ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในปี 2554

ในปี 2554 เป็นปีที่ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 ของการบริการ ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมาได้มุ่งมั่น สร้างสรรค์ หลักประกันของชีวิต ด้วยจิตสำนึกในการให้บริการ การทำงานร่วมกัน เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ โดยมีเป้าหมายสูงสุดของการทำงานคือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ประกันตน ซึ่งในปีนี้ สำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตน ประกอบด้วย

กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ในส่วนกรณีทันตกรรม เดิมผู้ประกันตนมีสิทธิกรณี ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน โดยนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์มาเบิกคืนได้ไม่เกินครั้งละ 250 บาท  ปีละไม่เกิน 500 บาท จะได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นครั้งละไม่เกิน 300 บาท ปีละไม่เกิน 600 บาท และได้เพิ่มสิทธิในการใส่รากฟันเทียม ให้กับผู้ประกันตนที่ประสบอุบัติเหตุ และสูญเสียฟันทั้งปาก หรือ ผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 53 ปีขึ้นไป และสูญเสียฟันทั้งปาก ซึ่งผู้ประกันตนต้องยื่นความจำนงขอรับสิทธิภายใน 90 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ พร้อมรับแบบคำขอและตรวจสอบคุณสมบัติ ของผู้ประกันตนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ โดยสำนักงานประกันสังคม จะส่งผู้ประกันตนพบแพทย์ในโรงพยาบาลโครงการรากฟันเทียมให้ความเห็น ตามใบรับรองแพทย์ที่กำหนด และส่งเรื่องหารือคณะกรรมการการแพทย์ พร้อมแจ้งมติให้ผู้ประกันตนทราบ เพื่อเข้ารับการรักษา โดยสถานพยาบาลในโครงการรากฟันเทียมจะเป็นผู้ขอรับค่าบริการ ทางการแพทย์ หลังจากสิ้นสุดการรักษาเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 16,000 บาทต่อราก และไม่เกินรายละ 2 ราก

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มสิทธิ กรณีผู้ป่วยโรคจิตของกองทุนประกันสังคม จากเดิมที่ผู้ป่วยโรคจิตไม่สามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลตามบัตรรับรอง สิทธิได้ ยกเว้นการป่วยในกรณีเฉียบพลัน  ซึ่งจะต้องเข้ารับการรักษาทันทีภายใน 15 วัน ได้มีการขยายสิทธิการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคจิต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการคุ้มครองและรักษาผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

กรณีทุพพลภาพ จากเดิมผู้ประกันตนเคยได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน เดือนละ 2,000 บาท ในปีนี้ได้เพิ่มเป็นไม่เกิน 4,000 บาท ต่อเดือน ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเอกชน ประเภทผู้ป่วยใน แต่หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐเบิกได้เท่าที่จ่ายจริง รวมทั้งเหมาจ่ายค่าพาหนะเพื่อรับบริการทางแพทย์ไม่เกินเดือนละ 500 บาท

กรณีคลอดบุตร จากเดิมผู้ประกันตนได้รับค่าคลอดบุตร 12,000 บาท ในปีนี้ได้เพิ่มค่าคลอดบุตรเป็นครั้งละ 13,000 บาท นอกจากนี้ผู้ประกันตนหญิงยังคงได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอด บุตรร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน ส่วนผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาไม่ได้เป็นผู้ประกันตนใช้สิทธิได้ 2 ครั้ง

กรณีสงเคราะห์บุตร จากที่ผู้ประกันตนเคยได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 350 บาทต่อบุตร 1 คน สำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์เบิกได้คราวละไม่เกิน 2 คน จะได้เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็นรายละ 400 บาท

ทั้งนี้เฉพาะกรณีสงเคราะห์บุตรให้รอประกาศเป็นกฎกระทรวงก่อน นอกจากนั้น ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ประกันตนทุกคนที่จะได้รับการเพิ่มสิทธิ ประโยชน์ในครั้งนี้ เพราะสำนักงานประกันสังคมได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้ประกันตน ซึ่งเป็นเจ้าของเงินกองทุนประกันสังคมตัวจริง ดังนั้นควรจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ อย่างเต็มที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปนั่นเอง

