เงินชดเชยที่ได้รับจากการเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน

เงินชดเชยที่จะได้รับการยกเว้นภาษีต้องเป็นเงินชดเชยจากการถูกไล่ออกจากงานเท่านั้น ถ้าเป็นกรณีอื่นจะไม่ได้รับการยกเว้น ลองมาดูกรณีอื่นที่ไม่ได้รับการยกเว้นกันนะครับ เช่น

  • เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจากการเลิกจ้าง (ไม่ยกเว้นภาษีเงินได้)
  • เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาจ้าง (ไม่ยกเว้นภาษีเงินได้)
  • เงินชดเชยที่จ่ายเกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด เช่น กฎหมายกำหนดให้จ่าย 3 เดือน แต่จ่ายเกินไปอีก 1 เดือน ส่วนที่จ่ายเกินไม่ได้รับการยกเว้น
  • เงินชดเชยที่จ่ายตามกฎหมายแรงงานในส่วนที่เกินกว่า 300,000 บาท

มาดูกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ 2 (51) กันนะครับ เงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุ หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง

ลองมาดูตัวอย่างที่กรมสรรพากรตอบไว้นะครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0706/515

วันที่ : 18 มกราคม 2550

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

ข้อกฎหมาย : ข้อ 2(51) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ

ข้อหารือ

นาย ก. ทำงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและได้เกษียณอายุเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 โดยได้รับเงินชดเชยจากการเกษียณอายุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน นาย ก. จึงขอทราบว่าเงินได้จากการเกษียณอายุซึ่งเป็นเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้ม ครองแรงงานดังกล่าวนั้น เข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมา รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ตาม ก 3. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานของใบแนบแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช่ หรือไม่

แนววินิจฉัย

เงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่า จ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้น สุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้ ตามข้อ 2(51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ดังนั้น กรณีนาย ก. ได้รับเงินชดเชยจากการเกษียณอายุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานตาม ก 3. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานของใบแนบแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เลขตู้ : 70/34734

กรณีรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีถัดมา

ผู้มีเงินได้ที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก และได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มักจะใช้วิธีคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อที่จะรับเงินในปีถัดมา ทั้งนี้อาจจะเข้าใจว่าจะทำให้เสียภาษีในปีถัดมาน้อยลง ผมศึกษาเรื่องนี้แล้วพบว่า

กรณีได้รับเงินชดเชยเพราะเหตุออกงาน พร้อมกับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การยกเงินกองทุนไปรับในปีถัดไปหรือคงเงินกองทุนไว้ จะทำให้เสียสิทธิในการคำนวณแบบแยก (ดูที่สรรพากรตอบไว้ตามหนังสือเลขที่ กค 0702/657, 406977, 409013 ด้านล่าง)

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม จะเห็นได้ว่าต้องเป็นกรณีที่ได้รับเงินชดเชยเพราะเหตุออกจากงานพร้อมกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมกัน ซึงใช้สิทธิคำนวณแบบแยกไปแล้วในครั้งแรก จะใช้สิทธิซ้ำในครั้งที่ 2 ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีลาออกจากงานปกติ (ไม่มีเงินชดเชย) และคงเงินไว้ในกองทุนเพื่อรอโอนเปลี่ยนกองทุน ต่อมาถอนเงินออกจากกองทุน แบบนี้ถ้าอายุงานเกิน 5 ปี และไม่เคยใช้สิทธิคำนวณแยกมาก่อน จะสามารถใช้สิทธิคำนวณแยกได้ (ผมเคยโทรสอบถามกรมสรรพากร เค้าบอกว่า ใช้สิทธิคำนวณแยกได้ครั้งเดียวถ้าเคยใช้แล้ว จะใช้ซ้ำไม่ได้ กรณีเป็นเงินได้ที่ได้รับพร้อมกัน)

เลขที่หนังสือ : กค 0702/657

วันที่ : 22 มกราคม 2553

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีจากเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          นาย ก. ได้รับเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท ได้แก่ เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินที่ จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่นาย ก. ได้คงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานธนาคาร ท. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนาคารทหารไทย จำกัด ที่มีหน้าที่ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานต่อไป โดยจะขอ รับเงินจากกองทุนดังกล่าวในปี 2553 นาย ก. จึงขอทราบว่า ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน ปี 2553 นาย ก. มีสิทธิเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย
          ธนาคารฯ ได้จ่ายเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้นาย ก. ดังนี้
          1. เงินเทียบเท่าเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินตอบแทนพิเศษ (เงินบอกกล่าวล่วงหน้า เงินเพิ่มพิเศษตอบแทน ตามอายุงาน และเงินชดเชยสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี) จำนวน 1,305,827 บาท ได้รับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552
          2. เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 1,224,240.96 บาท ได้รับเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ซึ่งนาย ก. เลือกที่คงไว้ ในกองทุนฯ ต่อไป โดยจะขอรับเงินดังกล่าวจากกองทุนฯ ในปี 2553

