หน้าที่ทางภาษีของนิติบุคคลตั้งใหม่

คำถาม: : เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะต้องปฏิบัติในทางภาษีอย่างไร

คำตอบ: :
          1. ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ด้วยแบบ ล.ป.10.3 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
          2. ถ้ามีรายรับที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือธุรกิจเฉพาะ   
                     มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือธุรกิจ เฉพาะแล้วแต่กรณี ด้วยแบบ ภ.พ.01 หรือ ภ.ธ.01 
                     มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 หรือ ภ.ธ.40 แล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
          3. ถ้ามีการจ่ายเงินได้ที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53 หรือ ภ.ง.ด.54 แล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปจากเดือนที่มีการจ่ายเงินได้นั้น
          4. มีหน้าที่ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้  
                     ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับเงินได้งวด 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี  
                     ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับเงินได้รอบระยะเวลาบัญชี ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

วันสุดท้ายของการออกหนังสือรับรองภาษี

“วันนี้...คุณยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2552 หรือยัง”เป็นคำถามสุดฮิต        

วันที่ 15 ก.พ. มีความสำคัญอย่างไรกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. โดยเฉพาะท่านที่มีเงินได้เป็นเงินเดือนค่าจ้างอย่างเดียว  คือ วันที่ 15 ก.พ 53 นี้ เป็นวันสุดท้ายที่นายจ้างต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้แก่พนักงานลูกจ้างที่ทำงานกับตนมาจนตลอดปี 52 ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 50 ทวิ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ฉบับ มีข้อความตรงกันในกรณีและตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้


1. ในกรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร หรือตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 อาทิ ค่าเช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้ค่าบริการ และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) (3) หรือ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย

2. ในกรณีตามมาตรา 50 (1) อาทิ การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินเดือนค่าจ้าง เบี้ยประชุม ค่านายหน้า ให้ออกภายในวันที่ 15 ก.พ.ของปีถัดจากปีภาษี หรือภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากงานในระหว่างปีภาษีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ใช้ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด  หากผู้จ่ายเงินได้ฝ่าฝืน ไม่ออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่จัดทำหนังสือรับรองฯ ให้เป็นไปตามที่กำหนด อาจต้องรับผิดเสียค่าปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาทต่อกระทงความผิด ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในทางปฏิบัติ กรมสรรพากรลดหย่อนโทษให้เหลือเพียง 500 บาทต่อกระทง ครับ.

 

ที่มา..http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=470&contentID=48780