ปัญหาและข้อบกพร่องที่พบในธุรกิจรับทำบัญชีในปริมาณสูง

สรุปปัญหาและข้อบกพร่องที่พบในการดำเนินการตามโครงการวิเคราะห์งบการเงินและตรวจสอบบัญชีธุรกิจที่ผู้ทำบัญชีรับทำบัญชีในปริมาณสูง

1. ปัญหาและข้อบกพร่องเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี เช่น บันทึกบัญชีโดยไม่มีเอกสารที่ต้องใช้ ประกอบการลงบัญชี หรือเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไม่สมบูรณ์ หรือมีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการ ลงบัญชี แต่ไม่บันทึกบัญชี สรุปได้ ดังนี้
1.1 ไม่มีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี หรือเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี สำหรับรายการที่เกิดขึ้นระหว่างกิจการกับกรรมการ เช่น รายการรับ-จ่ายเงินยืมกรรมการ
1.2 เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ไม่น่าเชื่อถือ ขาดข้อมูลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เช่น
(1) เอกสารภายในที่ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจัดทำขึ้นเพื่อใช้อ้างอิงการบันทึก รายการบัญชีและเป็นหลักฐานในการจ่ายเงิน แต่ไม่มีลายมือชื่อผู้รับเงิน
(2) ใบเสร็จรับเงินไม่มีชื่อที่อยู่ของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ไม่มีเลขที่ หรือไม่มีรายละเอียดรายการว่าเป็นรายการรับเงินจากการขายสินค้าหรือบริการ
(3) ใบส่งของชั่วคราว ใบส่งของที่ไม่มีชื่อ/ที่อยู่ หรือไม่มีรายละเอียดสินค้าหรือบริการที่ใช้
1.3 บันทึกรายการในบัญชี โดยไม่มีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี

2. ข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับการบันทึกบัญชี
2.1 ข้อบกพร่องในการบันทึกบัญชีเงินสด และบัญชีรายวันขั้นต้นต่างๆ
(1) บันทึกบัญชีไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เช่น
- บันทึกรายการซื้อสินค้าเป็นเงินสด โดยใช้ใบส่งของ / ใบกำกับภาษี เป็นหลักฐานประกอบการลงบัญชีโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน
- บันทึกรายการซื้อสินค้าเป็นเงินสด แต่จากเอกสารที่ต้องใช้ประกอบ การลงบัญชี ซึ่งเป็นใบสำคัญจ่ายปรากฎว่า มีการจ่ายชำระเป็นเช็คผ่านธนาคาร
- แสดงรายการเงินสดในระหว่างปีเป็นยอดติดลบบางเดือน แต่แสดงยอดคงเหลือปลายงวด  โดยปรับกับบัญชีเงินกู้ยืมกรรมการ และบัญชีธนาคารเมื่อสิ้นงวด หรือระหว่างงวดบัญชี
- บันทึกรายการรับชำระหนี้ที่ได้รับเป็นเงินสดหรือเงินฝากธนาคารเป็นลูกหนี้การค้า
- บันทึกรายการจ่ายชำระหนี้ที่จ่ายเป็นเงินสดหรือเงินฝากธนาคารเป็นเจ้าหนี้การค้า
- นำค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ของกิจการมาบันทึกบัญชี

(2) บันทึกรายการในบัญชีไม่เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เช่น
- ไม่บันทึกรายการปิดบัญชีในบัญชีรายวันทั่วไป
- ไม่บันทึกรายการกำไร(ขาดทุน)สุทธิประจำปีในบัญชีกำไร(ขาดทุน)สะสม
- บันทึกการจ่ายชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ โดยไม่บันทึกรายการดอกเบี้ยจ่ายจากการเช่าซื้อรอตัดบัญชีและดอกเบี้ยเช่าซื้อ ซึ่งจะทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายตามงวดที่ถึงกำหนดชำระ
- บันทึกรายการค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี โดยนำค่าเสื่อมไปหักกับสินทรัพย์โดยตรง

