STOCK สินค้าสำคัญแค่ไหน

ความสำคัญของ STOCK สินค้า

และแล้วฤดูกาลของการตรวจนับสินค้าคง เหลือปลายปี (ending inventory) ก็เวียนมาอีกครั้ง ทำให้พนักงานบริษัทต่างๆ ต้องเหน็ดเหนื่อย (อีกแล้ว) ต้องฝืนกลั้นใจจากฝุ่น หรือกลิ่นสินค้า (จำพวกสารเคมี ฯ) เพื่อนับยอด เคลียร์ยอด สินค้าปลายปีกันเป็นประเพณีปีละครั้งเพื่อนำผลการตรวจนับไปบันทึกบัญชี และแจ้งในงบดุลส่งกระทรวงพาณิชย์ และกรมสรรพากร ตามลำดับ

แน่นอนว่าปริมาณสินค้าที่สูญหาย ขาดเกินจากสมุดสต็อกย่อมมีผลกระทบต่องบการเงิน ต่อการบันทึกบัญชีและภาษีอากร โดยเฉพาะในแง่ VAT นั้นจะมีโทษปรับสูงเสียด้วย แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขปมปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร หรือไม่? ลองติดตามดูกันไปดีกว่า….

1. ธุรกิจใด ต้องตรวจนับสต็อกบ้าง?

เนื่องจากมาตรฐานการบัญชี (ฉบับที่ 31) ของ ‘สมาคมนักบัญชีและ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย’ ได้ให้นิยาม ‘สินค้าคงเหลือ’ ว่าหมายถึง สินค้าสำเร็จรูป (finished goods) สินค้าระหว่างผลิต (work in process) และวัตถุดิบ (raw material) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ธุรกิจใดก็ตามที่มีสินค้าหรือวัตถุดิบในครอบครองล้วนต้องทำการ ตรวจนับสินค้าปลายปีทั้งสิ้น อาทิเช่น การผลิตสินค้า รับเหมาก่อสร้าง ซื้อมาขายไป การนำเข้าและส่งออก เป็นต้น

กิจการผลิตสินค้าดูจะยุ่งยากกว่า กิจการอื่นๆ เพราะต้องทำการตรวจนับทั้งวัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะพบว่ายอดตามผลการตรวจนับจริง มักจะแตกต่างจากยอดตามสมุดบัญชีคุมสินค้าอยู่เนืองๆ สาเหตุเกิดได้ในทุกช่วงของการผลิต ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบมา ซึ่งอาจมีปริมาณไม่ครบถ้วนตามใบกำกับสินค้า เนื่องจากมีการระเหิด ระเหย ชำรุด สูญหาย หรือผิดพลาดจากการชั่งตวงวัดก็เป็นได้ทั้งนั้น

ช่วงระหว่างการผลิต ก็จะเกิดปัญหาจากส่วนสูญเสียหรือเศษซากการผลิต รวมทั้งการหย่อนประสิทธิภาพในขณะผลิต หรือสินค้าเสียหายมาก เกินมาตรฐาน เป็นต้น

กิจการให้บริการ ซึ่งมองดูผิวเผินก็มักจะคิดว่าไม่ต้องทำการตรวจนับสินค้าอะไร (เพราะไม่มีตัวสินค้าให้ตรวจนับ) แต่อย่าลืมว่ากิจการเหล่านี้อาจต้องใช้วัสดุ อะไหล่ต่างๆ ในการให้บริการ เช่น อู่ซ่อมรถต้องมีสต็อกอะไหล่หลายๆ ชนิด หรือกิจการรับเหมาก่อสร้างก็ต้องใช้อิฐ หิน ดิน ทราย และเหล็ก ในการรับจ้างก่อสร้าง เป็นต้น ดังนั้นธุรกิจเหล่านี้ก็จำเป็นต้องทำการตรวจนับอะไหล่ หรือวัตถุดิบต่างๆ ที่คงเหลือตอนปลายปีด้วย เพื่อการบันทึกบัญชี และคำนวณต้นทุนของงานบริการ เป็นต้น

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กับ ‘สินค้าคงเหลือ’

มาตรา 65 ทวิ (6) บัญญัติว่า “ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุน หรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าและให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคง เหลือยกมา สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย”

จากบทบัญญัติข้างต้น แสดงว่ากฎหมายภาษีอากรยอมรับวิธีปฏิบัติที่ตรงกันกับกฎหมายบัญชีด้วย นั่นคือ เมื่อมีการตรวจนับสินค้าปลายงวดแล้ว จะต้องให้ผู้ตีราคาอิสระมาทำการแยกแยะและตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดออกมา แล้วถือเอาราคาทุนหรือราคาตลาดที่ต่ำกว่า (lower of cost or market value (LCM)) เป็นราคาสินค้าคงเหลือปลายปี และยกไปต้นปีถัดไป

ณ จุดนี้ จะมีปัญหาที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก เมื่อปริมาณที่ตรวจนับได้ มีความแตกต่างจากยอด ตามบัญชีคุมสินค้า บริษัทต้องปรับปรุงบัญชีอย่างไร ?

หลักการมีอยู่ว่า ให้บริษัทถือยอดตามผลการตรวจนับได้เป็นยอดที่ถูกต้อง แล้วทำการปรับปรุงการบันทึกบัญชีเสียใหม่ ดังนี้ครับ….

1. กรณีบันทึกสินค้าคงเหลือด้วยวิธี periodic inventory method บริษัทเพียงปรับปรุงปริมาณสินค้า ตามสมุดสต็อก (บัญชีย่อย) ให้ตรงตามผลการตรวจนับและให้นำมูลค่าสินค้าคงเหลือตามที่ตรวจนับและตีราคา ไว้ ไปบันทึกบัญชี ถือเป็น ‘สินค้าคงเหลือปลายงวด’ ในงบการเงินได้เลย ผลจากการปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้ ต้นทุนสินค้าที่ขายได้แบกรับมูลค่าสินค้าขาดเกินจากบัญชีคุมฯ โดยปริยาย

2. กรณีบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือด้วยวิธี perpetual inventory method บริษัทจะต้องปรับปรุงบัญชี ‘สินค้าคงเหลือ’ และ ‘ต้นทุนขาย’ เสียใหม่ให้ตรงตามผลการตรวจนับ ซึ่งจะมีผลให้ยอดตามบัญชีทั้งสองเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามยอดสินค้าที่ขาดหรือเกินไปตามลำดับ

ประเด็นที่สอง มีปัญหาว่าสินค้าที่ขาดหายไปจะต้องถือเป็นการขาย ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) หรือไม่?

ในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่ากรมสรรพากรไม่มีอำนาจประเมินมูลค่าสินค้าที่ขาดหาย และถือเป็นการขาย ทั้งนี้เพราะบริษัทมิได้มีการจำหน่ายจ่ายโอนสินค้าใดๆ ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร (ในทางปฏิบัติมักมีการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีดังกล่าวอยู่ เนืองๆ)

3. VAT กับ ‘สต็อกสินค้า’

กฎหมาย VAT มีบทลงโทษ สำหรับสินค้าขาดหรือเกินจาก ‘รายงานสินค้าและวัตถุดิบ’ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการทำการตรวจนับเอง (นับบ่อยก็จะโดนบ่อย) หรือเกิดจากการบุกเข้าตรวจปฏิบัติการของเจ้าพนักงานฯ (ดังตาราง)

มีข้อสังเกตว่าบทลงโทษจะรุนแรงมาก สำหรับกรณีมีสินค้าหรือวัตถุดิบขาดจากบัญชีคุมสินค้า (รายงานสินค้าและวัตถุดิบ) ทั้งนี้เพราะผู้ยกร่างกฎหมายมุ่งที่จะป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี แต่ดาบนี้ได้สร้างปัญหาให้กิจการต่างๆ ต้องถูกลงโทษทั้งๆ ที่สุจริต ที่บอกว่าสุจริตเพราะเป็นธรรมชาติของทุกกิจการที่ต้องมีสินค้าหรือวัตถุดิบ ขาดเกินไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานาอันเป็นปกติวิสัยทางการค้า อาทิเช่น ความผิดพลาดจากการชั่งตวงวัดสำหรับสินค้า (หรือวัตถุดิบ) ชนิดน้ำ หรือชนิดผง หรือในบางธุรกรรมที่มีสต็อกมากถึง 30,000 ชนิด (เช่น อะไหล่ยนต์) ก็มีโอกาสผิดพลาด และสับสนในการตัดสต็อกได้บ่อยๆ เป็นต้น

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว จึงควรแก้กฎหมายให้มีบทลงโทษ เฉพาะในกรณีที่ถูกตรวจปฏิบัติการจากเจ้าพนักงาน หรือกรณีที่มีหลักฐานว่ามีการฉ้อฉลเท่านั้น หาไม่แล้วก็รังแต่จะเป็นการเร่งผลักให้บริษัทต่างๆ ต้องตะกายหาช่องหลบภัยกันจ้าละหวั่น

ตัวอย่าง ‘บริษัท 8-12 จำกัด’ ผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ต้องทำการตรวจเช็คสต็อกสินค้าทุกๆ เดือน เพราะสินค้ามีมากชนิด และส่วนใหญ่เป็นชิ้นเล็กๆ ง่ายต่อการซื้อขาย และหยิบฉวย (โดยไม่จ่ายสตางค์) ดังนั้น การตรวจนับบ่อยๆ จึงเป็นวิธีควบคุมภายในที่ดีอย่างหนึ่ง

แต่ร้าน ‘8-12’ หารู้ไม่ว่า ‘รายงานผลการตรวจนับสินค้า’ ทุกๆ เดือนที่เก็บไว้ที่แผนกบัญชีนั้น ไม่ต่างจากการนอนกอดขีปนาวุธ ‘โทมาฮอร์ค’ สักเท่าใด…ถ้า ‘สรรพากร’ ยึดไปได้ละก็ คุณเอ๋ย ลองเหลียวดูโทษข้างต้นสักหน่อยซิ !…ดังนั้น ที่ปรึกษาของร้านจึงมักแนะนำให้ ‘8-12’ ลงบัญชีสต็อกแบบ Sooking Account (คือ ซุกใต้โต๊ะ) เสียเลย อย่าให้ ‘สรรพากร’ ทราบเป็นเด็ดขาดเชียว !

4. อวสาน…ด้วยน้ำตาของผู้ตรวจนับ

สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมมีจุด อ่อนเป็นธรรมดา อาทิเช่น งูย่อมแพ้เชือกกล้วย มหันตไฟจะถูกดับด้วยน้ำ (เท่านั้น)…ฟุตบอลไทย ก็แพ้ทาง ‘กาตาร์’ (ในโดฮาเกมส์) โดยที่ ‘ปาฏิหาริย์’ ไม่ยอมมาตามนัด…เป็นต้น

กฎหมาย VAT ก็ไม่อาจหลีกหนีจากสัจธรรมดังกล่าว…แต่ผู้เขียนมองเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำ พอสังเขป ดังนี้ครับ

1. การมีสินค้าเกินจากรายงานฯ มีโทษต่ำมากๆ…ถ้าจะพึงผิดพลาดแล้วไซร้ การมีสินค้าเกินย่อมดีกว่าขาด

2. หลายๆ บริษัท นิยมเพ่งกสิณ (หรือที่พวกโหรนิยมเรียก ‘นั่งเทียน’) แทนการตรวจนับจริง…ซึ่งเมื่อ ลืมตาขึ้นก็สามารถสรุป (เอาเอง) ว่า “ผลการตรวจนับของข้าพเจ้า ได้ผลตรงกับยอดในบัญชีสต็อกเปี๊ยบเลย”

3. บางท่านหัวเสธ. รู้ดีและรู้ลึก ก็เลยไม่ค่อยยอมทำบัญชีคุมสินค้าเสียดื้อๆ โดยอ้างว่าของอยู่ในมือเซลส์แมนบ้าง นำไปขายตามงานแสดงสินค้าบ้าง (เป็นสถานประกอบการชั่วคราว).…กรณีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับให้ต้องโชว์สต็อก ตามกฎหมาย VAT จ้า…เออแน่ะ ! เข้าใจคิดแฮะ

