกาชาด
2. กรณีที่ตรามีชื่อของบริษัท ชื่อนั้นจะต้องอ่านได้ชัดเจน และตรงกับชื่อที่ขอจดทะเบียนไว้ และต้องมีคำแสดงประเภทของนิติบุคคลด้วย เช่น บริษัท …(ชื่อบริษัท)… จำกัด หรือ บ. …(ชื่อบริษัท)... จก.
3. กรณีที่แสดงเป็นภาษาต่างประเทศที่ตรงกับชื่อที่ขอใช้ จะต้องมีคำแสดงประเภทของนิติบุคคลด้วย เช่น … (ชื่อบริษัทเป็นภาษาต่างประเทศ)… Company Limited หรือ Co.,Ltd.
หากดวงตราบริษัท ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว นายทะเบียนจะไม่อนุมัติการจดทะเบียน ท่านจะต้องกลับมาแก้ไขดวงตราของบริษัทมาใหม่
ผมเองก็ตกม้าตายมารอบหนึ่งแล้วครับ โดยไม่ได้ตั้งใจ
เพราะตราบริษัท มีข้อความชื่อของบริษัทเป็นภาษาอังกฤษอยู่ด้วย แต่ไม่มีคำว่า Company Limited กำกับ
ต้องกลับมาทำตรายางไปใหม่อีกรอบหนึ่งครับ
ที่มา: http://www.bangkokbizweek.com/20050903/smallbiz/index.php?news=column_18606203.html


รีวิว: จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยระบบอินเทอร์เน็ต (6-7)
เรวัต ตันตยานนท์


เรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เป็นเรื่องที่ต้องทำตามวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้ กฎหมายในที่นี้ก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น เอกสารประกอบต่างๆ จึงต้องมีรูปแบบและเนื้อหามาตรฐานเพื่อให้เป็นไปอย่างครบถ้วนและถูกต้องตามข้อกำหนด
แม้กระทั่งรายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท ก็จะมีวาระบังคับที่ต้องให้เป็นไปตามกฎหมาย
สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เมื่อกรอกข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ระบบก็จะจัดพิมพ์รายงานการประชุมจัดตั้งบริษัทออกมาให้เพื่อนำไปเป็นเอกสาร ประกอบยื่นให้กับนายทะเบียน
หน้าตาของรายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท ก็จะเป็นประมาณนี้ครับ
รายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท
บริษัท ………………………………… จำกัด
ประชุมเมื่อวันที่ …………………….. เวลา ………. น. ณ บ้านเลขที่ …………………………………. มีผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะมาประชุม ……….. คน นับจำนวนหุ้นได้ …………….. หุ้น ครบเป็นองค์ประชุม โดย ………………….. เป็นประธานที่ประชุม และเริ่มประชุมตามระเบียบวาระ ดังต่อไปนี้
รับรองบัญชีรายชื่อ ฐานะ และสำนักของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น พร้อมทั้งจำนวนหุ้นซึ่งต่างคนได้ลงชื่อซื้อไว้
ประธานได้เสนอบัญชีรายชื่อ ฐานะ และสำนักของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นของบริษัท และจำนวนหุ้นซึ่งต่างคนได้ลงชื่อซื้อไว้ให้ที่ประชุมพิจารณา
ที่ประชุมตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้อง จึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ถือเป็นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ต่อไป
พิจารณาตั้งข้อบังคับของบริษัท
ประธานได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาข้อบังคับของบริษัท