2.2 ข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับบัญชีแยกประเภท เช่น
(1) ไม่เปิดบัญชีแยกประเภทบางบัญชี เช่น บัญชีสินค้า บัญชีธนาคาร บัญชีเจ้าหนี้การค้า
(2) บัญชีแยกประเภทแสดงยอดยกมาต้นงวดไม่ตรงกับยอดคงเหลือในงบการเงินปีก่อน

3. ข้อบกพร่องเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงิน และการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน
3.1 แสดงรายการในงบการเงินไม่เป็นไปตามแบบรายการย่อ หรือแสดงรายการไม่ตรงตามหมวดหมู่ตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2544
3.2 แสดงรายการในงบกำไรขาดทุนไม่สอดคล้องกับหมายเหตุประกอบงบการเงิน
3.3 งบดุลแสดงรายการกู้ยืมเงินจากกรรมการ แต่ไม่เปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

----------------------------------------------

สำนักกำกับดูแลธุรกิจ

ภาษีอุปการะคนพิการ

ปุจฉา การหักลดหย่อนค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพมีหลักเกณฑ์อย่างไร

วิสัชนา ได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 37) พ.ศ.2552 โดยเพิ่มค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ ที่เป็นบิดามารดา สามีหรือภริยาบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ บิดามารดา หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ หรือบุคคลอื่นที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถนำค่าอุปการะเลี้ยงดูบุคคลดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ได้คนละ 60,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งจำนวนคนพิการและคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2552

รายการหักลดหย่อนดังกล่าว ให้หักลดหย่อนสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ.2552 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ.2553 เป็นต้นไป

ปุจฉา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งจำนวนคนพิการและคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ใน การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพตามมาตรา 47 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) มีอย่างไร

วิสัชนา ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อน สำหรับบุคคลซึ่งเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือบุคคลซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ คนละ 60,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1. คนพิการหรือคนทุพพลภาพดังกล่าวต้องเป็นบุคคลดังนี้
  (1) บิดามารดา ของผู้มีเงินได้
  (2) บิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
  (3) สามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้
  (4) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้
  (5) บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
  (6) บุคคลอื่นนอกจาก (1)(2)(3)(4) และ (5) ที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ จำนวน 1 คน

กรณีทุพพลภาพ ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ ตรวจและแสดงความเห็นว่าบุคคลตาม (1)(2)(3)(4) และ (5) มีภาวะจำกัดหรือขาดความ สามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจาก สาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน

2. บุคคลซึ่งเป็นคนพิการหรือคนทุพพลภาพดังกล่าวต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท ในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อน โดยไม่รวมถึงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี เงินได้ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีบุคคลดังกล่าว เป็นทั้งคนพิการ และเป็นคนทุพพลภาพ ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนได้ในฐานะคนพิการเพียงฐานะเดียว

3. ผู้มีเงินได้นั้นต้องเป็น “ผู้ดูแลคนพิการ” ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคนพิการในระหว่างปีภาษีให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็น ผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการคนสุดท้ายในปีภาษีนั้น เป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน

4. ผู้มีเงินได้ต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้มาแสดงเพื่อขอใช้สิทธิหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ
  (1) ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าบุคคลตาม 1. มีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคล ทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่อง มาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน และใบรับรองแพทย์ดังกล่าวต้องเป็นใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ หักลดหย่อน

กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ดังกล่าว ให้ผู้มีเงินได้ทุกคน ทำความตกลงเป็นหนังสือ เพื่อยินยอมให้ผู้มีเงินได้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะ เลี้ยงดูโดยผู้มีเงินได้ทุกคนดังกล่าวเป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น เพื่อให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ ใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู

(2) หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ ที่รับรองว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุคคลซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ โดยผู้รับรองต้องเป็นสามีภริยาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมหรือ หลาน หรือบิดามารดา หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอา ของบุคคลซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคคลที่เป็นสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ที่บุคคลซึ่ง เป็นคนทุพพลภาพอยู่อาศัย โดยหนังสือรับรองดังกล่าว ผู้รับรองต้องรับรองของแต่ละปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนผู้ รับรองตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และรับรองผู้มีเงินได้ ได้ไม่เกิน 1 คน สำหรับการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพคนหนึ่งคนใด

5. การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพตามประกาศนี้ให้หัก ได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่

6. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยง ดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้เฉพาะคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ใน ประเทศไทย

ขอนำเป็นประเด็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากการอุปการะคนพิการ ตามมาตรา 47 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร

ที่ กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ ที่เป็นบิดามารดา สามีหรือภริยา บุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ บิดามารดา บุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ หรือบุคคลอื่นที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถนำค่าอุปการะเลี้ยงดูบุคคลดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ได้คนละ 60,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งจำนวนคนพิการและคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2552  มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

ปุจฉา มีเงื่อนไขอื่นใดเกี่ยวกับการหักลดหย่อนค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา เงื่อนไขอื่นใดเกี่ยวกับการหักลดหย่อนค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพมีดังนี้

1. คนพิการหรือคนทุพพลภาพไม่ว่าจะเป็น บิดามารดา ของผู้มีเงินได้ หรือบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ หรือสามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ หรือบุคคลอื่นนอกจากบุคคลดังกล่าว ที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ จำนวน 1 คน ที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อน จะต้องเป็นบุคคลที่มีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร

2. การหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้ต้องแนบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย. 04) ซึ่งมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) และแนบหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

(1) กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของบุคคลที่ผู้มี เงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อนพร้อมทั้งภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าว ในส่วนที่แสดงว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วย

(2) กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ ให้แนบหลักฐานดังต่อไปนี้
(ก) ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าบุคคลตาม (1) มีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคล ทั่วไป อันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน และใบรับรองแพทย์ดังกล่าวต้องเป็นใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ หักลดหย่อน

กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบ อนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีใบรับรองแพทย์ดังกล่าว ตกลงกันเพื่อยินยอมให้ผู้มีเงินได้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่า อุปการะเลี้ยงดูตามประกาศนี้ และทำความตกลงเป็นหนังสือโดยผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีใบรับรองแพทย์ดังกล่าว เป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น เพื่อให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ ใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู

(ข) หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย. 04-1) ที่รับรองว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุคคลตาม (1) ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ โดยผู้รับรองต้องเป็นสามีภริยาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมหรือ หลาน หรือบิดามารดา หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอา ของบุคคลตาม (1) ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคคลที่เป็นสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ที่บุคคลตาม (1) ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพอยู่อาศัย โดยหนังสือรับรองดังกล่าว ผู้รับรองต้องรับรองของแต่ละปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนผู้ รับรองตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และรับรองผู้มีเงินได้ ได้ไม่เกิน 1 คน สำหรับการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพคนหนึ่งคนใด

ปุจฉา มีเงื่อนไขเกี่ยวกับหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ กรณีผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้และ อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้วอย่างไร

วิสัชนา กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคน ทุพพลภาพตามหลักเกณฑ์ และคนพิการหรือคนทุพพลภาพดังกล่าวเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของ ผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ และผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้และ อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว โดยภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ซึ่งสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคน ทุพพลภาพ ได้คนละ 30,000 บาท สำหรับบุตรซึ่งเป็นคนพิการหรือคนทุพพลภาพนั้น ตามมาตรา 57 เบญจ (2) แห่งประมวลรัษฎากร สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ต้องแนบหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

(1) ภาพถ่าย แบบ ล.ย. 04 ของผู้มีเงินได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ได้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายนั้น

(2) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการของบุคคลที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อน พร้อมทั้งภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าวในส่วนที่แสดงว่าผู้มีเงินได้ เป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วย และภาพถ่ายใบรับรองแพทย์จากแพทย์และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู คนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย. 04-1) ของผู้มีเงินได้ ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ได้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายนั้น

ที่มา..http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/tax/20100120/96271/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%283%29.html