เงินได้จากการเลิกจ้าง ที่ได้รับการยกเว้นภาษี

ผมเองค่อนข้างสับสนอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้จากการเลิกจ้าง ก็เลยเขียนเป็นบทความสรุปเอาไว้อีกครั้ง ดังนี้

1. เงินชดเชยจากการเลิกจ้างที่ได้รับตามกฎหมายแรงงาน แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือน ค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายแต่ไม่เกิน 300,000 บาท (อ้างอิง กฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ 51 ซึ่งถูกแก้ไขแล้วตาม กฎกระทรวงฉับที่ 217)

กรณีข้างต้นจะเห็นได้ว่าต้องเป็นเงินชดเชยที่ได้รับจากการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน และต้องมีหนังสือรับรองจากนายจ้างเป็นหลักฐาน โดยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้

  • ออกจากงานเพราะสาเหตุใด
  • ผู้ออกจากงานเริ่มทำงานและออกจากงานวัน เดือน ปีใด
  • เงินเดือน 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานแต่ละเดือน

ค่าชดเชยส่วนที่เหลือจากการยกเว้น (กรณีได้รับเงินชดเชยเกิน 300,000 บาท) ให้นำไปรวมคำนวณในแบบ ภงด.91 แต่ถ้าลูกจ้างหรือพนักงานทำงานมาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถเลือกที่จะนำเงินชดเชยส่วนที่เหลือไปแยกคำนวณภาษีตามใบแนบ ภงด.91 แยกต่างหากได้ ซึ่งจะทำให้เสียภาษีน้อยลง (ส่วนที่แยกคำนวณนี้จะไม่ได้รับการยกเว้นเงินได้ 150,000 บาทแรก)

เงินชดเชยอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หากทำงานมาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถใช้สิทธิแยกคำนวณภาษีตามใบแนบแบบ ภงด.91 ได้ (รวมถึงเงินชดเชยจากการเกษียณอายุด้วย)

อ่านบทความภาษีเงินได้ออกจากงานเพิ่มเติม

 

2. เงินได้ที่จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีอยู่ 3 กรณีคือ

  1. ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน กรณีจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี
  2. ลาออกจากกองทุนและลาออกงาน ถ้าอายุงานไม่ถึง 5 ปีจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ถ้าอายุงานเกิน 5 ปี ยกเว้นภาษีจากเงินได้ให้ครึ่งหนึ่ง เงินได้ส่วนที่เหลือสามารถใช้สิทธิแยกยื่นภาษีเงินได้โดยใช้ใบแนบ ภงด.91 ได้
  3. เกษียณอายุ ได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขคือ เป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี อายุไม่น้อยกว่า 55 ปีและเลิกจ้างเพราะเกษียนอายุ

อ่านบทความลาออกจากกองทุนเพิ่มเติม

ทุนจดทะเบียนที่ดีต้องมีการวางแผน

       โดยปกติกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจและต้องการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดนั้น ย่อมต้องกำหนดทุนของบริษัทขึ้นมาตั้งแต่ตอนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ หากแต่ท่านทราบหรือเข้าใจคำว่า “ทุนจดทะเบียน” และ “ทุนเรียกชำระ” หรือไม่ว่ามีความแตกต่างกันเพียงใด และจะมีผลกระทบกับบริษัทของท่านอย่างไรหากขาดการวางแผนที่ดี

       คำว่า “ทุนจดทะเบียน” นั้นคือ ทุนของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือบริคณฑ์สนธิ โดยจะแบ่งเป็นจำนวนหุ้น และราคาต่อหุ้น หรือ ที่เรียกว่าราคาพาร์ ส่วนคำว่า “ทุนเรียกชำระ” คือ เงินที่ได้เรียกชำระจากผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งอาจจะน้อยกว่าหรือเท่ากับ จำนวนทุนจดทะเบียนก็ได้ โดยตามกฎหมายได้กำหนดว่าจะต้องเรียกชำระค่าหุ้นไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน เช่น บริษัท ทุนเหลือเฟือ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นจำนวน 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ผู้ถือหุ้นทั้งหมดต้องชำระค่าหุ้นขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 250,000 บาท หรือ ไม่น้อยกว่าหุ้นละ 25 บาทนั่นเอง