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้ข้อบังคับที่ประธานเสนอเป็นข้อบังคับของบริษัท (ในหัวข้อนี้ อาจใช้ข้อความว่า “ใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นข้อบังคับของบริษัท ก็ได้)
พิจารณาให้สัตยาบันแก่บรรดากิจการที่ผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทได้กระทำ และค่าใช้จ่ายซึ่งจำเป็นต้องจ่ายในการตั้งบริษัท
ประธานแถลงว่า ในการเตรียมการเพื่อตั้งบริษัทนี้ไม่มีผู้เริ่มก่อการผู้ใดกระทำการอันเป็น การผูกพันบริษัท จึงไม่จำเป็นต้องให้สัตยาบันแต่ประการใด แต่มีค่าใช้จ่ายซึ่งจำเป็นต้องจ่ายในการตั้งบริษัทนี้ ซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทดรองเงินส่วนตัวจ่ายไป เป็นจำนวนเงิน ……………… บาท จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณา
ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามที่ประธานเสนอเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้
พิจารณาเรื่องหุ้น
ประธานได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา กำหนดชนิดและจำนวนหุ้นของบริษัท รวมทั้งการเรียกชำระเงินค่าหุ้นในครั้งแรกด้วย
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว จึงลงมติเป็นเอกฉันท์ กำหนดให้หุ้นของบริษัทมีชนิดเดียว เป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อที่ต้องใช้เงินจนเต็มมูลค่า และให้เรียกชำระค่าหุ้นในครั้งแรกนี้หุ้นละ …………. บาท รวมเป็นเงินที่เรียกให้ชำระค่าหุ้นในครั้งแรกนี้ทั้งหมด ………….. บาท
พิจารณาเลือกตั้งกรรมการชุดแรกของบริษัท และกำหนดอำนาจกรรมการ
ประธานได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเลือกตั้งกรรมการชุดแรกของบริษัท เพื่อบริหารกิจการของบริษัท และพิจารณากำหนดอำนาจกรรมการที่จะกระทำการแทนบริษัทด้วย
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว จึงลงมติเป็นเอกฉันท์กำหนดให้คณะกรรมการของบริษัทมีจำนวน …….. คน โดยเลือกตั้งผู้ที่มีรายชื่อต่อไปนี้เป็นกรรมการชุดแรกของบริษัท คือ
…………………………..
…………………………..
…………………………..
…………………………..
…………………………..
…………………………..
และได้ลงมติเป็นเอกฉันท์กำหนดอำนาจกรรมการของบริษัทเป็นดังนี้ คือ “จำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งจะลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันบริษัทได้ คือ ………………………………………………………… .”
พิจารณาเลือกตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดสินจ้าง
ประธานได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเลือกตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัท รวมทั้งกำหนดค่าสินจ้างด้วย
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว จึงลงมติเป็นเอกฉันท์เลือกตั้ง …………………… ผู้สอบบัญชีอนุญาตเลขที่ ……. เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท โดยกำหนดค่าสินจ้างให้ปีละ …………. บาท
เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
ไม่มีผู้ใดเสนอเรื่องใดเข้าพิจารณา
ปิดประชุมเวลา …………… น.