ฯลฯ

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงออกจะเห็นใจผู้มีหน้าที่ตรวจนับสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของบริษัทต่างๆ ซึ่งนอกจากจะต้องมานั่งหลังขดหลังแข็ง เข้าไปทำงานในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า แทนที่จะได้ Happy New Year (ท่ามกลางพลุระเบิด (แฮ่ๆ)) เหมือนชาวบ้านทั่วไปแล้ว พวกเขายังต้องมีผลงานเป็นที่ถูกใจของบุคคลอีก 3 ฝ่ายด้วยคือ (1) เจ้านายตัวเอง (2) ผู้สอบบัญชี และ (3) สรรพากร

โดยเฉพาะในรายที่ 3 นี่ ถ้าบริษัทเกิดเผลอไปสะดุดบ่วงภาษีเข้า นอกจากตัวบริษัทจะม่อยแล้ว ตัวผู้นับเอง ก็อาจโดนยึดอั้งเปา (โบนัส) ส่งท้ายปี 2549 เป็นบำเหน็จความเหนื่อยบวกข้อหา “ทิ้งสเปโตให้ ‘สรรพากร’ น็อคมืด จนบริษัทต้องเสียค่าโฮ่”….เฮ้อ! Amazing Inventory & VAT จริงๆ!


ที่มา  :  กรุงเทพธุรกิจ  19/1/2550   โดย  อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์

หุ้น..แจ้งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า

“แจ้งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าเลยดีไหม” 

การเรียกชำระค่าหุ้น...100% (แบบโอเว่อร์เกินจริง) มันเป็นเทคนิคการจดทะเบียนอย่างหนึ่งที่ชอบใช้กันเสมอ พบได้ทั่วไป ซึ่งหลายท่านดำเนินการจดทะเบียนโดยไม่ได้ศึกษาถึงรายละเอียดผลดีผลเสีย วิธีการจัดการให้ดีซะก่อน จึงเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมายเลยทีเดียว
      สมมุติว่า นายจิตร่วมกับญาติ และเพื่อนๆ ตั้งบริษัทขึ้นมาแห่งหนึ่ง มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยนายจิตเป็นกรรมการบริษัทแต่เพียงผู้เดียว ได้ดำเนินการจดทะเบียนจนแล้วเสร็จและได้รับหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ มาไว้ในครอบครองเป็นที่เรียบร้อย โดยระบุว่าบริษัทได้มีการรับชำระทุนจดทะเบียนจากผู้ถือหุ้นเต็มมูลค่าครบ ทั้ง 10 ล้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  แต่ข้อเท็จจริงคือ นายจิตมีเงินค่าหุ้นที่ได้รับชำระแล้วเข้าบริษัทจริงๆ แค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลืออีก 9 ล้าน...เป็นแค่เพียงอากาศเท่านั้น ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นที่เป็นญาติ และเพื่อนๆ นั้น แค่ขอยืมชื่อเขามาใส่ถือคนละหุ้น เพื่อให้ครบจำนวนก็แค่นั้นเอง ไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าหุ้นให้นายจิต จริงแต่อย่างใด
      การจดทะเบียนโดยเรียกชำระค่าหุ้นเต็ม 100% แบบหลอกๆ (หรือที่มักเรียกกันว่า หุ้นลม) อย่างนี้ ทำให้นายจิตซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทมีสภาพเป็น "ลูกหนี้เงินกู้ยืมจากบริษัท" ไปในบัดดล เหตุผล ที่ทำให้นายจิตกลายเป็นลูกหนี้ของบริษัท ก็เพราะในตอนที่ประชุมจัดตั้งบริษัทนั้น กฎหมายได้กำหนดให้กรรมการชุดแรกของบริษัทเป็นผู้เรียก และรับชำระเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้น ก่อนจะนำเอกสารต่างๆ ไปจดทะเบียนตั้งบริษัท
      โดยที่เอกสารชุดที่นำไปขอจดทะเบียน จะมีรายงานอยู่ฉบับหนึ่งที่กรรมการต้องเซ็นต์ชื่อรับรองว่า "มีการเรียกและรับชำระค่าหุ้นมาแล้วเป็นจำนวนเท่าใด" ซึ่งนายจิตก็ได้เซ็นต์ชื่อรับรองไปว่าได้รับค่าหุ้นมาครบแล้ว 10 ล้าน โรคจิตสมชื่อจริงๆ... (นี่คือเทคนิคที่เขาชอบแนะนำให้ทำกัน) และตอนไปจดทะเบียนเจ้าหน้าที่ ที่รับจดทะเบียนเขาไม่ได้ขอตรวจนับเงินกันจริงๆ ซะด้วยสิ....เริ่มสนุกแล้วสิ
      และเมื่อถึงสิ้นปี บริษัทต้องจัดทำงบการเงินให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรอง พอผู้สอบบัญชีเขาตรวจดูก็จะทราบทันที ว่าอะไรเป็นอะไร(อ๋อ....จดทะเบียนแบบนี้กันอีกแล้ว)
      เมื่อมีเงินไม่ครบ แล้วจะทำไงล่ะครับทีนี้…… ไม่ยากครับผู้สอบบัญชีก็ต้องให้ลงเป็นลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการบริษัทไปก็เท่านั่นเองครับ (ผู้สอบบัญชีคงไม่ยอมเสี่ยงคุกกับกรรมการด้วยแน่ๆ) เพราะเอกสารหลักฐานบ่งบอก และตามกฎหมายอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า " กรรมการเป็นคนรับผิดชอบเงินค่าหุ้นทั้งหมด ที่รับมาก่อนจะจดทะเบียนบริษัท ดังนั้น ถ้ามีส่วนขาดหายไปกรรมการบริษัทต้องเป็นผู้รับผิดชอบ"
ประเด็นต่อมา คือ เมื่อบริษัทให้บุคคลภายนอก (กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น) กู้ยืมเงินไป จะต้องคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ ซึ่ง ในกรณีนี้ก็คือ นายจิตกรรมการโรคจิตของเรานั่นเอง จะไม่คิดดอกเบี้ยไม่ได้ครับ......เฮียสรรพากรแกคงไม่ยอมเป็นแน่ครับ เพราะถือว่า บริษัทเสียประโยชน์จากการนำเงินส่วนนั้นไปหารายได้ให้งอกเงยขึ้นมา (อย่างน้อยๆ ก็ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารไงครับ) ทำให้บริษัทมีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้เฮียแกเก็บภาษีจากบริษัทได้น้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง....ส่วนวิธีการคิดการคิดดอกเบี้ยก็ ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารพาณิชย์เป็นเกณฑ์
      ท้ายสุดนายจิต ไม่รู้จะนำเงินจากไหนมาจ่าย ก็ดอกเบี้ยที่คำนวณได้ตั้ง 450,000 บาท.....! (9,000,000 * 5%) ทำให้ยอดรายได้เพิ่ม และก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เเต่เงินที่มีอยู่ในบริษัทก่อนหน้านี้ก็ใช้ดำเนินงานไปจนไม่เหลือหรอ แถมจนป่านยังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้สักบาท เลยต้องไปหากู้เงินมาจ่ายภาษีแทนบริษัท ครั้นจะบอกความจริง กับเฮียแก ก็กลัวว่าจะโดนเฮียแกแจ้งจับ ข้อหาแจ้งความเท็จต่อทางราชการ (กระทรวงพาณิชย์) ที่มีโทษทั้งจำและปรับ หรือถ้าจะปิดบริษัทหนี งานนี้มีหวังโดนหนักกว่าเดิมครับ เพราะนอกจากจะโดนข้อหาข้างต้นแล้ว ยังจะโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาจ่ายภาษีอีก 2 เด้งครับงานนี้ อยู่ดีๆ ก็เป็นหนี้ 2 ก้อนเลย ไหนจะหนี้จากบริษัทตัวเอง แล้วยังมีหนี้ที่ไปกู้เงินมาเพื่อจ่ายภาษีให้กับบริษัทอีก นะคนเรา...... 
“แล้วความผิดตามกฎหมาย!!......นะเขาว่ายังไงกัน”