       จำนวนหุ้นและเงินที่ชำระแล้วต่อหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคนนั้น เราสามารถดูได้จากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ แบบ บอจ.5 ที่นำส่งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ตอนจดทะเบียนบริษัท แต่ปัญหาก็คือ บางบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่อาจไม่ทราบข้อกำหนดดังกล่าว จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามแต่ ท่านอาจลงรายการในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามทุนจดทะเบียน ซึ่งเสมือนหนึ่งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า ปัญหาที่ตามมาประการแรกก็คือ เป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบันทึกบัญชีและการคำนวณภาษีเงินได้อีกทอดหนึ่ง

       มองภาพง่าย ๆ ก็คือ ถ้าบริษัท ทุนเหลือเฟือ จำกัด ลงรายการในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า มีเงินชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า 1 ล้านบาท แต่ความเป็นจริงได้มีการชำระค่าหุ้นเพียงแค่ 250,000 บาท เป็นต้น เท่ากับว่าเงินส่วนที่เหลืออีก 750,000 ได้หายออกไปจากบัญชี ในแง่ของการทำบัญชีอาจต้องปรับปรุงรายการ โดยการถือเสมือนว่าผู้ถือหุ้นได้กู้ยืมเงินไปจากบริษัท แต่ในแง่ของกรมสรรพากรจะไม่เพียงแค่เสมือนว่า มีการกู้ยืมเงินไปจากบริษัทเท่านั้น แต่ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสินทรัพย์ที่ต้องคิดค่าตอบแทนหรือคำนวณดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมดังกล่าวด้วย

       ท่านเอสเอ็มอีคงเริ่มเห็นความยุ่งยากที่ตามมาเพราะการคำนวณดอกเบี้ยรับเข้าไปในงบการเงินย่อมหมายถึงการเพิ่มฐานกำไรสุทธิในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือถึงแม้ว่า เราจะไม่ปรับปรุงรายการเข้าไปในงบการเงินแต่ในการคำนวณภาษีก็ยังคงต้องปรับเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยรับเข้าไปอยู่ดี

       ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะเริ่มจดทะเบียนบริษัท จึงควรวางแผนเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนให้ดีเสียก่อนว่า ระดับทุนเท่าใดที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจและผู้ถือหุ้นมีความสามารถชำระค่าหุ้นได้ และ ควรแจ้งข้อมูลที่เป็นจริงแก่กระทรวงพาณิชย์ในการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาทุนเกินเงิน ดังที่กล่าวมาแล้ว
       อย่างไรก็ตาม ท่านเอสเอ็มอี ที่ได้ประสบปัญหาดังกล่าวอยู่ ก็ยังพอมีทางเลือกให้ปฏิบัติอยู่บ้าง ได้แก่

       • การลดทุนจดทะเบียนให้เท่ากับทุนที่มีอยู่จริง
       • เรียกชำระค่าหุ้นให้ครบจำนวนตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
       • คำนวณดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม โดยรวมคำนวณเป็นรายได้ดอกเบี้ยรับเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

       ทางเลือกที่ 3 ออกจะเป็นทางเลือกที่ไม่น่าเลือกเท่าไรเพราะดูเหมือนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่บริษัทของเราเลย อีกทั้งยังต้องเสียภาษีโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ดังนั้น แนะนำว่าท่านเอสเอ็มอี ควรวางแผนให้ถูกต้องตั้งแต่แรกจะเป็นการดีที่สุด


