มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 46 (ปรับปรุง 2550)

เรื่อง ส่วนได้เสียในการร่วมค้า
คำแถลงการณ์
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 31 เรื่อง
ส่วนได้เสียในการร่วมค้า พ.ศ. 2549 (IAS 31 “Interests in Joint Ventures” (revised 2006))

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 46 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง ส่วนได้เสียในการร่วมค้า
ขอบเขต
1. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติกับการบัญชีสำหรับส่วนได้เสียในการร่วมค้าและการรายงาน
เกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้และค่าใช้จ่ายของการร่วมค้าในงบการเงินของผู้ร่วมค้าและงบการเงิน
ของผู้ลงทุนในการร่วมค้า โดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างหรือรูปแบบการดำเนินงานของการร่วมค้านั้น
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ ไม่ให้ถือปฏิบัติกับส่วนได้เสียของผู้ร่วมค้าในกิจการที่ควบคุม
ร่วมกันซึ่งถือโดยข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
1.1 กิจการร่วมลงทุน (Venture Capital Organisations)
1.2 กองทุนรวม หน่วยลงทุน และกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน รวมถึงกองทุนประกันภัยซึ่งมี
ลักษณะของเงินลงทุน (Investment-Linked Insurance Funds)
ซึ่งผู้ลงทุนจัดประเภทเริ่มแรกของเงินลงทุนตามข้อ 1.1 และ 1.2 ข้างต้นเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้าและ
บันทึกบัญชี ผู้ลงทุนต้องรับรู้รายการเงินลงทุนดังกล่าวด้วยมูลค่ายุติธรรมตามที่กำหนดในมาตรฐาน
การบัญชี เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าตราสารการเงิน (เมื่อมีการประกาศใช้) และรับรู้การ
เปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมเป็นกำไรหรือขาดทุนทันทีในงวดบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลง
2. ผู้ร่วมค้าซึ่งมีส่วนได้เสียในกิจการที่ควบคุมร่วมกันได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามย่อหน้าที่ 6
(วิธีรวมตามสัดส่วน) และย่อหน้าที่ 8 (วิธีส่วนได้เสีย) เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
2.1 ส่วนได้เสียดังกล่าวได้มาและถือไว้เพื่อขายตามมาตรฐานการบัญชี เรื่อง สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
ที่ถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก (เมื่อมีการประกาศใช้)
2.2 ข้อยกเว้นในย่อหน้าที่ 5 ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 44 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง งบการเงิน
รวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ อนุญาตให้บริษัทใหญ่ซึ่งมีส่วนได้เสียในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน
ไม่ต้องนำเสนองบการเงินรวม
2.3 มีลักษณะตามข้อกำหนดทุกข้อต่อไปนี้
2.3.1 ผู้ร่วมค้ามีฐานะเป็นบริษัทย่อยซึ่งถูกกิจการอื่นควบคุมอยู่ทั้งหมด หรือเป็นบริษัทย่อยซึ่ง
ถูกกิจการอื่นควบคุมบางส่วน โดยที่ผู้ถือหุ้นกิจการอื่นนั้นรวมทั้งผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสิทธิ
ออกเสียงได้รับทราบและไม่คัดค้านในการที่ผู้ร่วมค้าไม่ใช้วิธีรวมตามสัดส่วนหรือ
วิธีส่วนได้เสีย
2.3.2 ตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของผู้ร่วมค้าไม่มีการซื้อขายในตลาดสาธารณะ (ไม่ว่าจะเป็น
ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศหรือต่างประเทศ หรือการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์
รวมทั้งตลาดในท้องถิ่นและในภูมิภาค)
2.3.3 ผู้ร่วมค้าไม่ได้นำส่งหรืออยู่ในกระบวนการของการนำส่งงบการเงินของกิจการให้แก่
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่นเพื่อวัตถุประสงค์