      ต่อกันกันอีกนิดสำหรับเรื่องหุ้นลม ว่าชะตาชีวิตของนายจิตจะเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากที่ต้องเป็นลูกหนี้เงินกู้ ยืมกรรมการไปแล้ว นายจิตได้ตั้งข้อสังเกตว่าแล้วสามารถ ใช้วิธีทางการบัญชีโดยสร้างค่าใช้จ่าย ให้เกิดขึ้น แล้วล้างบัญชีลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการออกไป ก็ได้นี่ อันนี้ก็ทำได้ครับ(แถมเป็นที่นิยมอีกต่างหาก) แต่ขอบอกไว้ก่อนนะครับว่าผิดกฎหมายนะ (วางแผนให้ดีอย่าให้ถูกจับได้ละ) จะไม่ผิดได้ไง....ก็สร้างหลักฐานเท็จกันเห็นๆ แถมค่าใช้จ่ายที่ต้องสร้างขึ้นก็จะเป็นจำพวก ค่าบริการ ค่าที่ปรึกษาต่างๆ ซึ่งเมื่อจ่ายเงินออกไป (แม้ไม่ได้จ่ายจริงก็ตาม) จำเป็นต้อง หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งเฮียสรรพากรแกอีกต่างหากแล้วถ้าเฮียแกจับได้อีกละว่าเป็นรายการเท็จ ......เฮ้อ ทำให้ถูกต้องซะแต่ทีแรกก็หมดเรื่องแล้ว นี่ดีนะว่าเรื่องนี้เกิดกับบริษัทของนายจิตเองเพียงคนเดียว ชื่อคนอื่นที่ใส่ไว้ก็แค่ให้ครบจำนวนเท่านั้น ถ้ามีคนอื่นมาถือหุ้นใหญ่ร่วมบริหารงานด้วยจะเป็นไงบ้างน้อ....ไม่อยากจะคิด คงวุ่นวานน่าดู
      กลับมาต่อกันในเรื่องความผิดตามกฎหมายดีกว่า สิ่งนายจิตจะต้องโดนอะไรบ้าง หลังจากที่ตัวเองต้องเป็นหนี้บริษัทเพราะความไม่รู้เรื่องของตัวเองแล้วแท้ๆ นายจิตคงไม่รู้ด้วยซ้ำครับว่าตนเองแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ตั้ง บริษัท จะไม่ให้ผิดได้อย่างไรละครับก็ตัวมีเงินแค่ 1,000,000 บาท ดันทะลึ่งไปแจ้งว่าได้รับชำระค่าหุ้นเต็มแล้วเป็นจำนวน 10,000,000 บาท อย่างนี้ก็โดนเต็มๆ ครับ ตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดฯ มาตรา 15 บริษัทจำกัดใดลงพิมพ์หรือแสดงจำนวนต้นทุนของบริษัทโดยฝ่าฝืนมาตรา 1149 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (เป็นโทษปรับบริษัท)
ส่วน ตัวนายจิตนั้นจะมีโทษตามมาตรา 25 ในกรณีที่บริษัทจำกัดใดกระทำความผิดตามมาตรา 7 ถึงมาตรา 24 กรรมการของบริษัทนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกิน 50,000 บาท

      เกิดวันดีคืน แจ็คพ็อต มีคนแอบไปแจ้งความกล่าวโทษนายจิต ว่ากระทำผิดกฎหมายละก็!...นี่ยังไม่ได้ตรวจดูอีกนะว่าบริษัท ของนายจิต ได้เคยมีการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นภายใน 6 เดือนนับแต่จัดตั้งบริษัทและให้มีการประชุมอย่างว่าอีกอย่างน้อยปีละครั้ง หรือเปล่า....มีการจัดทำใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือเปล่า...ได้ทำบัญชีถูก ต้องหรือไม่..ฯลฯ ทุกข้อที่กล่าวมาถ้ามีการตรวจแล้วไม่กระทำมีความผิดนะครับจะหาว่าผมไม่เตือน ไม่ได้นะ
      คิดๆดูแล้วก็น่าเห็นใจผู้ประกอบการนะครับ คิดที่จะทำตัวให้เป็นพลเมืองดีที่ทำถูกต้องตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ แต่ทำไมมันถึงทำยากเย็นนักนะ แต่ถึงจะด้วย เหตุผลใดก็ตามแต่ผู้ประกอบการไทยยังคงละเลยถึงความรู้ทางด้านกฎหมาย บัญชี ภาษี การบริหารองค์กร ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นไม่แพ้เรื่อง จะขายยังไงให้ได้……ครับ