(ลงลายมือชื่อ) ……………………… ประธานที่ประชุม
(……………………………………. )
รับรองว่าถูกต้อง
………………………
( ………………… )
กรรมการ
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่า เป็นรายงานการประชุมแบบมาตรฐานให้เติมคำในช่องว่างจริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดจากเนื้อหาสำคัญที่กฎหมายได้กำหนดไว้
และคงไม่ต้องแปลกใจว่า บริษัทตั้งใหม่ต่างๆ จะมีรายงานการประชุมจัดตั้งบริษัทที่หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ
เพราะต่างก็ออกมาจากแบบฟอร์มเดียวกันนั่นเอง
ข้อบังคับของบริษัทจดทะเบียนใหม่ก็มีขายครับ
หากท่านได้ติดตามข้อเขียนของผมในเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ ด้วยระบบอินเทอร์เน็ตในคอลัมน์นี้มาเป็นประจำ ก็คงพอที่จะมองเห็นว่า การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่นั้น เป็นเรื่องที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการใหม่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ซึ่งในกรณีนี้ก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้เอกสารประกอบหลายต่อหลายชุด ที่จำเป็นต้องมีเนื้อหาที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการจัดตั้ง นิติบุคคลเพื่อทำธุรกิจได้เป็นไปอย่างถูกต้อง
ดังนั้น แนวปฏิบัติก็คือ ทางราชการได้กำหนดเนื้อหาเอกสารต่างๆ ไว้ให้มีข้อความมาตรฐานไว้เพื่อเป็นต้นแบบ ทำให้การปรับเปลี่ยนระบบจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ มาเป็นระบบที่เจ้าของธุรกิจใหม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ด้วยตัวเองโดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตมาเป็นสะพานเชื่อมมีความเป็นไปได้อย่างดี
ผมได้เล่าขั้นตอนต่างๆ ที่เจ้าของธุรกิจใหม่สามารถติดต่อดำเนินการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านระบบ อินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่ การตรวจสอบและจดจองชื่อนิติบุคคล การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ตลอดไปจนถึงการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท มาตามลำดับแล้ว
ในสัปดาห์นี้ ผมขอใช้เวลาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ระเบียบข้อบังคับของบริษัท ซึ่งบริษัทจัดตั้งใหม่จะต้องเตรียมเป็นเอกสารเพื่อยื่นประกอบในการจดทะเบียน จัดตั้งบริษัทใหม่ด้วย
ข้อบังคับมาตรฐานที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดทำไว้นั้น ประกอบด้วยหมวดต่างๆ รวม 6 หมวด ได้แก่
หมวด 1 เป็น บททั่วไป
หมวด 2 กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับ หุ้นและผู้ถือหุ้น
หมวด 3 ว่าด้วยเรื่องของ กรรมการ ของบริษัท
หมวด 4 เป็นเรื่องของ การประชุมผู้ถือหุ้น
หมวด 5 เป็นเรื่องของ งบดุล ของบริษัท และ
หมวด 6 เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง เงินปันผลและเงินสำรอง
ในแต่ละหมวด จะมีข้อกำหนดที่น่าสนใจ ที่ผู้ที่ต้องการเตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ของตัวเอง ควรจะต้องรับรู้ไว้ก่อนการกระโดดลงมาเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างเต็มตัว หากต้องการสร้างธุรกิจของตนให้มีพื้นฐานที่มั่นคงด้วยการเรียนรู้และรับทราบ กฎหมาย กฎเกณฑ์ และ กฎระเบียบต่างๆ เพื่อจะไม่ต้องมีปัญหาติดตามมาภายหลัง
โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทกำลังเจริญเติบโตก้าวหน้าไปได้อย่างดี