* * * บทความโดย : ดุลวรรณ์ สกุลดี * * *

ที่มา..ผู้จัดการออนไลน์

อัตราค่าแรงขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

ครม.มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในอัตรา 1-8 บาท จำนวน 71  จังหวัด และอีก 5 จังหวัด มีมติให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในอัตราเดิม ตามที่คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเสนอ ไม่ปรับ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 

ทั้งนี้ มีจังหวัดที่ไม่ปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 5 จังหวัด และปรับค่าจ้างแรงงาน 71 จังหวัด โดย 5 จังหวัดที่ไม่ปรับ ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน อัตราค่าจ้าง 151 บาท สุโขทัย 153 บาท เชียงราย 157 บาท เพชรบูรณ์  155 บาท และอุทัยธานี 158 บาท

ส่วนอีก 71 จังหวัดมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1-8 บาท ประกอบด้วย จังหวัดที่ปรับค่าจ้าง 1 บาท มี 7 จังหวัดได้แก่   น่าน ปรับจาก 151 บาท เป็น 152 บาทพะเยา ปรับจาก 150 บาท เป็น 151 บาท  แพร่ ปรับจาก 150 บาท เป็น 151 บาท  พิษณุโลก ปรับจาก 152 บาทเป็น 153 บาท อุตรดิตถ์ ปรับจาก 152 บาท เป็น 153 บาท พิจิตร ปรับจาก 150 บาท เป็น 151  บาท เลย ปรับจาก162 บาท เป็น 163 บาท

จังหวัดที่ปรับค่าจ้างเพิ่ม 2 บาทรวม 20  จังหวัด ได้แก่  ลำปาง ปรับจาก 154 บาท เป็น 156 บาท    ตาก ปรับจาก151 บาท เป็น 153 บาท กำแพงเพชร ปรับจาก 156 บาท เป็น 158 บาท หนองคาย ปรับจาก 157 บาทเป็น 159 บาท อุดรธานี ปรับจาก 157 บาทเป็น 159 บาท หนองบัวลำภู ปรับจาก 154 บาท เป็น 156 บาท นครพนม ปรับจาก 153 บาท เป็น 155 บาท มุกดาหาร ปรับจาก 153 บาท เป็น 155 บาท สกลนคร ปรับจาก 155 บาทเป็น 157 บาท กาฬสินธุ์ ปรับจาก 155 บาท เป็น 157 บาท สุรินทร์ ปรับจาก 151 บาท เป็น 153 บาท บุรีรัมย์ ปรับจาก 155 บาท เป็น 157 บาท อำนาจเจริญ ปรับจาก 153  บาทเป็น 155 บาท ศรีสะเกษ ปรับจาก 150 บาท เป็น 152 บาท ยโสธร ปรับจาก 155 บาท เป็น 157 บาท ชุมพร ปรับจาก 158 บาท เป็น 160 บาท นนทบุรี ปรับจาก 203 บาท เป็น 205 บาท ปทุมธานี ปรับจาก 203 บาท เป็น 205 บาท  นครปฐม ปรับจาก 203 บาท เป็น 205 บาท และสมุทรสาคร ปรับจาก 203 บาท เป็น 205 บาท

อีก 11 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 3 บาท  ได้แก่  เชียงใหม่ ปรับจาก 168 บาท เป็น 171 บาท นครสวรรค์ ปรับจาก 155 บาท เป็น 158บาท ราชบุรี ปรับจาก 164 บาท เป็น 167 บาท    สมุทรสงครามปรับจาก 160 บาท เป็น 163 บาท ร้อยเอ็ด ปรับจาก 154 บาท เป็น 157 บาท    ขอนแก่น ปรับจาก 154 บาท เป็น 157 บาท    มหาสารคาม ปรับจาก 151 บาท เป็น 154 บาท    นครราชสีมา ปรับจาก 170 บาท เป็น 173 บาทสระแก้ว ปรับจาก 160บาท เป็น 163 บาท  กรุงเทพมหานคร ปรับจาก 203 บาท เป็น 206 บาท และสมุทรปราการ ปรับจาก 203 บาท เป็น 206บาท  