ในการเสนอออกขายหลักทรัพย์ใดๆ ในตลาดสาธารณะ
2.3.4. บริษัทใหญ่ในลำดับสูงสุดหรือบริษัทใหญ่ในระหว่างกลางของผู้ร่วมค้านั้นได้จัดทำ
งบการเงินรวมเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่
รับรองทั่วไปแล้ว

คำนิยาม
3. คำศัพท์ที่ใช้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้มีความหมายโดยเฉพาะ ดังนี้
การควบคุม หมายถึง อำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของ
กิจกรรมเชิงเศรษฐกิจเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนั้น
วิธีส่วนได้เสีย หมายถึง วิธีการบัญชีสำหรับผู้ร่วมค้าในกิจการที่ควบคุมร่วมกันโดยบันทึก
ส่วนได้เสียในการร่วมค้าเริ่มแรกด้วยราคาทุน และปรับปรุงด้วยการ
เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังในสินทรัพย์สุทธิของกิจการที่ควบคุม
ร่วมกันตามสัดส่วนของผู้ร่วมค้า กำไรหรือขาดทุนของผู้ร่วมค้ารวม
ส่วนแบ่งในผลการดำเนินงานของกิจการที่ควบคุมร่วมกันตาม
สัดส่วนของผู้ร่วมค้า
ผู้ลงทุนในการ
ร่วมค้า
หมายถึง บุคคลหรือกิจการที่เข้าร่วมในการร่วมค้าและไม่มีอำนาจควบคุมร่วม
ในการร่วมค้านั้น
การควบคุมร่วม หมายถึง การมีส่วนร่วมในการควบคุมกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจตามที่ตกลงไว้ใน
สัญญา และการควบคุมร่วมดำรงอยู่ต่อเมื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
ทางการเงินและการดำเนินงานในกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจต้องได้รับ
ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากผู้ร่วมค้าซึ่งมีส่วนร่วมในการควบคุม
การร่วมค้า หมายถึง การประกอบกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจของบุคคลหรือกิจการตั้งแต่สอง
รายขึ้นไปโดยให้มีการควบคุมร่วมกันตามที่ตกลงไว้ในสัญญา
วิธีรวมตามสัดส่วน หมายถึง วิธีการบัญชีของผู้ร่วมค้าโดยนำ สินทรัพย์ หนี้สิน รายได้และ
ค่าใช้จ่ายในการร่วมค้าเฉพาะส่วนที่เป็นของผู้ร่วมค้ามารวมกับ
รายการที่เหมือนกันตามเกณฑ์แต่ละบรรทัดหรือนำ เสนอโดย
แสดงรายการดังกล่าวเป็นแต่ละบรรทัดแยกต่างหากจากรายการ
ชนิดเดียวกันในงบการเงินของผู้ร่วมค้า
งบการเงินเฉพาะ
กิจการ
หมายถึง งบการเงินซึ่งนำเสนอโดยบริษัทใหญ่ หรือโดยผู้ลงทุนในบริษัทร่วม
หรือโดยผู้ร่วมค้าในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน ซึ่งมีการบันทึกบัญชี
เงินลงทุนตามเกณฑ์ของส่วนได้เสียในส่วนของเจ้าของโดยตรง ไม่ใช่
ตามเกณฑ์ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นและสินทรัพย์สุทธิของกิจการ
ที่ถูกลงทุน
อิ ท ธิ พ ล อ ย่ า ง มี
นัยสำคัญ
หมายถึง อำนาจในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายทาง
การเงินและการดำเนินงานของกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจแต่ไม่ถึงระดับ
ที่จะควบคุมหรือควบคุมร่วมในนโยบายดังกล่าว
ผู้ร่วมค้า หมายถึง บุคคลหรือกิจการที่เข้าร่วมในการร่วมค้าและมีอำนาจควบคุมร่วม
ในการร่วมค้านั้น

การดำเนินงานที่ควบคุมร่วมกัน
4. ผู้ร่วมค้าต้องรับรู้ส่วนได้เสียในการดำเนินงานที่ควบคุมร่วมกันในงบการเงินของผู้ร่วมค้าทุกข้อต่อไปนี้
4.1 สินทรัพย์ที่ผู้ร่วมค้าควบคุมอยู่ และหนี้สินที่ผู้ร่วมค้านั้นเป็นผู้ก่อขึ้น
4.2 ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับผู้ร่วมค้าและส่วนแบ่งของรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการที่
ผู้ร่วมค้าได้รับ
สินทรัพย์ที่ควบคุมร่วมกัน
5. ผู้ร่วมค้าต้องรับรู้ส่วนได้เสียในสินทรัพย์ที่ควบคุมร่วมกันในงบการเงินของผู้ร่วมค้าทุกข้อดังต่อไปนี้
5.1 ส่วนแบ่งในสินทรัพย์ที่ควบคุมร่วมกันโดยแยกประเภทตามลักษณะของสินทรัพย์นั้น
5.2 หนี้สินของผู้ร่วมค้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากการร่วมค้า