ที่มา...www.smethaiclub.com (หุ้น...ลมๆ...แล้งๆ)

TAX POINT จุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อผู้ประกอบการได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ ต้องทำอยู่ 3 อย่างคือ

1.ต้องออกใบกำกับภาษี เมื่อมีการขายหรือการให้บริการ
2.ต้องจัดทำรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม
3.ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30

แต่เรามักจะพบว่า แล้วเราควรจะออกใบกำกับภาษีเมื่อใด เพราะกิจการแต่ละประเภทธุรกิจ มีความแตกต่างกันในลักษณะขั้นตอนการดำเนินงาน จุดความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่ม(Tax Point) ก็แตกต่างกันไปด้วย พอจะจำแนกแนววิธีปฏิบัติของความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 4 แนวทาง คือ

1.ธุรกิจขายสินค้า

1.1 การขายสินค้าทั่วไป จุดความรับผิดชอบ(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า แต่หากมีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้า ก็ให้จุดความรับผิดเกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ

        ก.การโอนกรรมสิทธิ์สินค้า 
        ข.ได้รับชำระค่าสินค้า
        ค.ได้ออกใบกำกับภาษี

1.2 การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อ / สัญญาซื้อขายผ่อนชำระ โดยที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่ได้โอนไปให้ผู้ซื้อ  โดยผู้ซื้อได้รับมอบสินค้าไปแล้ว จุดความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม(Tax Point) ให้เกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตาม  งวดที่ถึงกำหนดในแต่ละงวด แม้ยังไม่ได้รับเงินค่างวด ยกเว้นหากมีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาในแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าจุดความรับผิด เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ                                      

        ก.ได้รับชำระราคาสินค้า
        ข.ได้ออกใบกำกับภาษี

1.3 การขายสินค้า โดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขาย  ใน กรณีที่มีการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าและได้ส่งมอบสินค้า   ให้กับตัวแทนแล้วนั้น โดยที่ตัวแทนขายนั้นจะต้องได้รับการแต่งตั้งเพื่อขาย ตามประเภทของสินค้าและ เป็นไปตามหลักเกณฑ์   ตามที่รัฐมนตรีกำหนด  จุดความรับผิดทางภาษี(Tax Point)จะเกิดขึ้น ต่อเมื่อตัวแทนขายได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ เว้นแต่มีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้น ก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ

        ก.ตัวแทนโอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ
        ข.ตัวแทนได้รับชำระค่าสินค้า
        ค.ตัวแทนได้นำสินค้าไปใช้ โดยตัวแทนเองหรือคนอื่น
        ง.ได้ออกใบกำกับภาษี

1.4 การขายสินค้าโดยการส่งออก
        ก.การส่งออกสินค้า ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อ
          - มีการชำระอากรขาออก
          - มีการวางหลักประกันอากรขาออก
          - จัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก
        ข.การส่งออกสินค้า ในกรณีที่นำสินค้าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อ วันที่นำสินค้าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
        ค.การส่งออกสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของศุลกากร ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้น พร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายของกรมศุลกากร

1.5 การขายสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าว อันทำให้ผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า

2.ธุรกิจให้บริการ

2.1 การให้บริการทั่วไป

จุดความรับผิด(Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระราคาค่าบริการนั้น ๆ เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point)นั้นเกิดขึ้นทันที ที่มีการกระทำนั้น ๆ
        ก.ได้ใช้บริการนั้น ๆ ด้วยตนเองหรือโดยคนอื่น
        ข.ได้ออกใบกำกับภาษี

2.2 การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของการบริการนั้น ๆ จุดความรับผิด(Tax Point)ตามส่วนของบริการนั้น ๆ เกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระค่าบริการตามส่วนของบริการนั้น ๆ เมื่อการให้บริการนั้น ๆ ตามส่วนเสร็จสิ้นลง เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ก็ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
        ก.ได้ใช้บริการโดยตนเองหรือ คนอื่น
        ข.ได้ออกใบกำกับภาษี
2.3 การให้บริการที่ทำในต่างประเทศ แต่ได้มีการใช้บริการในประเทศไทย จุดความรับผิด(Tax Point)ทั้งหมดหรือบางส่วน เกิดขึ้นเมื่อมีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วน แล้วแต่กรณี

2.4 การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0

ทั้ง นี้ตามมาตรา 80/1 (5) และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในบริการอันทำให้ผู้รับโอนสิทธิ์ในบริการมี หน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/1 (2) ให้ความรับผิด(Tax Point)ทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ

2.5 การขายสินค้าหรือการให้บริการได้รับชำระด้วยเช็ค

ในกรณีนี้ ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้น ตามวันที่ที่ปรากฏในเช็ค ผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษี และใบรับตามวันที่ในเช็ค  แต่ หากได้รับมอบเช็คลงวันที่ที่ผ่านมาแล้ว ก็ให้ผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับลงวันที่ตามวันที่ในเช็คนั้น ๆ ยกเว้นกรณีต่อไปนี้ ให้จัดทำใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ได้รับมอบเช็คเท่านั้น

         ก.กรณีรัฐบาล,องค์การของรัฐบาล,เทศบาล,สุขาภิบาล,อบต.,อบจ.
         ข.กรณีผู้ออกเช็คเป็นบุคคลธรรมดา,บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือนิติบุคคล อื่น ซึ่งได้ออกเอกสารรับรองว่า ได้ส่งมอบเช็คในวัน เดือน ปี ใดและได้ส่งมอบเอกสารดังกล่าว ให้ในวันเดียวกันที่ส่งมอบเช็คนั้น และให้ผู้ประกอบการต้องมีเอกสารดังกล่าวพร้อมให้เจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบ ทันที