สำหรับ 20 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 4 บาท ประกอบด้วย ลำพูน ปรับจาก 156 บาท เป็น 160 บาท นครนายก ปรับจาก 156 บาท เป็น160 บาท ชลบุรี ปรับจาก 180 บาท เป็น 184 บาท    จันทบุรี ปรับจาก 163 บาท เป็น 167 บาท ตราด ปรับจาก 156 บาท เป็น 160 บาท ชัยนาท ปรับจาก 154 บาท เป็น 158 บาท สิงห์บุรี ปรับจาก 161 บาท เป็น 165 บาท   อ่างทอง ปรับจาก 161 บาท เป็น 165 บาท    กาญจนบุรีปรับจาก 165 บาท เป็น 169 บาท    สุพรรณบุรี ปรับจาก 154 บาท เป็น 158 บาท เพชรบุรี ปรับจาก 164 บาท เป็น 168 บาท ประจวบคีรีขันธ์ ปรับจาก 160 บาท เป็น 164 บาท  ชัยภูมิ ปรับจาก 152 บาท เป็น 156 บาท  ระนอง ปรับจาก 169 บาท เป็น 173 บาท    สุราษฎร์ธานี ปรับจาก 155 บาทเป็น 159 บาท นครศรีธรรมราช ปรับจาก 155 บาท เป็น 159 บาท  พัทลุง ปรับจาก 155 บาท เป็น 159 บาท   สงขลา ปรับจาก 157 บาท เป็น161 บาท สตูล ปรับจาก 155 บาท เป็น 159 บ าท และปัตตานี ปรับจาก 155 บาท เป็น 159 บาท

6 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 5 บาท ได้แก่  ระยอง ปรับจาก 173 บาท เป็น 178 บาท สระบุรี ปรับจาก 179 บาทเป็น 184 บาท พังงาปรับจาก 168 บาท เป็น 173 บาท กระบี่ ปรับจาก 165 บาท เป็น 170 บาท ตรัง ปรับจาก 157 บาท เป็น 162 บาท และยะลา ปรับจาก 155 บาท เป็น160 บาท  ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดเดียวที่ได้ปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำขึ้นอีก 6 บาท หรือจาก 154 บาท เป็น 160 บาท

ขณะที่ 5 จังหวัดที่ได้ปรับขึ้น 5 บาท ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปรับจาก 173 บาท เป็น 180 บาท ปราจีนบุรี ปรับจาก 163 บาท เป็น 170 บาท ลพบุรี ปรับจาก163 บาทเป็น 170 บาท นราธิวาส ปรับจาก 153 บาทเป็น 160 บาท ภูเก็ต ปรับจาก 197 บาทเป็น 204 บาท  ด้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ปรับขึ้น 8 บาทจาก 173 บาท เป็น 181 บาท

ดูตารางสรุป

MinimumWage-2553-rz

หลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

“ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี” หมายความว่า นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙

“ทุน” หมายความว่า ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด ทุนชำระแล้วของบริษัทมหาชนจำกัด ส่วนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเงินที่ผู้เป็น
หุ้นส่วนหรือสมาชิกนำมาลงหุ้นในนิติบุคคลอื่น

“รายได้” หมายความว่า รายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามประเภทหนึ่งประเภทใดรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันมาพร้อมกับการยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี การเพิ่มทุนหรือลดทุนของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในระหว่างรอบปีบัญชีไม่กระทบต่อจำนวนหลักประกันที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้จัดให้มีแล้วในรอบปีบัญชีนั้น

ประเภทของหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ได้แก่

  1. เงินฝากสถาบันการเงินในประเทศประเภทฝากประจำตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
  2. บัตรเงินฝากซึ่งสถาบันการเงินในประเทศออกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานการฝากเงินของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้น
  3. พันธบัตรรัฐบาลไทยที่จำหน่ายในราชอาณาจักร
  4. พันธบัตรองค์การหรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
  5. กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชีของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

