ไม่มีใบกำกับภาษี ขอคืนภาษีซื้อได้หรือไม่

ใบกำกับภาษีเป็นเอกสารสำคัญอย่างยิ่งในการใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอคืนภาษีซื้อ (ในการนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย) แต่มีปัญหาว่า ถ้าผู้ประกอบการไม่มีใบกำกับภาษีซื้อมาลง จะมีวิธีใดบ้างที่จะนำใบกำกับภาษีมาขอคืนหรือขอเครดิตภาษีได้ ในกรณีนี้ผู้ประกอบการต้องย้อนกลับไปหาสาเหตุก่อนว่า ทำไมจึงไม่มีใบกำกับภาษีซื้อ แล้วจึงค่อยหาทางแก้ไขเพื่อที่จะให้ได้เอกสารที่จะนำมาแทนใบกำกับภาษีซื้อได้ ทั้งนี้ใบกำกับภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายได้ต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

1.กรณีใบกำกับภาษีซื้อสูญหาย

วิธีการแก้ไข ให้จัดหาใบแทนใบกำกับภาษีเพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการขอคือหรือขอเครดิตภาษี ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับการขอใบแทนใบกำกับภาษี มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ให้การขอใบแทนใบ กำกับภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษี ทำได้ดังนี้

(1) ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีถ่ายสำเนาใบกำกับภาษี

(2) ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีบันทึกรายการ ดังต่อไปนี้ ลงในภาพถ่ายหรือด้านหลังภาพถ่าย

  • (ก) ใบแทนออกให้ครั้งที่
  • (ข) วัน เดือน ปี ที่ออกใบแทน
  • (ค) คำอธิบายย่อๆ ถึงสาเหตุที่ออกใบแทน
  • (ง) ลงลายมือขื่อของผู้ออกใบแทน ทั้งนี้ ให้ผู้ออกใบแทนใบกำกับภาษีบันทึก รายการตาม (ก) - (ง) ลงในหลังสำเนาใบกำกับ ภาษีที่อยู่กับตนเอง และไปบันทึกรายการออกใบ แทนในรายงานภาษีขายด้วย

2. กรณีไม่มีใบกำกับภาษีซื้อเพราะผู้ออกใบกำกับภาษี ระบุชื่อผิดไป

กรณีนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้ออกใบกำกับภาษีระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษี ผิดไปโดยระบุเป็นชื่อบุคคลอื่น ทำให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่มีใบกำกับภาษีซื้อที่เป็นชื่อของตนเอง มาแสดง

วิธีการแก้ไข ผู้ที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าว จะต้องไปร้องขอต่อผู้ออกใบกำกับภาษีให้ยกเลิก ใบกำกับภาษีฉบับดังกล่าว และให้ออกใบกำกับภาษี ฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่ยกเลิกนั้น ระบุรายการของใบกำกับภาษี และชื่อของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/25421 ข้อ 25 ดังนี้

(1) ผู้ออกใบกำกับภาษีดำเนินการเรืยกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิม และนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือ ขีดฆ่า แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม

(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ

(3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทน ฉบับเดิม เล่มที่…. ,เลขที่…." และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือน ภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

มีปัญหาอยู่ว่า ก้าผู้ออกใบกำกับภาษีไม่ยอมยกเลิก ใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ผู้ขื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะต้องทำอย่างไร?

ตามกฎหมายแล้วยังไม่มีการกำหนดบังคับให้ผู้ออกใบกำกับภาษีต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจึงควรร้องขอให้ผู้ออกใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิก และออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยอาจใช้เหตุผลทางความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เพราะถ้าไม่มีใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว ก็ไม่มีทางที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมาใช้ได้

3. กรณีผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่ออกใบกำกับภาษีให้

ทำให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่มีใบกำกับภาษี ผู้ซื้อสามารถแจ้งให้ผู้ขายสินค้าออกใบกำกับภาษีตามกฎหมาย เพราะการไม่ออกใบกำกับภาษีมีความผิดตามกฎหมายทั้งทางอาญาและต้องรับผิด เสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม อีกด้วย

ที่มา..สรรพากรสาส์น