          ดังนั้น กรณีนาย ก. ได้รับได้รับเงินเทียบเท่าเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินตอบแทนเพราะเหตุออกจากงาน ในปี 2552 และต่อมาจะรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกในปี 2553 ถือเป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินจากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2553 นาย ก. ไม่มีสิทธินำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(5) แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุ ออกจากงานตามมาตรา 48(5) และ 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น นาย ก. จึงต้องนำเงินที่ได้ รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปี 2553 มารวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่ได้รับในระหว่างปีภาษี เพื่อยื่นแบบแสดง รายการและชำระภาษี ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 73/37112

เลขที่: : 406977

เรื่อง: : เลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพล่าช้า ทำให้จ่ายเงินให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างคนละปีกับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

คำถาม: :
นาย ก. เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งมีอายุงานเกิน 5 ปี บริษัทเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป โดยจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานภายในปี 2540 และจ่ายเงินจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปี 2541 เนื่องจากบริษัทดำเนินการเลิกกองทุนฯ เพื่อนำเงินจ่ายคืนให้กับพนักงานแล้วเสร็จในวันที่ 15 มกราคม 2541 ในการเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษี 2540 นาย ก. เลือกเสียภาษีเงินได้โดยไม่นำเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น เมื่อนาย ก. ได้รับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนฯ ในปี 2541 จะใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้โดยไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้หรือไม่

คำตอบ: :
นาย ก. นำเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวนเดียวที่ได้รับในปีภาษี 2540 (ปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้) มาเลือกเสียภาษี ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการเลือกคำนวณภาษี โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ส่วนเงินที่จ่ายจากกองทุนฯ ที่ได้รับในปีภาษี 2541 ซึ่งเป็นปีภาษีถัดไป เงินจำนวนนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ฉะนั้น ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2541 นาย ก. จะใช้สิทธิเลือกเสีย ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร อีกไม่ได้ โดยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่: : 409013

เรื่อง: : ลาออกจากงานขอให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายให้คนละปีกับนายจ้าง

คำถาม: :
นาย ก. อายุ 50 ปี ลาออกจากงานในปี 2548 โดยได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานซึ่งจะต้องนำไปแสดงในส่วนของใบแนบฯ ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะขอรับในปี 2549 สามารถยื่นในใบแนบได้อีกหรือไม่

คำตอบ: :
เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามข้อ 1(ข)(ง) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) แต่เนื่องจากมิใช่เป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าว จึงไม่มีสิทธินำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาคำนวณแยกต่างหากจากเงินได้อื่น แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2549

หลักเกณฑ์การหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ พร้อมวิธีคำนวณ

เลขที่ข่าว ปชส. 13/2554
วันที่แถลงข่าว 18 พฤศจิกายน 2553

เรื่อง หลักเกณฑ์การหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ พร้อมวิธีคำนวณ
............................................................................................….
ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง สนับสนุนการออมรูปแบบประกันชีวิตแบบบำนาญ ให้ประชาชนได้ออมไว้ใช้จ่ายภายหลังเกษียณอายุการทำงาน โดยเพิ่มเติมค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่มีอยู่แล้วตามปกติ อีก 200,000 บาท เฉพาะประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งวงเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และต้องไม่เกินยอดหักลดหย่อนในภาพรวม เมื่อผนวกกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย นั้น

หลักเกณฑ์ที่ผู้มีสิทธิหักลดหย่อน “ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ” ( เพิ่มเติมจากประกันชีวิตปกติที่หักได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) มีเงื่อนไขที่ควรตรวจสอบก่อนใช้สิทธิ ดังนี้