     หลักประกันข้างต้นต้องปราศจากภาระผูกพัน

จำนวนของหลักประกันตามข้อ (2) (3) และ (4) ให้ถือตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตราสารนั้น ส่วนหลักประกันตามข้อ (5) ให้ถือตามจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องดำรงหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการ

ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีทุกปี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชี ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันในระหว่างรอบปีบัญชี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีแจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันหรือการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกสภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนด

ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่จดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีอยู่แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ต้องจัดให้มีหลักประกันประเภทหนึ่งประเภทใดรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมาแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายใน 60 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพประกอบกิจการไม่ถึงหนึ่งรอบปีบัญชี ต้องจัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันที่แจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชี

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ บัญญัติให้นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ ต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตามประเภท จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เอกสารอ้างอิง : หลักประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ภาษีเงินได้ นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นวิธีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ทั้ง ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย รวมทั้งกิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบกิจการใน ประเทศไทย หรือกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย หรือมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการ ซึ่งมีเงินได้ที่มิใช่มูลนิธิ หรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสาธารณ กุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้รับเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร จากรัฐบาล องค์การของรัฐบาลทั้งหลาย จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา ผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง

วิสัชนา ผู้จ่ายเงินได้ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ในกรณีนี้ ได้แก่
1. รัฐบาล

2. องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล ได้แก่
              (1) กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด
             (2) มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหลาย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น
            (3) โรงพยาบาลของรัฐบาล และองค์การของรัฐบาลทั้งหลาย เช่น ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ เป็นต้น

3. กิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น ได้แก่
           (1) รัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การนิคมแห่งประเทศไทย องค์การค้าของคุรุสภา โรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์การเภสัชกรรม องค์การสงเคราะห์สวนยางแห่งประเทศไทย องค์การทหารผ่านศึก เป็นต้น

            (2) องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล สุขาภิบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด องค์การบริหารราชการส่วนตำบล และองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

             (3) กองทุนสวัสดิการที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ (ดูพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยยกเว้นรัษฎากร) (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2547

              (4) หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ ซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เช่น องค์การค้าของคุรุสภา โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง คณะกรรมการจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ เป็นต้น

4. ตัวแทนของรัฐบาล หรือตัวแทนขององค์การของรัฐบาลดังกล่าวข้างต้น

ปุจฉา มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไร

วิสัชนา กรณีส่วนราชการจัดซื้อ หรือจ้างทำของเพื่อใช้ในราชการต้องออกใบสั่งซื้อ หรือสั่งจ้าง แต่ในบางกรณีผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ซื้อหรือผู้จ้างต้องไปรับของ ณ ที่ทำการของผู้ขายหรือผู้รับจ้าง และต้องชำระเงินค่าของทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการจำเป็นต้องยืมเงินราชการไปจ่ายค่าซื้อหรือค่า จ้างทำของนั้นเช่นนี้ ส่วนราชการจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา  50 (4)  หรือมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อส่วนราชการได้ออกใบสั่งซื้อหรือใบสั่งจ้างโดยตรงเท่านั้น กรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ยืมเงินทดรองของส่วนราชการไปซื้อสินค้าหรือจ้างทำของ ณ สถานที่ของผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เจ้าหน้าที่ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำของแต่อย่างใด เพราะยังไม่ถือว่าส่วนราชการเป็นผู้จ่าย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/14408 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2537)

