เรื่อง งบการเงินระหว่างกาล
คำแถลงการณ์
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ได้ปรับปรุงถ้อยคำใหม่ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชี
ระหว่างประเทศ ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2549) เรื่อง งบการเงินระหว่างกาล (IAS No. 34, Interim Financial
Reporting (2006)) โดยไม่มีข้อแตกต่าง
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 (ปรับปรุง 2550) นี้ใช้แทนมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 (ฉบับเดิม)
โดยมีหลักการไม่แตกต่างกัน
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง งบการเงินระหว่างกาล
คำนิยาม
1. คำศัพท์ที่ใช้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้มีความหมายโดยเฉพาะ ดังนี้
งวดระหว่างกาล หมายถึง งวดของงบการเงินที่สั้นกว่างวดเต็มปีบัญชี
งบการเงินระหว่างกาล หมายถึง งบการเงินสำหรับงวดระหว่างกาลที่เป็นงบการเงินแบบสมบูรณ์
(ตามที่ระบุในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 35 (ปรับปรุง 2550)
เรื่อง การนำเสนองบการเงิน) หรืองบการเงินแบบย่อ (ตามที่
ระบุในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้)
ส่วนประกอบขั้นต่ำของงบการเงินระหว่างกาล
2. งบการเงินระหว่างกาลต้องมีส่วนประกอบขั้นต่ำ ดังต่อไปนี้
2.1 งบดุลแบบย่อ
2.2 งบกำไรขาดทุนแบบย่อ
2.3 งบแบบย่องบใดงบหนึ่งดังต่อไปนี้
2.3.1 การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในส่วนของเจ้าของ
2.3.2 การเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ ซึ่งไม่รวมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากรายการกับ
ผู้เป็นเจ้าของ
2.4 งบกระแสเงินสดแบบย่อ
2.5 หมายเหตุประกอบงบการเงินที่กำหนด
รูปแบบและเนื้อหาของงบการเงินระหว่างกาล
3. หากกิจการเลือกที่จะนำเสนองบการเงินระหว่างกาลแบบสมบูรณ์ กิจการต้องกำหนดเนื้อหาและรูปแบบ
ของงบการเงินตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 35 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง
การนำเสนองบการเงิน
4. หากกิจการเลือกนำเสนองบการเงินระหว่างกาลแบบย่อ กิจการต้องแสดงหัวข้อเรื่องและยอดรวมย่อย
ในลักษณะเดียวกับที่แสดงในงบการเงินประจำปีล่าสุดและต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญตามที่
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้กำหนด กิจการต้องแสดงรายการแต่ละบรรทัดหรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม
หากการไม่แสดงหรือการไม่เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมนั้นทำให้งบการเงินระหว่างกาลแบบย่อบิดเบือนไป
จากความเป็นจริง
5. กิจการต้องแสดงกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐานและกำไรต่อหุ้นปรับลดในงบกำไรขาดทุนสำหรับงวดระหว่าง
กาลไม่ว่าจะเป็นงบกำไรขาดทุนแบบสมบูรณ์หรือแบบย่อ
หมายเหตุประกอบงบการเงินที่กำหนด
6. กิจการต้องนำเสนอข้อมูลในงบการเงินระหว่างกาลตามเกณฑ์ยอดสะสมจากต้นปีบัญชีถึงปัจจุบัน
รวมทั้งเปิดเผยรายการหรือเหตุการณ์ทางบัญชีที่มีผลต่อความเข้าใจของผู้ใช้งบการเงินระหว่างกาลงวด
ปัจจุบันอย่างเป็นสาระสำคัญ กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลต่อไปนี้เป็นอย่างน้อยในหมายเหตุประกอบงบ
การเงินระหว่างกาล หากข้อมูลดังกล่าวมีสาระสำคัญและไม่ได้เปิดเผยไว้ที่อื่นในงบการเงินระหว่างกาล
6.1 ข้อเท็จจริงที่ว่ากิจการได้ใช้นโยบายการบัญชีและวิธีการคำนวณในงบการเงินระหว่างกาล
เช่นเดียวกับที่ใช้ในงบการเงินประจำปี หรือข้อเท็จจริงที่ว่ากิจการได้เปลี่ยนแปลงนโยบาย
การบัญชีหรือวิธีการคำนวณ โดยเปิดเผยถึงลักษณะและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้น
6.2 การอธิบายความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานในงวดระหว่างกาลที่มีลักษณะเป็นวัฏจักรหรือ
เป็นฤดูกาล
6.3 ลักษณะและจำนวนเงินของรายการที่มีผลกระทบต่อสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ กำไรสุทธิ
หรือกระแสเงินสด ซึ่งเป็นรายการไม่ปกติเนื่องจากลักษณะ ขนาด หรือการเกิดขึ้นของรายการนั้น