หลักเกณฑ์ตามคุณลักษณะพื้นฐานของประกันชีวิตแบบบำนาญ

  1. เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และผ่านการอนุมัติและรับรองจากสำนักงาน คปภ. ว่าเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนตามกฎหมายได้
  2. เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ทำสัญญาไว้กับบริษัทที่ประกอบกิจการในไทย
  3. ต้องไม่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ในระหว่างปี หรือช่วงที่จ่ายเบี้ยประกัน หรือก่อนกรมธรรม์จะหมดอายุสัญญา
  4. ต้องเป็นแบบที่เมื่อผู้ทำประกันอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี จะได้รับเงินคืน (บำนาญ) เป็นรายงวดเท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่า และได้รับเงินบำนาญคืนเมื่อได้ชำระเบี้ยประกันครบตามสัญญาแล้ว

การคำนวณเพื่อนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปใช้ลดหย่อนภาษี

กรณีตัวอย่าง นายภาษี มีเงินได้ทุกประเภทรวมทั้งปีเท่ากับ 3,400,000 บาท ได้ซื้อประกันชีวิตปกติของตนเองไว้รวมปีละ 60,000บาท ได้ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญไว้ 300,000 บาท และซื้อหน่วยลงทุน RMF ไว้ ในปี เดียวกันถึง 360,000 บาท อยากทราบว่านายภาษี จะสามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้
จำนวนเท่าไร

ขั้นตอนที่ 1  คำนวณยอดการใช้สิทธิหักไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แล้วพักไว้เช่น มีเงินได้ทั้งปี 3,400,000 บาท ไม่เกินร้อยละ 15 มีเพดานสูงสุดเท่ากับ = 3,400,000 x 15% = ไม่เกิน 510,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบและดำเนินการใช้สิทธิ โดยนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปคำนวณตามลำดับขั้น ดังต่อไปนี้

     ลำดับขั้นที่ 1 นำไปใช้สิทธิหักร่วมกับประกันชีวิตปกติจนครบเพดานสูงสุดได้ไม่เกิน100,000 บาท การดำเนินการตามสิทธิเป็นดังนี้

  1. นายภาษีจ่ายค่าเบี้ยประกันปกติ 60,000 บาท
  2. คงเหลือสิทธิที่จะใช้กับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เท่ากับ 100,000 – 60,000 = 40,000 บาท ดังนั้น ใช้สิทธิหักเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญในลำดับขั้นที่ 1 ได้ เท่ากับ 40,000 บาท

     ลำดับขั้นที่ 2 นำไปหักตามสิทธิของค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (สูงสุด 200,000 บาท แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้)

  1. นายภาษีซื้อประกันแบบบำนาญไว้ 300,000 บาท
  2. เมื่อเทียบวงเงินตามขั้นตอนที่ 1 พบว่าไม่เกิน 510,000 บาท จึงสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ตามลำดับขั้นที่ 2 นี้เต็ม 200,000 บาท (เต็มเพดานสิทธิที่ให้หักได้ในลำดับนี้) ดังนั้น นายภาษีสามารถหักได้เต็ม 200,000 บาท นำไปพักไว้รอตรวจสอบตามลำดับขั้นที่ 3

     ลำดับขั้นที่ 3 นำยอดที่คำนวณได้ตามลำดับขั้นที่ 2 ไปตรวจสอบผลรวมตามเพดานสูงสุดเมื่อ นำไปรวมกับหน่วยลงทุน RMF ซึ่งหลังจากนำไปรวมกับหน่วยลงทุน RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

  1. นายภาษีซื้อหน่วยลงทุน RMF รวม 360,000 บาท ในปีที่ใช้สิทธิ
  2. นำเงินเบี้ยประกันแบบบำนาญตามลำดับขั้นที่ 2 รวมกับหน่วยลงทุน RMF เพื่อตรวจสอบสิทธิการหักค่าลดหย่อนได้ ไม่เกิน 500,000 บาท = 200,000 + 360,000 = 560,000 บาท พบว่า เกินวงเงินที่สามารถหักได้รวม เท่ากับ 60,000 บาท (จาก 560,000 - 500,000)
  3. คำนวณสิทธิที่หักได้ตามลำดับขั้นที่ 2 ใหม่ เพื่อหาสิทธิที่ได้รับจริง โดยนำยอดที่คำนวณได้ตามลำดับขั้นที่ 2 (200,000 บาท) – ส่วนเกินวงเงินในลำดับขั้นที่ 3 (60,000 บาท) = 200,000 – 60,000 = มีสิทธิหักได้จริง 140,000 บาท

ดังนั้น นายภาษี สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเท่ากับ 40,000 (ลำดับขั้นที่ 1) + 140,000 บาท รวมทั้งสิ้น 180,000 บาท ในปีนี้ ทั้งนี้ หากสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตปกติ ได้มีการใช้สิทธิหักลดหย่อนเต็มเพดานไปก่อนแล้ว(ก่อนการหักเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ) ให้คำนวณเริ่มต้นจากขั้นตอนที่ 2 ลำดับขั้นที่ 2 ได้ทันที