3. การนำเข้าสินค้า

1.1 การนำเข้าสินค้าโดยทั่วไป ให้ความรับผิดชอบ(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อ
          - มีการชำระอากรขาเข้า
          - วางหลักประกันอากรขาเข้า
          - มีการจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า

เว้นแต่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้า ก็ให้ถือว่าความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าของกรมศุลกากร

1.2 การนำเข้าสินค้าในราชอาณาจักร เข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก แล้วนำสินค้าดังกล่าว ออกจากเขตฯ โดยมิใช่เพื่อการส่งออก ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นในวันที่ได้มีการนำสินค้าออกจากเขตอุตสาหกรรม

1.3 การนำเข้า กรณีของตกค้างในกรมศุลกากร ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อทางราชการ ได้นำมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย ฯลฯ

1.4 การนำเข้าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรของกรมศุลกากร ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากภายหลังสินค้าดังกล่าว ต้องเสียอากรของกรมศุลกากรผู้รับโอนสินค้าดังกล่าว ต้องรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยให้รับผิดพร้อม ๆ กับความรับผิด(Tax Point)ของกรมศุลกากร

4.การขายสินค้าหรือให้บริการอื่น

4.1 การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิ์ในสิทธิบัตร,กู๊ดวิลส์,การขายสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือสินค้าที่ไม่อาจกำหนดได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบเมื่อใด ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าสินค้า เว้นแต่มีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
          ก.โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
          ข.ได้ออกใบกำกับภาษี

4.2 การขายกระแสไฟฟ้า น้ำประปา หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้ชำระค่าสินค้าหรือได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการได้รับชำระราคาค่าสินค้า ก็ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้ออกใบกำกับภาษี

4.3 การขายสินค้าหรือการให้บริการ ด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยการหยอดเหรียญ, หรือบัตรหรือการกระทำในลักษณะดังกล่าว ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้นำเงิน เหรียญ บัตร หรือสิ่งอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันออกจากเครื่องอัตโนมัติ

4.4 การขายสินค้าโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดชอบ(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้นๆ
          ก.โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
          ข.มีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต
          ค.ได้ออกใบกำกับภาษี

4.5 การขายสินค้าตามสัญญาจะขายสินค้า ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point) เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
          ก.โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
          ข.ได้รับชำระราคาค่าสินค้า
          ค.ได้ออกใบกำกับภาษี

4.6 เมื่อผู้ประกอบการได้นำสินค้าไปใช้โดยตนเองหรือผู้อื่น โดยมิใช่เพื่อการประกอบกิจการโดยตรง (ใช้ส่วนตัว) ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้มีการนำสินค้าไปใช้หรือส่งมอบให้คนอื่นไปใช้

4.7 ในกรณีสินค้าขาดหายจากรายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อตรวจพบ

4.8 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือ หรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี,ใบเพิ่มหนี้,ใบลดหนี้ ต่อไปได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ตามมาตรา 78

4.9 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่มีคำสั่งถอนทะเบียนมูลค่าเพิ่มหรือ ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งถอนหรือได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี,ใบเพิ่มหนี้,ใบลดหนี้ ต่อไปได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ตามมาตรา 78

ที่มา:  www.ThaiTaxINFO.com โดย: MichaelShaw

จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ขั้นตอนและวิธีการ

คำแนะนำการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและห้างหุ้นส่วนจำกัด

จะจัดตั้งห้างหุ้นส่วนได้อย่างไร
การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนั้น เกิดจากการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงที่จะทำการค้าร่วมกัน โดยมุ่งหวังที่จะแบ่งผลกำไรจากการดำเนินกิจการค้านั้น

การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้


ขั้นตอนที่ 1 ทำความตกลงระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนในเรื่องสำคัญ ๆ
          ห้างหุ้นส่วนเป็นรูปแบบการประกอบกิจการค้าที่มีคนหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างประกอบการค้า ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจึงควรทำความตกลงกันในเรื่องสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้ไว้ก่อนให้ชัดเจน

1. จำนวนเงินลงทุนหรือสิ่งที่ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะนำมาลงทุน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถลงทุนด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (ยกเว้นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดจะลงทุนด้วยแรงงานไม่ได้) แต่การลงทุนด้วยทรัพย์สินหรือแรงงาน ต้องตีราคาเป็นจำนวนเงินและกำหนดระยะเวลาชำระเงินหรือสิ่งที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะนำมาลงทุน ซึ่งควรชำระให้ครบก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
2. กำหนดขอบเขตหรือกรอบของกิจการค้าที่ห้างหุ้นส่วนจะประกอบกิจการ หรือที่เรียกว่า “วัตถุที่ประสงค์” ในปัจจุบันส่วนมากจะกำหนดวัตถุประสงค์ไว้หลาย ๆ กิจการ เพื่อความคล่องตัวในการเพิ่มหรือปรับเปลี่ยนกิจการค้า จะได้ไม่ต้องเสียเวลา
ในการดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มหรือเปลี่ยนวัตถุที่ประสงค์ แต่การจดทะเบียนวัตถุที่ประสงค์ไว้
เป็นหลาย ๆ กิจการ นั้นอาจไม่เป็นผลดี เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารประกอบกิจการค้าที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ตนถนัดและให้อำนาจกว้างขวางมากเกินไป *ดูหลักเกณฑ์การกำหนดวัตถุที่ประสงค์*
3. แต่งตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการ (หุ้นส่วนผู้จัดการคือ ผู้ที่จะมีอำนาจกระทำการแทนห้างหุ้นส่วน ซึ่งต้องแต่งตั้งจากหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น)
4. การแบ่งส่วนผลกำไรและขาดทุน
5. เรื่องอื่น ๆ เช่น หลักเกณฑ์และวิธีการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาจัดตั้งห้างเดิม
สถานที่ที่จะใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ ข้อจำกัดในการใช้อำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ และการตั้งผู้ชำระบัญชี เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 ขอตรวจสอบและจองชื่อห้างหุ้นส่วน
          ในปัจจุบันมีการประกอบกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับชื่อที่คล้ายหรือซ้ำกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนขึ้นใหม่ต้องขอตรวจและจองชื่อนิติบุคคลก่อนจะจดทะเบียนจัดตั้ง