5.3 ส่วนแบ่งในหนี้สินที่เกิดขึ้นร่วมกันจากการร่วมค้า
5.4 รายได้จากการขายหรือการใช้ผลผลิตที่เกิดขึ้นร่วมกัน รวมทั้งส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นร่วมกัน
จากการร่วมค้า
5.5 ค่าใช้จ่ายของผู้ร่วมค้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากการร่วมค้า
งบการเงินของผู้ร่วมค้า
วิธีรวมตามสัดส่วน
6. ผู้ร่วมค้าต้องใช้วิธีรวมตามสัดส่วนหรือใช้แนววิธีปฏิบัติที่เป็นทางเลือกตามย่อหน้าที่ 8 เพื่อรับรู้ส่วนได้
เสียในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน กรณีที่ใช้วิธีรวมตามสัดส่วนให้ใช้รูปแบบการรายงานแบบใดแบบหนึ่ง
ในสองแบบ
7. ผู้ร่วมค้าต้องเลิกใช้วิธีรวมตามสัดส่วนนับตั้งแต่วันที่ผู้ร่วมค้าหมดอำนาจควบคุมร่วมในกิจการที่ควบคุม
ร่วมกัน
วิธีส่วนได้เสีย
8. ผู้ร่วมค้าอาจเลือกใช้วิธีส่วนได้เสียสำหรับกิจการที่ควบคุมร่วมกัน ซึ่งเป็นทางเลือกจากวิธีรวมตาม
สัดส่วนตามที่กล่าวในย่อหน้าที่ 6
9. ผู้ร่วมค้าต้องเลิกใช้วิธีส่วนได้เสียนับตั้งแต่วันที่ผู้ร่วมค้าหมดอำนาจควบคุมร่วม หรือไม่มีอิทธิพลอย่าง
มีนัยสำคัญในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน
ข้อยกเว้นการไม่ใช้วิธีรวมตามสัดส่วนและวิธีส่วนได้เสีย
10. ส่วนได้เสียในกิจการที่ควบคุมร่วมกันซึ่งจัดประเภทเป็นเงินลงทุนถือไว้เพื่อขาย ตามมาตรฐานการบัญชี
เรื่อง สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก (เมื่อมีการประกาศใช้) ให้ปฏิบัติ
ตามมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว
11. นับตั้งแต่วันที่กิจการที่ควบคุมร่วมกันเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทย่อยของผู้ร่วมค้าให้บันทึกบัญชีตาม
มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 44 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง งบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ นับตั้งแต่วันที่กิจการที่ควบคุมร่วมกันเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทร่วมของผู้ร่วมค้า ผู้ร่วมค้าต้องบันทึกบัญชี
ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 45 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วม
งบการเงินเฉพาะกิจการของผู้ร่วมค้า
12. ส่วนได้เสียในกิจการที่ควบคุมร่วมกันในงบการเงินเฉพาะกิจการของผู้ร่วมค้าให้ใช้วิธีตามที่ระบุใน
ย่อหน้าที่ 16-19 ของมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 44 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง งบการเงินรวมและ
งบการเงินเฉพาะกิจการ
รายการค้าระหว่างผู้ร่วมค้ากับการร่วมค้า
13. ผู้ร่วมค้าต้องรับรู้ส่วนของกำไรหรือขาดทุนที่เกิดจากการโอนหรือขายสินทรัพย์ให้แก่การร่วมค้าตาม
เนื้อหาของรายการค้าที่เกิดขึ้น หากผู้ร่วมค้าโอนสินทรัพย์พร้อมกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มี
นัยสำคัญของความเป็นเจ้าของให้แก่การร่วมค้าและหากการร่วมค้ายังคงครอบครองสินทรัพย์นั้นอยู่
ผู้ร่วมค้าต้องรับรู้กำไรหรือขาดทุนในงบการเงินของผู้ร่วมค้าเฉพาะส่วนที่เป็นส่วนได้เสียของผู้ร่วมค้า
อื่น อย่างไรก็ตามผู้ร่วมค้าต้องรับรู้ผลขาดทุนทั้งจำนวนเมื่อมีหลักฐานสนับสนุนว่าสินทรัพย์ที่โอนหรือ
ขายให้แก่กิจการร่วมค้ามีมูลค่าสุทธิที่จะได้รับลดลงในกรณีของสินทรัพย์หมุนเวียนหรือมีผลขาดทุนจาก
การด้อยค่าเกิดขึ้น
14. เมื่อผู้ร่วมค้าซื้อสินทรัพย์จากการร่วมค้า ผู้ร่วมค้าต้องไม่รับรู้ส่วนแบ่งของตนในกำไรที่การร่วมค้าได้รับ
จากการขายสินทรัพย์นั้นจนกว่าผู้ร่วมค้าได้ขายสินทรัพย์ดังกล่าวให้กับบุคคลที่สามที่มีความเป็นอิสระ
จากผู้ร่วมค้าและการร่วมค้า ผู้ร่วมค้าต้องรับรู้ส่วนแบ่งของตนในขาดทุนที่เกิดขึ้นกับการร่วมค้าจากการ
ขายสินทรัพย์นั้นให้กับตนในลักษณะเดียวกับการรับรู้รายการกำไร เว้นแต่ในกรณีที่สินทรัพย์หมุนเวียน
