มาตรการภาษีใหม่ ฉบับที่ 14/2551

ฉบับที่ 14 /2551 วันที่ 4 มีนาคม 2551

มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
_____________________

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนกระตุ้นการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. มาตรการภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนและส่งเสริมการออมของภาคครัวเรือน ตลอดจนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม กระทรวงการคลังเห็นควรกำหนดมาตรการภาษีซึ่งเป็นการขยายเพิ่มเติมจากมาตรการเดิมที่ได้เคยดำเนินการมาแล้ว ดังต่อไปนี้

1.1 ปรับเพิ่มเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมที่กำหนดไว้ 100,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 บาท

1.2 ปรับเพิ่มวงเงินการยกเว้นและการหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิต จากเดิมที่กำหนดไว้ 50,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาท

1.3 ปรับเพิ่มวงเงินการหักค่าลดหย่อนเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 300,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 500,000 บาท โดยเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

1.4 ปรับเพิ่มวงเงินการหักค่าลดหย่อนเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 300,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 500,000 บาท

มาตรการข้อ 1.1-1.4 ให้มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

1.5 เพิ่มการหักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส บิดา มารดา บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้หรือคู่สมรส ซึ่งเป็นคนพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และมีบัตรประจำตัวคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยให้หักได้ 30,000 บาท ต่อคนพิการ ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป

2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

เพื่อพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงการคลังเห็นควรกำหนดมาตรการภาษี ดังต่อไปนี้

2.1 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 และมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 1,200,000 บาท ต่อปี ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2553

2.2 ปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท จากเดิมที่จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า โดยกำไรสุทธิในส่วน 1,000,000 บาทแรก จัดเก็บในอัตราร้อยละ 15 กำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท จัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 และกำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท จัดเก็บในอัตราร้อยละ 30 เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท และสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เหลือให้คงจัดเก็บในอัตราเดิม ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

3. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชนไทย

เพื่อเร่งกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลังเห็นควรกำหนดมาตรการภาษีทั้งที่เป็นการขยายเพิ่มเติมจากมาตรการเดิมที่ได้เคยดำเนินการมาแล้วและมาตรการภาษีใหม่ ดังต่อไปนี้

3.1 ให้บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์หรือวัสดุที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานโดยรวมค่าติดตั้ง ได้ 1.25 เท่าของค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

3.2 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตสินค้าหรือให้บริการ ในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามอัตราปกติ ทั้งนี้ ทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

3.3 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้ภายในเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา

3.4 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นของทรัพย์สินประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในวันที่ได้ทรัพย์สินมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา

3.5 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ในอัตราร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุน โดยมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ ใช้สำหรับทรัพย์สินตามมาตรา 4 (5) ของพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 โดยทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

3.6 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่นำหลักทรัพย์เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้
(1) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนเข้าใหม่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่บริษัทได้จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ
(2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนเข้าใหม่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน

ทั้งนี้ บริษัทต้องยื่นคำขอจดทะเบียนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31ธันวาคม พ.ศ. 2551 และได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

3.7 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้
(1) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิสำหรับบริษัทที่เป็นบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) ทั้งนี้ เฉพาะกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551

(2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิสำหรับบริษัทที่เป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SET) ทั้งนี้ เฉพาะกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551

3.8 ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ จากเดิมที่กำหนดไว้อัตราร้อยละ 3 เป็นอัตราร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ทั้งนี้ เฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 1 ปี นับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

3.9 ให้กระทรวงมหาดไทยลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดไปพร้อมกันด้วยกับการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนให้มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ให้มากยิ่งขึ้นซึ่งจะทำให้การประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

(1) ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 0.01 สำหรับกรณีสนับสนุนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้
(ก) เป็นที่ดิน อาคาร หรืออาคารพร้อมที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือที่ดำเนินการจัดสรรที่ดินโดยทางราชการหรือองค์การของรัฐบาลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย และ
(ข) เป็นอาคารประเภทดังต่อไปนี้
- บ้านเดี่ยว
- บ้านแฝด
- บ้านแถว
- อาคารพาณิชย์
(2) ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดร้อยละ 0.01 สำหรับกรณีสนับสนุนการซื้อขายห้องชุด ดังต่อไปนี้
(ก) การโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
(ข) การโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองห้องชุดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

(3) ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงาน ร้อยละ 0.01 สำหรับกรณีสนับสนุนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงาน โดยอาคารสำนักงานต้องเป็นอาคารหรืออาคารพร้อมที่ดินที่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างหรือใบรับแจ้งการก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงานตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมอาคาร

ทั้งนี้ ภายหลังจากมาตรการที่นำเสนอมีผลบังคับใช้ จะมีการออกประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

มาตรการภาษีที่นำเสนอ จะช่วยลดภาระภาษีอันเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาวในประเทศมากขึ้น สนับสนุนการประกอบกิจการของวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับการส่งเสริมให้เกิดปีแห่งการลงทุน (Investment Year) อันจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

ในส่วนผลกระทบรายได้ภาครัฐ คาดว่าจะทำให้รายได้ภาษีอากรลดลงในปีแรก แต่จากการที่เศรษฐกิจขยายตัว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภค และมีการเร่งรัดการลงทุนในส่วนของภาคเอกชน ก็จะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นทางหนึ่ง
_____________________

ที่มา.. กรมสรรพากร

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9 มีนาคม 2552 เวลา 05:21

    ขอบคุณมาก ๆ นะค่ะสำหรับบทความดีๆ

    ตอบลบ