ขั้นตอนที่ 3 จัดทำคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบ
          เมื่อผ่านการตรวจและตอบรับจากเจ้าหน้าที่ว่าชื่อที่จะจดทะเบียนไม่คล้ายหรือซ้ำกับชื่อของนิติบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนต้องกรอกรายละเอียด (โดยวิธีการพิมพ์) ในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียนให้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามความเป็นจริงใน
แบบพิมพ์คำขอจดทะเบียน

ขั้นตอนที่ 4 การยื่นขอจดทะเบียน
การยื่นขอจดทะเบียนทำได้ 2 วิธี คือ


1. ยื่นคำขอจดทะเบียนพร้อมเอกสารประกอบต่อนายทะเบียน กรณีนี้
หุ้นส่วนผู้จัดการจะไปยื่นขอจดทะเบียนด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนก็ได้
2. ยื่นขอจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ www.dbd.go.th เพื่อให้นายทะเบียนตรวจพิจารณาคำขอจดทะเบียนก่อน และเมื่อผ่านการตรวจและตอบรับว่าคำขอจดทะเบียนถูกต้องแล้ว ให้ผู้ขอจดทะเบียนสั่งพิมพ์ (print out) เอกสารคำขอจดทะเบียนดังกล่าวให้ผู้เป็นหุ้นส่วนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้าง หลังจากนั้นก็นำไปยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีความรวดเร็วกว่ากรณีการยื่นขอจดทะเบียนตาม 1. มาก เนื่องจากนายทะเบียนจะตรวจเอกสารคำขอจดทะเบียนที่นำมายื่นนั้นว่ามีข้อความถูกต้องตรงกับที่ยื่นไว้ทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่เท่านั้น

ข้อมูลที่ใช้
1. ชื่อของห้างหุ้นส่วน
2. วัตถุประสงค์ของห้าง
3. ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และ/หรือสาขา
4. ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ และสิ่งที่นำมาลงหุ้น
5. ชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ต้องเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด)
กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถเข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ทุกคน
6. ข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการ (ถ้ามี)
7. ตราสำคัญของห้าง *ดูหลักเกณฑ์การกำหนดดวงตรา*

เอกสารและหลักฐานที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน
ในการขอจดทะเบียนต้องเตรียมเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
1. คำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน (แบบ หส. 1)
2. รายการจดทะเบียน (แบบ หส.2) /ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ใช้เฉพาะหน้า 1 และ 3
3. วัตถุประสงค์ (แบบ ว.)
4. แบบ สสช. 1 จำนวน 1 ฉบับ
5. แบบจองชื่อนิติบุคคลที่ยังไม่เกินกำหนด
6. สำเนาบัตรประจำตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน *ดูหลักเกณฑ์เรื่องบัตรประจำตัว*
7. สำเนาหลักฐานการรับชำระเงินลงหุ้นที่ห้างหุ้นส่วนได้ออกให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน
8. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี) *ดูหลักเกณฑ์การลงลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียน*
9. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเองก็มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและปิดอากรแสตมป์ด้วย)
10. กรณีมีคนต่างด้าวลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนตั้งแต่ร้อยละ 40 แต่ไม่ถึงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน หรือมีคนต่างด้าวลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนต่ำกว่า ร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียน แต่คนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนห้างหุ้นส่วน ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนที่มีสัญชาติไทยส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุน ซึ่งปรากฏจำนวนเงินสอดคล้องกับจำนวนเงินที่นำมาลงทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน ดังนี้
     - สำเนาสมุดเงินฝากธนาคาร หรือสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน หรือ
     - เอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรอง หรือแสดงฐานะทางการเงินของผู้ถือหุ้น หรือ
     - สำเนาหลักฐานแสดงแหล่งที่มาของเงินที่นำมาลงทุน
คำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบสามารถขอและซื้อได้ที่หน่วยงานของกรมพัฒนาธุรกิจทุกแห่ง หรือ Download ได้จาก www.dbd.go.th

อัตราค่าธรรมเนียม
1. การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนทุกจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท แห่งทุนที่กำหนดไว้ 100 บาท เศษของ 100,000 บาท ให้คิดเป็น 100,000 บาท ทั้งนี้ รวมกันไม่ให้ต่ำกว่า 1,000 บาท และไม่ให้เกิน 5,000 บาท
2. หนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
3. ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
4. กรณีขอให้นายทะเบียนรับรองสำเนาเอกสารการจดทะเบียน หน้าละ 50 บาท
สถานที่จดทะเบียน
1. สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนได้ที่ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 9 ถนนนนทบุรี 1 จังหวัดนนทบุรี หรือสำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจทั้ง 7 แห่ง *ดูรายละเอียด*
2. สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่จังหวัดอื่น ยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่ห้างหุ้นส่วนมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
3. ยื่นจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ www.dbd.go.th

รูปภาพประกอบ

Partnership

 

 

ที่มา..กระทรวงพาณิชย์

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท รับจดทะเบียนบริษัท และห้างหุ้นส่วน

จดทะเบียนบริษัท จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด (บริการจองชื่อนิติบุคคล บริการจัดเตรียมแบบฟอร์มจดทะเบียน บริการจดทะเบียนจัดตั้งบริคณห์สนธิและจัดตั้งบริษัท ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัท และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และขึ้นทะเบียนประกันสังคม)
จดทะเบียนพาณิชย์ จดทะเบียนร้านค้า จดทะเบียนคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ
จดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลง เช่น แก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการ, เปลี่ยนที่ตั้งสำนักงาน, เพิ่มทุน / ลดทุน อื่นๆ
จดทะเบียนเลิกกิจการและชำระบัญชี ของห้างหุ้นส่วนและบริษัท
ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ของคณะบุคคล หรือนิติบุคคล
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม , ภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมทั้งจดเปลี่ยนแปลงภาษีต่างๆ ต่อกรมสรรพากร ได้แก่ แจ้งย้ายเข้า-ออก, ย้ายที่อยู่, แจ้งเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนลักษณะการประกอบธุรกิจ ฯลฯ
ขึ้นทะเบียนประกันสังคม : นายจ้าง, ลูกจ้าง, แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต่อสำนักงานประกันสังคม
บริการขอหนังสือรับรอง จากกระทรวงพาณิชย์