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “ เนื่องจากเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญนั้น เป็นลูกผสมระหว่างการประกันชีวิตปกติกับการประกันความมั่นคงในการดำรงชีพเมื่อผู้ประกันตนใช้ชีวิตหลังเกษียณ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิทธิลดหย่อนการประกันประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งกับการประกันชีวิตปกติ และมีลักษณะการทำงานที่เหมือนกับหน่วยลงทุน RMF ไปพร้อมกัน จึงทำให้สิทธิทางภาษีการประกันชีวิตรูปแบบดังกล่าว มีระบบการคำนวณที่ผนวกความเหมือนและแยกความต่างสำหรับใช้สิทธิแต่ละกรณี

การใช้สิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันแบบบำนาญอย่างถูกต้อง ผู้มีสิทธิควรทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตลอดจนพิจารณารายละเอียดในกรมธรรม์ให้เป็ นไปตามที่กฎหมายกำหนดด้วยทุกครั้ง และจะมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2553 ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี พ.ศ. 2554 อย่างแน่นอน ”


ที่มา.. กรมสรรพากร โทร. 0 2617 3320-21 โทรสาร 0 2617 3324 หรือ RD Call Center 1161

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้พนักงาน

ค่าเบี้ยเลี้ยงที่จ่ายให้พนักงานที่เดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ถือเป็นเงินได้ของพนักงาน มีข้อยกเว้นที่จะไม่ถือเป็นเงินได้ของพนักงานอยู่ 2 กรณีคือ

  1. มีใบเสร็จหรือหลักฐานค่าใช้จ่ายแนบประกอบการจ่าย  หรือ
  2. จ่ายไม่เกินจากอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงที่ราชการกำหนดไว้ (ส่วนที่จ่ายเกินให้ถือเป็นเงินได้ของพนักงาน)

เลขที่หนังสือ : กค 0702/5806

วันที่ : 2 สิงหาคม 2553

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้พนักงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          1. บริษัทให้ นาย ก. เดินทางไปทำงานที่บริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ ต่างจังหวัด โดยเดินทางไปวันจันทร์และกลับวันศุกร์ ในการเดินทางไปทำงานที่บริษัทในเครือนั้น บริษัทจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้ นาย ก. วันละ 300 บาท โดยจ่ายให้เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งการรับเบี้ยเลี้ยงนั้นไม่มีหลักฐานเอกสารใบเสร็จมาให้กับบริษัท
          2. บริษัทให้ นาย ก. เดินทางไปทำงานที่บริษัทในเครือที่ตั้ง อยู่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางไปทำงานเป็นครั้งคราวและ บริษัทจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้ นาย ก. วันละ 3,000 เยน โดยจ่ายให้เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งการ รับเบี้ยเลี้ยงนั้นไม่มีหลักฐานเอกสาร ใบเสร็จมาให้กับบริษัท
          นาย ก. ขอทราบว่า เงินเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวถือเป็นเงินได้ที่ ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

แนววินิจฉัย
          กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงที่ นาย ก. ได้รับตาม 1. และ 2. ที่บริษัทได้มอบ หมายให้กับ นาย ก. เดินทางไปทำงานที่บริษัทในเครือ ที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัดและบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งคราว นาย ก. จะ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเข้าลักษณะดังนี้
          1. ต้องเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งนาย ก. ได้จ่ายไปโดยสุจริตตาม ความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของนาย ก. และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
          2. ในกรณีนาย ก. ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราไม่เกินอัตราค่า เบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ทางราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือ ต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์ การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่ายให้ถือว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งนาย ก. ได้จ่ายไป โดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของนาย ก. และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น โดยไม่ต้องมีหลักฐานการ จ่ายเงินมาพิสูจน์
          3. ในกรณีที่นาย ก. ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราเกินกว่าอัตรา ค่าเบี้ยเลี้ยงตาม 2. และไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไป
          ทั้งหมดในการนั้น ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ย เลี้ยงซึ่งได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในส่วนที่ ไม่เกินอัตราตาม 2.
          การเดินทางปฏิบัติงานตามหน้าที่ตาม 1. 2. และ 3. ต้องมี หลักฐานการได้รับอนุมัติให้เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสำนักงานหรือนอกสถานที่จากนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้โดยต้องระบุลักษณะงานที่ ทำและระยะเวลาปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้วแต่กรณีด้วย

เลขตู้  : 73/37435

ผู้ประกันตนป่วยเป็นโรคไต ได้สิทธิประโยชน์อย่างไรบ้างจาก สปส.

