ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หน้าที่และความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ (1)

ในการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายหลายประการที่ต้องคำนึงถึงและทำความเข้าใจ เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเป็นไปโดยถูกต้อง และครบถ้วน จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา โดยภาพรวมผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังนี้

1. คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายโดยเคร่งครัด ซึ่งผู้จ่ายเงินได้ต้องมีความเข้าใจในข้อกำหนดเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายโดยละเอียดในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.1 มีความเข้าใจบทบัญญัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยชัดแจ้งทุกแง่ทุกมุมว่า การจ่ายเงินได้ในกรณีใดต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

1.2 มีความเข้าใจในหน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

1.3 มีความเข้าใจว่าต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อใด

2. นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่ว่าผู้จ่ายเงินได้จะได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้หรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร

3. พร้อมกับการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยต้องยื่นรายการและนำส่งภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้

3.1 ภ.ง.ด.1 ใช้สำหรับกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

3.2 ภ.ง.ด.2 ใช้สำหรับกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

3.3 ภ.ง.ด.3 ใช้สำหรับกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(5)(6)(7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร

3.4 ภ.ง.ด.53 ใช้สำหรับกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร

3.5 ภ.ง.ด.54 ส่วน ก ใช้สำหรับกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

4. เมื่อสิ้นปีภาษีให้ผู้จ่ายเงินได้ที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีหน้าที่ต้องยื่นรายการสรุปการจ่ายเงินได้และจำนวนภาษีเงินได้ที่ได้หักและ นำส่งไว้ โดยแสดงรายละเอียดเป็นรายบุคคล เฉพาะยอดรวมภาษีที่นำส่งทั้งสิ้น (พร้อมทั้งแนบสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยก็ได้) ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) ภ.ง.ด.1ก. ใช้สรุปรายการการจ่ายเงินได้และการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดจากปีที่จ่ายเงินได้

(2) ภ.ง.ด.2ก. ใช้สรุปรายการการจ่ายเงินได้และการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องยื่นรายการดังกล่าว ภายในเดือนมกราคมของปีถัดจากปีที่จ่ายเงินได้

5. ผู้จ่ายเงินได้ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 2 ฉบับมีข้อความตรงกัน ในกรณีและตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) กรณีภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้มีเงินได้ทำงานในกิจการของผู้จ่ายเงินได้จนถึงสิ้นปีภาษี ผู้จ่ายเงินได้ต้องออกหนังสือรับรองดังกล่าวให้แก่ผู้มีเงินได้ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของปีถัดจากปีที่จ่ายเงินได้ แต่ถ้าผู้มีเงินได้คนใดออกจากงานระหว่างปีภาษีผู้จ่ายเงินได้ต้องออกหนังสือ รับรองดังกล่าวให้แก่ผู้มีเงินได้คนนั้น ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ออกจากงาน

(2) กรณีภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นๆ ผู้จ่ายเงินได้ต้องออกหนังสือรับรองดังกล่าวให้แก่ผู้มีเงินได้ในทันทีทุก ครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย (มาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)

6. ผู้จ่ายเงินได้ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีที่มีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนด โดยต้องกรอกข้อความให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันถัดจากวันที่มีรายการเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือการนำส่งภาษีเกิดขึ้น และให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเก็บรักษาบัญชีพิเศษดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยเก็บไว้ ณ สำนักงานที่มีการจ่ายเงินได้และพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ ทันที

7. ผู้จ่ายเงินได้ต้องปฏิบัติตามหนังสือแจ้งความของเจ้าพนักงานประเมินที่แจ้ง ให้ยื่นบัญชีจ่าย เงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(1)(2)(3)(4) และ (7) แห่งประมวลรัษฎากร หรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่อง เพื่อการตรวจสอบการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย (มาตรา 51 แห่งประมวลรัษฎากร)

8. ผู้จ่ายเงินได้ต้องมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงในแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

-----------------------------------------------------------------------


หน้าที่และความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ (2)