ที่ซื้อมามีมูลค่าสุทธิที่จะได้รับลดลง หรือมีการด้อยค่าเกิดขึ้นให้ผู้ร่วมค้าต้องรับรู้ผลขาดทุนเฉพาะที่เป็น
ส่วนแบ่งของตนทันที
การแสดงส่วนได้เสียในการร่วมค้าในงบการเงินของผู้ลงทุน
15. ผู้ลงทุนซึ่งไม่มีอำนาจควบคุมร่วมในการร่วมค้า ต้องบันทึกเงินลงทุนตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน
มาตรฐานการบัญชี เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าตราสารการเงิน (เมื่อมีการประกาศใช้) หรือหาก
ผู้ลงทุนมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญในการร่วมค้า ผู้ลงทุนต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในมาตรฐาน
การบัญชี ฉบับที่ 45 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง การบัญชีเงินลงทุนในบริษัทร่วม
ผู้ดำเนินการของการร่วมค้า
16. ผู้ดำเนินการหรือผู้จัดการของการร่วมค้าต้องบันทึกค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 37 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง รายได้
การเปิดเผยข้อมูล
17. ผู้ร่วมค้าต้องเปิดเผยจำนวนรวมของรายการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นต่อไปนี้แยกต่างหากจากรายการหนี้สิน
ที่อาจจะเกิดขึ้นอื่น ยกเว้นกรณีที่ผลขาดทุนจากรายการดังกล่าวไม่น่าที่จะเกิดขึ้น
17.1 หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นซึ่งผู้ร่วมค้าเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการมีส่วนได้เสียในกิจการ
ร่วมค้าและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเกิดขึ้นร่วมกับผู้ร่วมค้าอื่น
17.2 หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นของการร่วมค้า เฉพาะส่วนที่ผู้ร่วมค้าอาจต้องรับผิดชอบ
17.3 รายการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ร่วมค้าอาจต้องรับภาระหนี้สินของผู้ร่วมค้าอื่นในการร่วมค้า
18. ผู้ร่วมค้าต้องเปิดเผยจำนวนรวมของภาระผูกพันของตนที่เกิดจากการมีส่วนได้เสียในการร่วมค้าทุกข้อ
ดังต่อไปนี้แยกต่างหากจากภาระผูกพันอื่น
18.1 ภาระผูกพันเกี่ยวกับการลงทุนของผู้ร่วมค้าที่เกิดจากการมีส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าและภาระ
ผูกพันด้านเงินทุนที่เกิดขึ้นร่วมกับผู้ร่วมค้าอื่น
18.2 ส่วนแบ่งในภาระผูกพันด้านเงินทุนในการร่วมค้า
19. ผู้ร่วมค้าต้องเปิดเผยรายการและคำอธิบายเกี่ยวกับส่วนได้เสียในการร่วมค้าที่มีนัยสำคัญและสัดส่วน
ของส่วนได้เสียในส่วนของเจ้าของที่มีในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน ผู้ร่วมค้าที่รับรู้ส่วนได้เสียของตนใน
กิจการที่ควบคุมร่วมกันโดยนำรายการต่าง ๆ ของกิจการที่ควบคุมร่วมกันมารวมกับรายการที่
คล้ายคลึงกันในงบการเงินของตนตามเกณฑ์รวมแต่ละบรรทัดสำหรับวิธีรวมตามสัดส่วน หรือวิธี
ส่วนได้เสียให้เปิดเผยจำนวนรวมของส่วนได้เสียแต่ละรายการที่ตนมีในการร่วมค้าโดยแยกเป็น
สินทรัพย์หมุนเวียน สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หนี้สินหมุนเวียน หนี้สินระยะยาว รายได้และค่าใช้จ่ายที่
เกี่ยวข้องกับการร่วมค้า
20. ผู้ร่วมค้าต้องเปิดเผยวิธีการที่ใช้ในการรับรู้ส่วนได้เสียในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน
วันถือปฏิบัติ
21. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติ กับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่
1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามกิจการสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ก่อนวัน
ถือปฏิบัติ และหากกิจการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ก่อนวันถือปฏิบัติ กิจการต้องเปิดเผย
ข้อเท็จจริงดังกล่าว

คลิ๊กเพื่อดูไฟล์ฉบับเต็ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น