“โรคไต” เป็นโรคที่ผู้ป่วยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก แต่สำหรับ

ท่านใดที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมและมีสถานะเป็นผู้ประกันตน จะได้รับคุ้มครอง ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคไตด้วย

สำนักงานประกันสังคม เริ่มให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมาตั้งแต่ปี 2542 โดยปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมได้ให้ความคุ้มครอง แก่ผู้ประกันตนด้วยการบำบัดทดแทนไต ซึ่งประกอบด้วย

- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในอัตราไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 4,500 บาท ต่อสัปดาห์ (สำหรับผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ก่อนการเป็นผู้ประกันตน จะมีสิทธิฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในอัตราไม่เกิน 1,000 บาท ต่อครั้ง และไม่เกิน 3,000 บาท ต่อสัปดาห์) และค่าเตรียมเส้นเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม พร้อมอุปกรณ์ในอัตราไม่เกิน 20,000 บาท ต่อรายต่อ 2 ปี

- การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวรในอัตราไม่เกิน 20,000 บาท ต่อเดือน ค่าผ่าตัดวางท่อรับส่งน้ำยาเข้าออกทางช่องท้อง พร้อมอุปกรณ์ในอัตราไม่เกิน 20,000 บาท ต่อรายต่อ 2 ปี

- การปลูกถ่ายไต เป็นค่าใช้จ่ายก่อนการผ่าตัดในอัตราไม่เกิน 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนเกินอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกันตน

- ค่าใช้จ่ายระหว่างผ่าตัดปลูกถ่ายไต เหมาจ่ายในอัตรา 230,000 บาท

- ค่ายากดภูมิคุ้มกันภายหลังการผ่าตัดในปีแรก เหมาจ่ายเดือนที่ 1-6 เดือนละ 30,000 บาท เดือนที่ 7-12 เดือนละ 20,000 บาท ปีที่ 2 เหมาจ่ายเดือนละ 15,000 บาท และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป เหมาจ่ายในอัตรา 10,000 บาทต่อเดือน

- ค่ายา Erythropoietin ตามระดับความเข้มข้นของโลหิต ตั้งแต่สัปดาห์ละ 375 บาท (ขนาดไม่น้อยกว่า 2,000 IU) และ 750 บาท (ขนาดไม่น้อยกว่า 4,000 IU)

ผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่มีสิทธิรับบริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไต ต้องเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีหน้าที่การทำงานของไตเสียไปอย่างถาวร เกินกว่าร้อยละ 95 โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากผลเลือด ผลปัสสาวะและขนาดของไต ยกเว้นกรณีปลูกถ่ายไตต้องไม่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมาก่อนการเป็นผู้ประกันตน

คราวที่ยื่นขอใช้สิทธิ ซึ่งในการพิจารณาอนุมัติสิทธิฯ แต่ละครั้งเป็นไปด้วยความรอบคอบ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแพทย์หรือผู้ที่คณะกรรมการการแพทย์มอบหมายก่อนทุกราย โดยผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอรับสิทธิการบำบัดทดแทนไตต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่ท่านประสงค์จะใช้สิทธิ

การบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างช่องท้องด้วยน้ำยาถาวรนั้น มีสถานพยาบาล ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลบำบัดทดแทนไตกับสำนักงานประกันสังคม จำนวน 44 แห่ง ( ข้อมูลถึงเดือน ก.ย.2553 )

ส่วนสถานพยาบาลที่ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศจำนวน 351 แห่ง ( ข้อมูลถึงเดือน ก.ย.2553 )

ด้านการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องได้รับการอนุมัติและจัดสถานพยาบาลที่จะทำการปลูกถ่ายไตให้ก่อนที่จะทำการผ่าตัด โดยสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกรณีปลูกถ่ายไตกับ สปส. ในปัจจุบันมีจำนวน 14 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลรามาธิบดี 2.โรงพยาบาลศิริราช 3.โรงพยาบาล ราชวิถี 4.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 5.โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 6.โรงพยาบาลตำรวจ 7.โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 8.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 9.โรงพยาบาลชลบุรี 10.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 11.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น 12.วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล 13.โรงพยาบาลสงขลา และ 14.โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก

อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้ห่างไกลจากโรค นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

------------------------------------------------------------------------

ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506 www.sso.go.th