ที่มา..ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506

อัตราค่าแรงขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554

ข่าวดี! ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 8 - 17 บาท

คณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 8-17 บาท มีผลทันที 1 มกราคมนี้ โดยจังหวัดภูเก็ตได้ปรับขึ้นมากสุด 17 บาท จังหวัดพะเยามีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดของประเทศ ขณะที่องค์การลูกจ้างแห่งประทศไทยยังไม่ยอมรับมติ อ้างบางจังหวัดปรับไม่ถึง 10 บาทตามที่เรียกร้อง เตรียมเคลื่อนไหวต่อ
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่าการพิจารณาปรับค่าจ้างดังกล่าว ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั่วประเทศ โดยยึดตัวเลขที่คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดส่งมา ซึ่งดูจากค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างเป็นหลัก
ซึ่งส่งผลให้แต่ละพื้นที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากัน โดยจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นสูงสุด 17 บาท มี 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต ทำให้เป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดของประเทศ จาก 204 บาท เป็น 221 บาท/วัน
ขณะที่จังหวัดพะเยาปรับขึ้นต่ำสุด 8 บาท/วัน ทำให้ยังเป็นจังหวัดที่มีค่าเเรงขั้นต่ำน้อยที่สุดของประเทศ จากปัจจุบัน 151 บาท วันนี้ปรับให้อีก 8 บาท เป็น 159 บาท/วัน
ส่วนกรุงเทพ และปริมาณฑล ปรับขึ้น 9 - 10 บาท ส่งผลให้กรุงเทพ และปริมณฑลมีค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน จาก 205 - 206 บาท เป็น 215 บาท
การปรับขึ้นค่าจ้างวันนี้ จะมีแรงงานที่กินค่าแรงขั้นต่ำได้ประโยชน์ประมาณ 4 ล้านคนเศษ แยกเป็นคนไทย 2 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวอีกราว 2 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่ประมาณ 14,694 ล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้เกิดการบริโภค จับจ่ายใช้สอยในระบบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ด้านกลุ่มแรงงาน ในนามองค์การลูกจ้างแห่งประทศไทย ที่ชุมนุมกดดันการประชุมอยู่หน้ากระทรวงแรงงาน ไม่ยอมรับอัตราค่าจ้างที่ปรับขึ้น โดยเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะมีจังหวัดที่ปรับขึ้นไม่ถึง 10 บาท มากกว่า 30 จังหวัด ขณะที่ภูเก็ตขึ้นไปถึง 17 บาท โดยทางกลุ่มจะกลับไปกำหนดเเนวทางการเคลื่อนไหว เพื่อกดดันให้เกิดการปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ 10 บาทอีกครั้ง
ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง ยืนยันให้ได้เท่านี้ ที่เหลือรัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้าง 250 บาท /วัน ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ และยังจี้ให้รัฐบาลไปดูราคาสินค้าเพื่อลูกจ้างจะได้ประโยชน์จากค่าจ้างที่ปรับขึ้น
ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยด้วยว่าในอนาคตการกำหนดค่าจ้างจะดูตามมาตรฐานของฝีมือแรงงานเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
สำหรับรายละเอียดการปรับขึ้นค่าจ้างมีดังนี้ / จังหวัดที่ปรับขึ้น 8 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดที่ปรับขึ้น 9 บาท มี 24 จังหวัด ได้แก่ น่าน ตาก สุรินทร์ มหาสารคาม นครพนม ชัยภูมิ ลำปาง หนองบัวลำภู เชียงราย บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ยโสธร สกลนคร ชัยนาท สุพรรณบุรี ตราด ลำพูน สมุทรสงคราม อ่างทอง เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ
จังหวัดที่ปรับขึ้น 10 บาท มี 16 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น กำแพงเพชร หนองคาย นครนายก เลย สระแก้ส นครราชสีมา นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี และสมุทรสาคร
จังหวัดที่ปรับขึ้น 11 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส อุบลราชธานี สิงห์บุรี เพชรบุรี และระยอง
จังหวัดที่ปรับขึ้น 12 บาท มี 10 จังหวัด ได้แก่ เเพร่ พิจิตร สุโขทัย อุดรธานี ยะลา จันทบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี ระนอง และชลบุรี
จังหวัดที่ปรับขึ้น 13 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง ราชบุรี พังงา ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี
จังหวัดที่ปรับขึ้น 14 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สตูล และกระบี่
และสุดท้ายจังหวัดที่ปรับขึ้นสุดสุด 17 บาท มีจังหวัดเดียวคือ ภูเก็ต

ข้อมูลอ้างอิง : ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 5)

ภาษีเบี้ยประกันชีวิต

แต่เดิมเราเคยได้ยินว่า เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ จ่ายให้กรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทฯ แล้วบริษัทฯ มีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรและเพื่อความสะดวกในการแสดงหลักฐาน ให้บริษัทประกันภัยหมายเหตุไว้ในใบเสร็จรับเงินให้มีข้อความว่าเบี้ยประกันชีวิตที่รับนี้จ่ายโดยบริษัท...

เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ ออกให้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานที่ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป โดยบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวด้วย และหากกรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป และบริษัทผู้รับประกันประกอบกิจการในประเทศไทย พนักงานหรือลูกจ้างมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กรณีบริษัทฯ ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารซึ่งมีข้อกำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้กู้ ต้องทำประกันชีวิตกับบริษัทฯ ที่ประกอบกิจการประกันชีวิต โดยใช้กรมธรรม์ที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ความคุ้มครองสินเชื่อของธนาคาร โดยกรมธรรม์ดังกล่าวจะกำหนดให้บริษัทฯ เป็นผู้เอาประกันแต่เพียงผู้เดียวและจะผูกเงื่อนไขการชำระค่าสินไหมทดแทนบนสาเหตุมรณกรรมของกรรมการ ทั้งนี้บริษัทประกันชีวิตจะได้รับอนุมัติจากกรมการประกันภัยให้ออกกรมธรรม์โดยระบุชื่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นผู้เอาประกันได้ และธนาคารฯ จะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แต่เพียงผู้เดียว

ในกรณีที่กรรมการถึงแก่ความตาย และบริษัทประกันชีวิตได้รับหลักฐานการพิสูจน์มรณกรรมของกรรมการแล้ว บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารฯ เท่ากับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระภายใต้สัญญากู้ยืมเงินในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 1 และผลประโยชน์ที่เหลือจะจ่ายให้แก่บริษัทฯ ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 2 ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

ทั้งนี้บริษัทฯจะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันชีวิตจะออกใบเสร็จในนามบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ เป็นคู่สัญญาภายใต้กรมธรรม์และเป็นผู้เอาประกันตามกรมธรรม์

เช่นนี้การทำประกันชีวิตเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ โดยกรรมการหรือบุคคลในครอบครัวมิได้เป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ จากกรมธรรม์ ดังนั้นเบี้ยประกันภัยที่บริษัทฯ จ่ายไปให้กับบริษัทประกันชีวิต จึงเป็นการจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทฯ และไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการแต่อย่างใด (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/ 5745 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2550).

ที่มา : Daily News Online
วันที่ : 28 ธันวาคม 2553