กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบ และแนะนำเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับ กิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 ซึ่งต่อเนื่องกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังต่อไปนี้
ปุจฉา ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่เป็นบุคคลธรรมดามีหน้าที่เสียภาษีอย่างไร
วิสัชนา กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน เป็นบุคคลธรรมดามีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้
1. ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของค่าตอบแทนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท และในกรณีที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จากนายจ้างอื่นด้วย ให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ที่ได้รับ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
3. ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งมีเงินได้ดังกล่าว ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นฝ่ายภริยา และได้อยู่ร่วมกันกับสามีตลอดปีภาษีในปีที่มีเงินได้ ให้ถือเอาเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ปุจฉา ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัทประกันชีวิต เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่ อย่างไร
วิสัชนา กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน มีหลักฐานในการประกอบกิจการให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง ว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจ และสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ ซึ่งมีลักษณะการประกอบกิจการดังนี้ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
1. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและ
2. ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือเช่าจากบุคคลอื่น โดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน และ
3. มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และ
4. มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด. 1 ก.
5. มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า และ
6. มีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้
ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและ สมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ หากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนไม่สามารถพิสูจน์รายจ่าย และไม่มีหลักฐานในการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนดังกล่าว ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษี ดังนี้
1. ค่าตอบแทนที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมกับชำระภาษีภายในเดือน กันยายนของทุกปีภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
2. ค่าตอบแทนที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมกับชำระภาษีภายในเดือน มีนาคมของปีถัดไป โดยให้นำภาษีที่ชำระไว้แล้วตาม (ก) มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้ ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นฝ่ายภริยาและได้อยู่ร่วมกันกับสามีตลอดปีภาษีในปีที่ มีเงินได้ ให้ถือเอาเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ปุจฉา กรมสรรพากรมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เกี่ยวกับกรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ซึ่งได้มีการรวมกับบุคคลอื่นในลักษณะเป็นกลุ่มหรือทีมหรือในลักษณะทำนอง เดียวกันในการหาผู้เอาประกันชีวิต โดยตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ เป็นตัวแทนหรือนายหน้าเพียงคนเดียว แต่ปรากฏหลักฐานว่าให้มีการรับเงินค่าตอบแทนในชื่อบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้รับค่าตอบแทนจริงหรือไม่
วิสัชนา กรณีนี้ให้ถือว่า ค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินได้ของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนนั้นทั้งจำนวน
ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545
มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา คำว่า “ตัวแทน” “นายหน้า” และ “หัวหน้าตัวแทน” หมายความว่าอย่างไร
วิสัชนา คำว่า “ตัวแทน” หมายความว่า ตัวแทนประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต รวมทั้งบุคคลซึ่งทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับตัวแทนประกันชีวิตให้แก่ บุคคลใดๆ
คำว่า “นายหน้า” หมายความว่า นายหน้าประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และหมายความรวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับนายหน้าประกัน ชีวิตให้แก่บุคคลใดๆ
คำว่า “หัวหน้าตัวแทน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อตกลงหรือข้อผูกพันกับบริษัทประกันชีวิตให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ นำกลุ่มซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือด้วยประการอื่นใด แก่ตัวแทนที่อยู่ในกลุ่มหรืออยู่ในทีมหรือในลักษณะทำนองเดียวกับกลุ่ม หรือทีม ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าเขต หรือหัวหน้าภาค หรือเรียกเป็นอย่างอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน โดยจะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันชีวิต
ปุจฉา คำว่า “ค่าตอบแทน” หมายความว่าอย่างไร
วิสัชนา คำว่า “ค่าตอบแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่คำนวณได้เป็นเงิน รวมทั้งค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นค่าบำเหน็จ ค่าธรรมเนียม ส่วนลด รางวัล โบนัส หรือเรียกเป็นอย่างอื่นที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับเนื่อง จากการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน เช่น
ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทประกัน ชีวิตได้ให้ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ หรือไปสัมมนาที่ต่างประเทศ มูลค่าของประโยชน์ที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากการไปท่อง เที่ยวหรือสัมมนาในต่างประเทศดังกล่าว ถือเป็นค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัท ประกันชีวิตที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วย
บริษัทประกันชีวิตมีนโยบายให้รางวัลแก่ตัวแทนประกันชีวิต หรือนายหน้าประกันชีวิตหรือหัวหน้าตัวแทน ที่ทำผลงานได้ดีเด่น หรือทำรายได้ได้ตามเป้า ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทประกันชีวิตกำหนดไว้ โดยให้รางวัลเป็นเงินหรือทรัพย์สิน รางวัลดังกล่าวย่อมถือเป็นค่า ตอบแทนของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิต ซึ่งต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วย
ปุจฉา ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีหน้าที่เสียภาษี มูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
วิสัชนา การให้บริการของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนแก่บริษัทประกันชีวิต หรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำรายรับซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
1. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ.2548 จึงไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
หากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนดังกล่าว ประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้กระทำได้โดยให้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 81/3 (2) และมาตรา 85/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยรวมอย่างไร
วิสัชนา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบุคคลใดๆ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อกรมสรรพากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
ในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าตอบแทนที่จ่ายให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่มีการ รวมกลุ่มกับบุคคลอื่นในลักษณะรวมกันเป็นทีมหรือกลุ่มหรือในลักษณะทำนองเดียว กันในการหาผู้เอาประกันชีวิต โดยผู้จ่ายต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่ง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าเพียงคนเดียว แต่ปรากฏหลักฐานว่าให้มีการรับเงินค่าตอบแทนในชื่อบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้รับค่าตอบแทนจริงหรือไม่ ให้ถือว่าการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว เป็นการจ่ายให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนนั้นทั้งจำนวน เช่น นาย ก. เป็นตัวแทนประกันชีวิต ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตตามกรมธรรม์ที่นาย ก. เป็นตัวแทนในการหาประกันชีวิตแต่เพียงผู้เดียว แต่ได้มีการจ่ายค่าตอบแทนในชื่อของบุคคลอื่นที่อยู่ในกลุ่มหรือทีมในการหา ประกันชีวิตของนาย ก. ด้วย ถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้นาย ก. เพียงคนเดียว
ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์