จะได้ไม่ต้องมีอุปสรรคที่คาดไม่ถึงมาคอยฉุดรั้งหรือทำให้โอกาสของการขยายตัวต้องเสียจังหวะหรือสะดุดไปโดยไม่จำเป็น
ข้อบังคับมาตรฐาน ของบริษัท จะเริ่มต้นด้วยข้อความ ดังนี้
ข้อบังคับ
ของ
บริษัท …………… จำกัด
ใน หมวด 1 บททั่วไป จะมีข้อบังคับไว้ 2 ข้อ
ข้อ 1 ข้อบังคับนี้ ถ้ามิได้ตราเป็นอย่างอื่น ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทจำกัดมาใช้บังคับ
ข้อบังคับข้อนี้เขียนครอบจักรวาลไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างข้อบังคับที่ต้องตีความในกรณีอาจก้ำกึ่งหรือขัดแย้งกับกฎหมายหลัก
ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ ถ้ามีที่ซึ่งสมควรแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงก็ให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นจัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงตามกฎหมายต่อไป
ข้อที่ 2 กำหนดว่า การแก้ไขข้อบังคับจะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทส่วนใหญ่ให้ความเห็น ชอบ หากมีการแก้ไขข้อบังคับ บริษัทก็จะต้องยื่นแก้ไขข้อบังคับกับนายทะเบียนอย่างเป็นทางการต่อไป
หมวดที่ 2 หุ้นและผู้ถือหุ้น มีข้อบังคับไว้อย่างน้อย 3 ข้อ
ข้อที่ 3 หุ้นของบริษัททั้งหมดเป็น … ( เช่น …หุ้นสามัญชนิดระบุชื่อที่ต้องใช้เงินจนเต็มมูลค่าหุ้น… ) และ ใบหุ้นของบริษัท ต้องมีกรรมการอย่างน้อย ….. คน ลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท
ข้อนี้เป็นการระบุชนิดหุ้นของบริษัท ซึ่งอาจเป็นหุ้นสามัญ อย่างเดียวหรืออาจมีการถือหุ้นแบบอื่น เช่น หุ้นบุริมสิทธิ ด้วยก็ได้
ข้อที่ 4 การโอนหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน โดยมีพยานสองคนลงชื่อรับรองและจะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ ต่อเมื่อบริษัทจดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว
ข้อบังคับข้อนี้ เป็นการย้ำว่าการทำทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นหน้าที่ที่บริษัทจะต้องปฏิบัติ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นหรือตัวผู้ถือหุ้น จะต้องทำการแก้ไขทะเบียนหุ้นให้ถูกต้องสมบูรณ์อยู่เสมอ
ข้อที่ 5 บริษัทจะถือหุ้นหรือรับจำนำหุ้นของบริษัทเองไม่ได้
ข้อนี้เป็นเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปฏิบัติตาม
หมวดที่ 3 กรรมการ มีข้อบังคับพื้นฐานรวม 4 ข้อ
ข้อที่ 6 คณะกรรมการของบริษัทพึงมีจำนวนเท่าใดให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้กำหนด
กรรมการของบริษัทจะถูกกำหนดตัวและแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัทอาจมีได้ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ตามลักษณะและขอบข่ายของธุรกิจ ไม่มีจำนวนที่กำหนดไว้ตายตัว
ส่วนใหญ่แล้วผู้ถือหุ้นแต่ละรายมักจะส่งคนของตนเองเข้ามานั่งเป็นกรรมการเพื่อควบคุมดูแลการบริหารกิจการของบริษัทให้เป็นไปตามนโยบาย
ข้อที่ 7 ถ้าตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามกำหนดวาระ คณะกรรมการจะเลือกผู้อื่นขึ้นแทนก็ได้ แต่ให้มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากับกำหนดเวลาที่กรรมการผู้ออกไปนั้น ชอบจะอยู่ได้
ข้อนี้เป็นการกำหนดวาระของกรรมการ และ การตั้งกรรมการแทนกรณีมีกรรมการลาออกหรือเสียชีวิตก่อนหมดวาระ
ข้อที่ 8 การประชุมกรรมการต้องมีคณะกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษากิจการได้