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ขั้นตอนและวิธีการ

จะดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดภายในหนึ่งวันได้อย่างไร
ในการจัดตั้งบริษัท ถ้าได้ดำเนินการทุกขั้นตอนดังต่อไปนี้ ภายในวันเดียวกับวันที่ผู้เริ่มก่อการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กรรมการจะจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนตั้งบริษัทไปพร้อมกันภายในวันเดียวก็ได้
1. จัดให้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นครบตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะจดทะเบียน
2. ประชุมจัดตั้งบริษัท เพื่อพิจารณากิจการต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108 โดยมีผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนเข้าร่วมประชุม (มอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนได้)
และผู้เริ่มก่อการ และผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคน ให้ความเห็นชอบในกิจการที่ได้ประชุมกันนั้น 1
3. ผู้เริ่มก่อการได้มอบกิจการทั้งปวงให้แก่กรรมการบริษัท
4. กรรมการได้เรียกให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น ใช้เงินค่าหุ้น โดยจะเรียกครั้งเดียวเต็มมูลค่าหรือไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า ตามมาตรา 1110 วรรคสองก็ได้ และผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนได้ชำระเงินค่าหุ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ข้อมูลที่ต้องใช้ในการจัดตั้งบริษัทจำกัด
1. ชื่อของบริษัท (ตามที่ได้จองชื่อไว้) *ดูหลักเกณฑ์การจองชื่อนิติบุคคล*
2. ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ (ตั้งอยู่ ณ จังหวัดใด)
3. วัตถุที่ประสงค์ของบริษัทที่จะประกอบกิจการค้า *ดูหลักเกณฑ์การกำหนดวัตถุที่ประสงค์*
4. ทุนจดทะเบียน จะต้องแบ่งเป็นหุ้นๆ มีมูลค่าหุ้นเท่าๆ กัน (มูลค่าหุ้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท)
5. ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ และจำนวนหุ้นที่ผู้เริ่มก่อการจองซื้อไว้
6. ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ ของพยาน 2 คน
7. อากรแสตมป์ 200 บาท
8. ข้อบังคับ (ถ้ามี)
9. จำนวนทุน (ค่าหุ้น) ที่เรียกชำระแล้ว อย่างน้อยร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน
10. ชื่อ ที่อยู่ อายุของกรรมการ
11. รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท (อำนาจกรรมการ) *ดูตัวอย่างการกำหนดอำนาจกรรมการ*
12. ชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
13. ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
14. ตราสำคัญ *ดูหลักเกณฑ์การกำหนดดวงตรา*
15. ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่/สาขา
บริษัทจะไม่จดทะเบียนตราสำคัญของบริษัทก็ได้ หากว่าอำนาจกรรมการไม่ได้กำหนดให้ต้องประทับตราสำคัญด้วย

เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด
1. คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (แบบ บอจ.1)
2. หนังสือบริคณห์สนธิ (แบบ บอจ.2) ผนึกอากรแสตมป์ 200 บาท
3. รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (แบบ บอจ.3)
4. แบบวัตถุที่ประสงค์ (แบบ ว.)
5. รายละเอียดกรรมการ (แบบ ก.)
6. แบบจองชื่อนิติบุคคล
7. หลักฐานให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ใช้เฉพาะในการประกอบธุรกิจที่มีกฎหมายพิเศษควบคุม เช่น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กิจการข้อมูลเครดิต บริหารสินทรัพย์ กิจการคลังสินค้า กิจการไซโล หรือกิจการห้องเย็น)
8. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)
9. สำเนารายชื่อผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นในการประชุมให้ความเห็นชอบในกิจการที่ได้ประชุมจัดตั้งบริษัทพร้อมลายมือชื่อ
10. สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
11. สำเนาข้อบังคับ ผนึกอากร 200 บาท (ถ้ามี)
12. สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
13. กรณีคนต่างด้าวลงทุนในบริษัทจำกัด ตั้งแต่ร้อยละ 40 แต่ไม่ถึงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน หรือกรณีมีคนต่างด้าวลงทุนในบริษัทจำกัดต่ำกว่าร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียนแต่คนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ให้ผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยทุกคนส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุนที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่ชำระแล้วของผู้ถือหุ้นแต่ละราย อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
     13.1 สำเนาสมุดเงินฝากธนาคาร หรือสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน หรือ
     13.2 เอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรอง หรือแสดงฐานะทางการเงินของผู้ถือหุ้น หรือ
     13.3 สำเนาหลักฐานที่แสดงแหล่งที่มาของเงินที่นำมาชำระค่าหุ้น
14. แบบ สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ
15. สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการที่ลงชื่อในคำขอจดทะเบียน *ดูหลักเกณฑ์เรื่องบัตรประจำตัว*
16. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี) *ดูหลักเกณฑ์การลงลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียน*
17. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง ก็มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและผนึกอากรแสตมป์ด้วย)
แบบพิมพ์จดทะเบียนสามารถขอและซื้อได้จากหน่วยงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือ Download จาก www.dbd.go.th

ค่าธรรมเนียม
1. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิทุกจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท แห่งจำนวนทุนที่กำหนดไว้ 50 บาท เศษของ 100,000 บาท ให้คิดเป็น 100,000 บาท ทั้งนี้รวมกันไม่ให้ต่ำกว่า 500 บาท
และไม่ให้เกิน 25,000 บาท
2.. จดทะเบียนตั้งบริษัทคิดตามทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท แต่ไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และไม่เกิน 250,000 บาท (เศษของแสนคิดเป็นแสน)
3. หนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
4. ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
5. รับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท
สถานที่จดทะเบียน
1. สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนได้ที่ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถนนนนทบุรี 1 จังหวัดนนทบุรี หรือสำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจทั้ง 7 แห่ง *ดูรายละเอียด*
2. สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่จังหวัดอื่น ยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่บริษัทมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
3. ยื่นจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ www.dbd.go.th *ดูคำแนะนำการจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต*

รูปภาพประกอบ
OneDayRegist