6.4 ลักษณะและจำนวนเงินของการเปลี่ยนแปลงประมาณการของจำนวนเงินที่เคยรายงานไว้ใน
งวดระหว่างกาลก่อนของรอบปีบัญชีเดียวกัน หรือการเปลี่ยนแปลงประมาณการของจำนวนเงินที่
เคยรายงานในงวดปีบัญชีล่าสุดหากการเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลกระทบที่มีสาระสำคัญต่องบ
การเงินระหว่างกาลงวดปัจจุบัน
6.5 การซื้อคืน การชำระคืน และการออกตราสารหนี้และตราสารทุน
6.6 จำนวนเงินปันผลจ่าย (ยอดรวมหรือต่อหุ้น) โดยแยกแสดงตามประเภทของหุ้นสามัญและหุ้น
ประเภทอื่นๆ
6.7 รายได้ตามส่วนงานและผลการดำเนินงานตามส่วนงานทางธุรกิจหรือส่วนงานทางภูมิศาสตร์ที่
กิจการถือเป็นเกณฑ์ รวมถึงข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง (หากกิจการต้องเปิดเผยข้อมูลตามส่วนงานใน
งบการเงินประจำปีตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 50 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง
การรายงานข้อมูลตามส่วนงาน (เมื่อมีการประกาศใช้))
6.8 เหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบการเงินระหว่างกาลที่มีสาระสำคัญซึ่งไม่ได้แสดงในงบการเงิน
ระหว่างกาลของงวดที่นำเสนอ
6.9 ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกิจการในระหว่างงวด ซึ่งรวมถึงการรวมกิจการ
การได้มาหรือจำหน่ายไปของบริษัทย่อย และเงินลงทุนระยะยาว การปรับโครงสร้าง และการ
ดำเนินงานที่ยกเลิก ในกรณีของการรวมธุรกิจให้กิจการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดไว้ใน
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 43 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง การรวมธุรกิจ (เมื่อมีการประกาศใช้)
6.10 การเปลี่ยนแปลงของหนี้สินหรือสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น นับตั้งแต่สิ้นงวดปีบัญชีล่าสุด
การเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานการบัญชี
7. กิจการต้องเปิดเผยว่างบการเงินระหว่างกาลที่จัดทำขึ้นเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ หาก
งบการเงินนั้นปฏิบัติตามข้อกำหนดทุกข้อในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ กิจการต้องไม่เปิดเผยว่างบ
การเงินระหว่างกาลเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี หากงบการเงินระหว่างกาลนั้นไม่ได้ปฎิบัติตาม
ข้อกำหนดทุกข้อของมาตรฐานการบัญชี
งวดที่ต้องนำเสนองบการเงินระหว่างกาล
8. รายงานระหว่างกาลต้องรวมงบการเงินระหว่างกาลแบบสมบูรณ์หรือแบบย่อสำหรับงวดต่างๆ ดังต่อไปนี้
8.1 งบดุล ณ วันสิ้นงวดระหว่างกาลปัจจุบัน เปรียบเทียบกับงบดุล ณ วันสิ้นงวดปีบัญชีล่าสุด
ที่ผ่านมา
8.2 งบกำไรขาดทุนสำหรับงวดระหว่างกาลปัจจุบันและงบกำไรขาดทุนที่แสดงยอดตั้งแต่ต้นปีบัญชี
ปัจจุบันจนถึงวันสิ้นงวดระหว่างกาล เปรียบเทียบกับงบกำไรขาดทุนสำหรับช่วงเวลาเดียวกัน
ของปีก่อน
8.3 งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของที่แสดงยอดตั้งแต่ต้นปีบัญชีปัจจุบันจนถึงวันสิ้นงวด
ระหว่างกาล เปรียบเทียบกับงบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของสำหรับช่วงเวลา
เดียวกันของปีก่อน
8.4 งบกระแสเงินสดที่แสดงยอดตั้งแต่ต้นปีบัญชีปัจจุบันจนถึงวันสิ้นงวดระหว่างกาล เปรียบเทียบกับ
งบกระแสเงินสดสำหรับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ความมีสาระสำคัญ
9. กิจการต้องประเมินความมีสาระสำคัญของรายการโดยใช้ข้อมูลที่รวมอยู่ในงบการเงินระหว่างกาลเพื่อ
พิจารณาว่าข้อมูลนั้น ควรรับรู้ วัดมูลค่า จัดประเภท และเปิดเผยอย่างไรในงบการเงินระหว่างกาล
ในการประเมินความมีสาระสำคัญของข้อมูล กิจการต้องตระหนักว่า กิจการอาจต้องใช้การประมาณการ
ในการวัดมูลค่าของข้อมูลมากกว่าที่ใช้ในงบการเงินประจำปี
การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินประจำปี
10. หากการประมาณการจำนวนเงินที่ได้รายงานไว้ในงบการเงินระหว่างกาลของงวดก่อน มีการ
เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นนัยสำคัญในงวดระหว่างกาลงวดสุดท้ายของรอบปี โดยที่กิจการจะไม่นำเสนอ