ข้อที่ 9 คณะกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบการจัดงานทั้งปวงของบริษัท และกรรมการเลือกตั้งในระหว่างกันเองขึ้นเป็นประธานหนึ่งคน
ทั้ง 2 ข้อ กำหนดระเบียบของการประชุมกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบการบริหารงานที่ถูกต้องและโปร่งใส
คงจะต้องยกยอด ข้อบังคับ มาตรฐานไว้ไปคุยต่อในคราวหน้าเสียแล้ว ท่านที่สนใจจะจัดตั้งบริษัทใหม่ ก็คงต้องคอยติดตามกันต่อไปให้ได้นะครับ
หมวด 4 การประชุมผู้ถือหุ้น
ข้อ 10 ให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้ จดทะเบียนบริษัท และต่อนั้นไปให้มีการประชุมครั้งที่หนึ่งทุกปี การประชุมเช่นนี้เรียกว่า การประชุมสามัญ และการประชุมคราวอื่นบรรดาที่มีนอกจากนี้เรียกว่า การประชุมวิสามัญ
กฏหมายต้องการให้บริษัทมีการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการบังคับให้หุ้นส่วนของบริษัททั้งหมดได้มีการพบปะและติดตามความ ก้าวหน้าหรือทิศทางของธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ
ข้อ 11 คณะกรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็สุดแล้วแต่จะเห็นสมควร หรือเมื่อผู้ถือหุ้นจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของ บริษัทเข้าชื่อกันทำหนังสือในฉบับเดียวกันร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญก็ได้
หากมีเหตุการณ์รีบด่วนหรือเหตุการณ์ผิกปรกติ ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่จะสามารถเรียกประชุมเพื่อซักถามฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการ ดำเนินธุรกิจได้ โดยกำหนดให้เรียกประชุมแบบวิสามัญ
ข้อ 12 คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราวให้ลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือ พิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่ง หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ด วัน
เพื่อให้การเรียกประชุมเป็นไปอย่างทั่วถึงและให้รับทราบระหว่างผู้ถือ หุ้นทั้งหมด กฏหมายกำหนดให้บริษัทต้องใช้วิธีการเช่นการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า บริษัทมหาชนต่างๆ ที่มีจำนวนผู้ถือหุ้นมากมักจะต้องใช้วิธีนี้ ส่วนในบริษัททั่วๆ ไป การเรียกประชุมมักทำด้วยการส่งหนังสือนัดประชุม ซึ่งต้องกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาเตรียมตัวอย่างเพียงพอ
ข้อ 13 ผู้ถือหุ้นคนใดไม่สามารถเข้าประชุมด้วยตนเองได้ อาจรับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรและกำหนดให้ผู้เข้าประชุมแทนสามารถใช้ สิทธิ์ของผู้ถือหุ้นได้เสมือนผู้ถือหุ้นได้เข้าประชุมเอง
ข้อ 14 ในการประชุมผู้ถือหุ้น ให้ประธานกรรมการนั่งเป็นประธานที่ประชุม ถ้าไม่มีตัวประธานกรรมการหรือประธานกรรมการมิได้มาเข้าประชุมก็ให้ที่ประชุม เลือกตั้งผู้ถือหุ้นคนหนึ่งซึ่งได้เข้าร่วมประชุมขึ้นเป็นประธาน
ข้อนี้เป็นการกำหนดวิธีการเลือกประธานในที่ประชุม
ข้อ 15 ในการประชุมใหญ่ต้องมีผู้ถือหุ้นมาเข้าร่วมประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ไม่น้อย กว่าหนึ่งในสี่แห่งทุน จึงจะเป็นองค์ประชุม การออกเสียงลงมติให้ถือเอามติเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง เสียง
การออกเสียงในที่ประชุม ผู้ถือหุ้นจะใช้จำนวนหุ้นแทนคะแนนเสียง แต่กฏหมายกำหนดให้ประธานในที่ประชุมสามารถชี้ขาดได้ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่า กัน
ในหมวดต่อไป คือ หมวดที่ 5 จะเป็นหมวดที่เกี่ยวกับ งบดุล ซึ่งจะเริ่มต้นด้วย