กรณีที่เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการใดๆ ได้ยืมเงินทดรองส่วนราชการนั้นๆ ไปซื้อสินค้าหรือจ้างทำของ ณ สถานที่ของผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งกรมสรรพากรวางแนวตามหนังสือตอบข้อหารือว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำของแต่อย่างใด  เพราะยังไม่ถือว่าส่วนราชการเป็นผู้จ่าย ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงของการกระทำของเจ้าหน้าที่ประกอบกับเอกสารหลักฐาน ต่างๆ จนเป็นที่แน่ชัดว่า ส่วนราชการนั้นๆ มิได้เป็นผู้จ่ายเงินได้ การกระทำดังกล่าวจึงจะถือได้ว่า ส่วนราชการนั้นไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่ถ้าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการนั้นกระทำในนามตัวแทนของส่วน ราชการ โดยมีหลักฐานแจ้งชัดว่า เจ้าหน้าที่ได้ระบุให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างระบุชื่อส่วนราชการนั้นๆ ในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี เจ้าหน้าที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ว่าจ้างคนนั้นยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายในฐานะตัวแทนของส่วนราชการนั้น ตามหลัก "ตัวการมีหน้าที่โดยประการใด ตัวแทนย่อมมีหน้าที่โดยประการนั้น"

ปุจฉา เงินได้ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร มีอย่างไรบ้าง

วิสัชนา เงินได้ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้แก่ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ทุกประเภท ตั้งแต่เงินได้ตามมาตรา 40 (2) ถึง (8) ดังนี้

1. เงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากการรับทำงานให้

2. เงินได้ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือค่าแห่งสิทธิอย่างอื่น

3. เงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้า บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดอกเบี้ยพันธบัตรที่องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ของรัฐวิสาหกิจ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้กู้ เป็นต้น

4. เงินได้ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าอาคารสถานที่ ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าเช่าเครื่องจักร และอุปกรณ์ เป็นต้น

5. เงินได้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น เงินได้จากการประกอบโรคศิลป์ กฎหมาย บัญชี วิศวกรรม สถาปัตยกรรม หรือประณีตศิลปกรรม

6. เงินได้ตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับเหมาต้องจัด หาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การจ้างเหมาก่อสร้าง การจ้างเหมาติดตั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ การจ้างเหมาตกแต่ง เป็นต้น

7. เงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในกรณีนี้ ได้แก่ เงินได้จาก การธุรกิจ เช่น ค่าจ้างทำความสะอาด ค่าจ้างเฝ้ายาม หรือค่ารักษาความปลอดภัย ค่าที่พักในโรงแรม ค่าอาหาร ค่าบริการตามสัญญาจัดจ้างอื่นๆ เป็นต้น การพาณิชย์ เช่น ค่าจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือ เช่น ค่าจ้างเหมาขนส่ง เป็นต้น และการอื่นใดที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (1)  ถึง (7) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น รางวัลจากการประกวด การแข่งขัน เป็นต้น

ปุจฉา เงินได้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่ไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร มีประการใดหรือไม่

วิสัชนา เงินได้พึงประเมินกรณีดังกล่าว ได้แก่
1. เงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หรือ

2. เงินได้ตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้ง ขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา ผู้มีเงินได้ใดบ้างที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

วิสัชนา ผู้มีเงินได้ที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในกรณีนี้ ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังต่อไปนี้
1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทย
3. กิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรในประเทศไทย โดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
4.  กิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย
5. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีเงินได้ ที่มิใช่มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้ เป็นองค์การสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร 

ปุจฉา อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ กำหนดไว้อย่างไร

วิสัชนา ให้รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นผู้จ่ายเงินได้ตามข้อ 1 คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับเงินได้พึงประเมินที่มีจำนวนตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16)) แต่ทั้งนี้ ไม่รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กองสลากจ่ายค่าซื้อกระดาษให้แก่บริษัทจำกัดแห่งหนึ่งจำนวน 1,000,000 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 เป็นเงิน 70,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,070,000 บาท เช่นนี้ ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของราคาสินค้าเท่านั้น คิดเป็นเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย (1,000,000 x 1%) = 10,000 บาท 

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์