งบการเงินระหว่างกาลงวดสุดท้ายนี้แยกต่างหาก กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะและจำนวน
ของการเปลี่ยนแปลงประมาณการในหมายเหตุประกอบงบการเงินของงบการเงินประจำปีสำหรับรอบปี
บัญชีนั้น
การรับรู้รายการและการวัดมูลค่า
การใช้นโยบายการบัญชีเดียวกันกับงบการเงินประจำปี
11. กิจการต้องใช้นโยบายการบัญชีเดียวกันสำหรับงบการเงินระหว่างกาล และงบการเงินประจำปี เว้นแต่
นโยบายการบัญชีที่เปลี่ยนแปลงภายหลังวันที่ในงบการเงินประจำปีล่าสุดนั้นจะใช้ในงบการเงินประจำปี
ถัดไป อย่างไรก็ตาม ความถี่ในการรายงานของกิจการ (ไม่ว่ากิจการจะนำเสนองบการเงินเป็นรายปี
รายครึ่งปี หรือรายไตรมาส) ไม่ควรมีผลกระทบต่อการวัดผลการดำเนินงานประจำปี เพื่อให้บรรลุ
วัตถุประสงค์ดังกล่าว การวัดมูลค่าเพื่อจัดทำงบการเงินระหว่างกาลควรจัดทำตามเกณฑ์ยอดสะสม
จากต้นปีบัญชีถึงปัจจุบัน
รายได้ที่ได้รับตามฤดูกาล รายได้ที่ได้รับเป็นวัฏจักร หรือรายได้ที่ได้รับเป็นครั้งคราว
12. กิจการต้องไม่รับรู้รายได้ที่ได้รับตามฤดูกาล รายได้ที่ได้รับเป็นวัฏจักร หรือรายได้ที่ได้รับเป็นครั้งคราว
ในระหว่างปีบัญชีเป็นรายได้หากรายได้นั้นยังไม่เกิดแต่คาดการณ์ว่าจะเกิด ในทางกลับกัน กิจการต้อง
ไม่บันทึกรายได้ดังกล่าวเป็นรายการรอการรับรู้ หากรายได้นั้นเกิดแล้วและต้องรับรู้ในระหว่างปีบัญชี
ดังนั้น ณ วันสิ้นงวดระหว่างกาล กิจการต้องไม่บันทึกรายได้ที่ยังไม่เกิดเป็นรายได้ค้างรับและต้อง
ไม่บันทึกรายได้ที่เกิดแล้วเป็นรายได้รอการรับรู้ หากมาตรฐานการบัญชียังไม่อนุญาตให้ทำได้
ณ วันสิ้นงวดปีบัญชี
ต้นทุนที่เกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอในระหว่างรอบปีบัญชี
13. ต้นทุนที่เกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอในระหว่างปีบัญชี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นหรือบันทึกเป็นต้นทุนรอ
ตัดบัญชีเพื่อวัตถุประสงค์ของการจัดทำรายงานระหว่างกาลได้ก็ต่อเมื่อต้นทุนนั้น ณ วันสิ้นงวดปีบัญชี
จะมีการคาดการณ์หรือบันทึกเป็นต้นทุนรอตัดบัญชีได้ด้วย
การใช้การประมาณการ
14. กิจการต้องใช้วิธีวัดมูลค่าที่ทำให้มั่นใจว่า ข้อมูลที่แสดงในงบการเงินระหว่างกาลสามารถเชื่อถือได้
รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลทางการเงินทั้งหมดที่มีสาระสำคัญอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจ
ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ กิจการอาจต้องอาศัยการประมาณการที่สมเหตุสมผล
เพื่อวัดมูลค่ารายการบางรายการในงบการเงินประจำปีและงบการเงินระหว่างกาล ซึ่งตามปกติกิจการ
จำเป็นต้องใช้การประมาณการในการจัดทำงบการเงินระหว่างกาลมากกว่าที่ต้องใช้ในการจัดทำงบ
การเงินประจำปี
การปรับย้อนหลังงบการเงินระหว่างกาลของงวดก่อน
15. การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี นอกเหนือจากการถือปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนแปลงที่กำหนดโดย
มาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่หรือการตีความตามมาตรฐานการบัญชีใหม่ ได้กำหนดให้กิจการต้อง
15.1 ปรับย้อนหลังงบการเงินระหว่างกาลของงวดก่อนในรอบปีบัญชีปัจจุบันและงบการเงินระหว่าง
กาลของรอบปีบัญชีก่อนที่นำมาเปรียบเทียบ ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 39 (ปรับปรุง
2550) เรื่อง นโยบายการการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางการบัญชี และ
ข้อผิดพลาด
15.2 หากไม่สามารถระบุถึงผลกระทบสะสม ณ วันต้นงวดปีจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีที่มี
ผลกระทบต่องวดปีก่อนๆ ให้ปรับปรุงงบการเงินระหว่างกาลของงวดก่อนในรอบปีบัญชีปัจจุบัน
และงบการเงินระหว่างกาลของรอบปีบัญชีก่อนที่นำมาเปรียบเทียบตามนโยบายการบัญชีใหม่
โดยวิธีเปลี่ยนทันทีเป็นต้นไปจากวันที่สามารถปฏิบัติได้
วันถือปฏิบัติ
16 มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 (ปรับปรุง 2550) ให้ถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลา
บัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป
คลิ๊กเพื่อดูไฟล์ฉบับเต็ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น