ข้อ 16 ให้กรรมการจัดทำงบดุลแสดงรายการจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทกับทั้ง บัญชีกำไรขาดทุนทุกรอบขวบปีทางบัญชีเงินของบริษัท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่............และสิ้นสุดในวันที่.............ของทุกปี
การกำหนดงวดปีบัญชีจะต้องกำหนดไว้ในข้อบังคับอย่างชัดเจน ว่าจะเริ่มเมื่อไรและสิ้นสุดเมื่อไร ส่วนใหญ่แล้ว บริษัทต่างๆ มักจะเลือกรอบระยะบัญชีให้ตรงกับรอบปีปฏิทิน คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม แต่ก็ไม่มีข้อห้ามหากจะเลือกช่วงระยะเวลาอื่นๆ
บางบริษัท ก็จะใช้รอบระยะเวลาบัญชี ตรงกับการจัดงบประมาณแผ่นดิน คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน เป็นต้น
ข้อ 17 งบดุลของบริษัทต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นภายในสี่เดือน นับแต่วันที่ลงในงบดุลนั้น
ผู้ถือหุ้น มีหน้าที่ต้องอนุมัติเพื่อรับรองงบดุลที่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วซึ่ง จะทำให้ผู้ถือหุ้นต้องรับผิดชอบในตัวเลขทางบัญชีของบริษัทไปในตัวด้วย
หมวด 6 เงินปันผลและเงินสำรอง
ข้อ 18 การจ่ายเงินปันผลทุกคราว บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบของเงินกำไร สุทธิ ซึ่งบริษัทนำมาหาได้จากกิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบของจำนวนทุนของบริษัท หรือมากกว่านั้น
ข้อกำหนดข้อนี้เป็นการบังคับให้บริษัทต้องจัดทุนสำรองไว้ส่วนหนึ่งเพื่อ การดำเนินการของบริษัทจะนำผลประกอบการที่ได้ มาจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นหมดไม่ได้
ตอนท้ายของ ข้อบังคับจะต้องระบุข้อความที่ข้อบังคับจะนำมาบังคับใช้ได้
ข้อบังคับนี้ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมตั้งบริษัทเมื่อวันที่............................................
และต้องมีการลงลายมือชื่อของกรรมการบริษัทกำกับไว้ทุกหน้าจึงจะนำไปขอยื่นจดทะเบียนข้อบังคับบริษัทกับนายทะเบียนได้

เรวัต ตันตยานนท์ เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเอสเอ็มอี จบปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร รุ่นที่13 ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา:
http://www.bangkokbizweek.com

รับสมัครนักศึกษาฝึกงาน หรือ ทำงาน Part Time

สำนักงานบัญชี รับทำบัญชี รับทำเงินเดือน รับจดทะเบียนบริษัท
  • รับสมัครนักศึกษาหรือผู้ที่ต้องการทำงานพิเศษ (Part Time)
  • คีย์ข้อมูลบัญชี / คีย์ข้อมูลเงินเดือน
  • อัตราีค่าตอบแทนวันละ 300-500 บาท ขึ้นอยู่กับประสบการณ์
  • ทำงานวันจันทร์-ศุกร์ ได้ (ไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน)
  • มีที่พักแถวมีนบุรี หรือสถานที่ใกล้เคียง พิจารณาเป็นพิเศษ
  • ติดต่อสอบถามได้ที่ 080-268-7000 หรือ 089-890-2929
  • ดูแผนที่และ emial คลิ๊กที่นี่

จดทะเบียนบริษัท คำถามที่ถูกถามบ่อย

คำถาม ผู้ร่วมลงทุนไม่ถึง 7 คนได้หรือไม่
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป กฎหมายได้เปลี่ยนจำนวนผู้เริ่มก่อการและถือหุ้นบริษัทจากอย่างน้อย 7 คน เหลือ อย่างน้อย 3 คน (มาตรา 1097)
คำถาม ทุนจดทะเบียนไม่ถึง 1,000,000 บาทได้หรือไม่
บริษัทจำกัด ตามกฎหมาย (ป.พ.พ.) กำหนดมูลค่าหุ้นไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท ฉะนั้น ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุดของบริษัท คือ 15 บาท ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้แล้ว (ผู้ถือหุ้น 3 ราย ถือคนละ 1 หุ้นๆ ละ 5 บาท) ห้างหุ้นส่วน กฎหมายไม่ได้กำหนดทุนขั้นต่ำไว้
ผมเคยเข้าไปตรวจสอบทุนจดทะเบียน เคยเห็นมีบริษัทที่จดทะเบียนทุนไว้ 10,000 บาทอยู่ 2-3 ราย จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนในเดือนนั้น 1,000 กว่าบริษัท (เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร)
การกำหนดทุนจดทะเบียนขึ้นอยู่กับ งบกระแสเงินสด (Cashflow) ต้องเพียงพอต่อการทำดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ต้องดูประเภทของธุรกิจด้วยว่าเป็นธุรกิจแบบไหน เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป บริการ หรือโรงงานอุตสาหกรรม แต่ละธุรกิจก็มีความจำเป็นในการใช้เงินแตกต่างกัน เช่น
  • โรงงานอุตสาหกรรม อาจจะต้องเงินลงทุนมากเนื่องจากต้องสร้างอาคารโรงงาน ซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ
  • กิจการซื้อมาขายไป ก็ต้องดูในเรื่องสต๊อค ต้องเก็บสต๊อคไว้มากน้อยแค่ไหน การหมุนเวียนเป็นเงินสดเร็วช้าแค่ไหน
  • กิจการบริการ อาจไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนทุนไว้สูง เนื่องจากไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินเพื่อลงทุน
คำถาม ทุนจดทะเบียน ต้องชำระอย่างน้อยเท่าไหร่
ต้องชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของมูลค่าหุ้น ตัวอย่างเช่น ทุนจดทะเบียน 500,000 บาท ยอดเงินลงทุนที่ต้องเรียกชำระขั้นต่ำ 25% เท่ากับ 125,000 บาท จึงจะสามารถไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ได้
หลังจากกิจการได้ประชุมผู้ถือหุ้นและแต่งตั้งกรรมการชุดแรก เพื่อบริหารงานและกรรมการชุดแรกนี้ต้องเรียกชำระค่าหุ้น เพื่อนำไปจดทะเบียนบริษัทต่อไป
คำถาม กรณีจดทะเบียนทุน 1 ล้านแต่ไม่กรรมการยังไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีบริษัทได้หรือไม่
ในขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท กรรมการชุดแรกจะต้องเรียกชำระค่าหุ้น และมีหลักฐานการรับชำระค่าหุ้น จึงจะสามารถจดทะเบียนบริษัทได้ ต่อมาภายหลัง กรรมการไม่ได้นำเงินที่รับชำระค่าหุ้นเข้าบัญชีบริษัท ต้องถือว่า กรรมการได้ยืมเงินของกิจการไปใช้ ในทางบัญชีจะต้องบันทึกกรรมการ เป็นลูกหนี้เงินให้ยืมกรรมการ และคิดดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำ หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (กรณีกิจการกู้ยืมเงินมาใช้ในการดำเนินงาน)

คำถาม ชำระค่าหุ้นเต็มจำนวนหรือชำระค่าหุ้นตามจริง (บางส่วน) อย่างไหนดีกว่า
กฎหมายอนุญาตให้มีการเรียกชำระค่าหุ้น เป็นระยะได้และไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะต้องชำระให้เสร็จสิ้นเมื่อใด เพียงแต่กำหนดการเรียกชำระค่าหุ้นในครั้งแรกไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 25%
การบันทึกบัญชีทั้ง 2 กรณี มีวิธีบันทึกที่แตกต่างกันไป ดังนี้
กรณีชำระเต็มจำนวนและกรรมการไม่นำเงินเข้าบัญชี แต่นำไปใช้ส่วนตัว ก็ต้องบันทึกกรรมการเป็น ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ และคิดดอกเบี้ย
กรณีชำระบางส่วนและกรรมการนำเงินเข้าบัญชีจริง ส่วนที่ผู้ถือหุ้นยังชำระค่าหุ้นไม่ครบก็ต้องบันทึกผู้ถือหุ้น เป็น ลูกหนี้ค่าหุ้น อันนี้ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย (แต่ผู้ถือหุ้นยังคงมีหน้าที่ที่ต้องชำระค่าหุ้นอยู่ ตามจำนวนเงินที่ค้าง)