ขอนำประเด็นการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา กรณีใดบ้างที่ถือว่าผู้จ่ายเงินได้ได้จ่ายเงินได้พึงประเมิน และมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

วิสัชนา โดยทั่วไปการคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จะกระทำเมื่อมีการจ่ายเงินได้ประเภทที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้ ซึ่งตรงกับวิธีการทางบัญชีตามเกณฑ์เงินสด (CASH BASIS) ดังนี้

1. กรณีจ่ายเงินได้เป็นเงินสด ผู้จ่ายเงินได้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทันทีที่จ่ายเงินสดนั้น เช่น

(1) บริษัทจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ประจำเดือนสิงหาคม ให้แก่พนักงานเป็นเงินสด ในวันที่ 10 กันยายน ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทันทีจ่ายเงินได้ และนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนตุลาคม โดยระบุว่าเป็นการจ่ายเงินได้ของเดือนกันยายน

(2) บริษัทประกันภัยจ่ายค่านายหน้าประจำเดือนมกราคม - มีนาคม ให้แก่พนักงานขายในเดือนเมษายน ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทันทีจ่ายเงินได้ และนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนพฤษภาคม โดยระบุว่าเป็นการจ่ายเงินได้ของเดือนเมษายน

(3) รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าเบี้ยประชุมกรรมการและโบนัสให้แก่กรรมการเป็นเงินสด ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทันทีจ่ายเงินได้ และนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

(4) กรมชลประทานจ่ายค่าจ้างเหมาก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำในเดือนมกราคม ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาได้แจ้งหนี้มาให้กรมชลประทานทราบตั้งแต่เดือนธันวาคมแล้ว ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในเดือนมกราคมจ่ายเงินได้ และนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนกุมภาพันธ์ โดยระบุว่าเป็นการจ่ายเงินได้ของเดือนมกราคม

2. กรณีจ่ายด้วยบัตรเครดิต ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเช่นเดียวกับการจ่ายเงินสด กล่าวคือ เมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต

3. กรณีจ่ายเงินได้โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้มีเงินได้ ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทันทีที่ผู้จ่ายเงินได้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้มีเงินได้ แม้ผู้มีเงินได้จะมิได้ไปเบิกถอนเงินจากธนาคารก็ตาม ให้ถือว่าได้มีการจ่ายเงินได้กันแล้ว เช่น

(1) กรมสรรพากรโอนเงินเดือนค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างของกรมสรรพากรเป็นรายบุคคลในวันสิ้นเดือน

(2) บริษัท ก. จำกัดโอนค่าโฆษณาเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันให้แก่บริษัทผู้รับโฆษณา

4. กรณีจ่ายเงินได้เป็นทรัพย์สินหรือสิ่งของ ผู้จ่ายเงินได้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทันทีที่จ่ายเงินได้เป็นทรัพย์สินดังกล่าว เช่น

(1) บริษัทแจกทองคำให้แก่พนักงาน เนื่องในโอกาสเทศกาลปีใหม่ หรือทำงานครบห้าปี

(2) การแลกเปลี่ยนสินค้ากับค่าบริการที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

(3) การจ่ายค่าเช่าหรือค่าโฆษณาเป็นสินค้าหรือสิ่งของ

(4) การจ่ายรางวัลจากการแข่งขัน หรือชิงโชค หรือเกมโชว์ ให้แก่ผู้มีเงินได้เป็นรถยนต์ โทรทัศน์ ตู้เย็น สินค้า หรือสิ่งของอื่น เป็นต้น

5. กรณีจ่ายเงินได้ด้วยเช็คหรือตั๋วเงิน ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามวันที่ลงในเช็คหรือตั๋วเงินนั้น ไม่ว่าผู้จ่ายเงินได้จะได้ส่งมอบเช็คหรือตั๋วเงินให้แก่ผู้มีเงินได้หรือไม่และไม่ว่าผู้มีเงินได้จะได้นำเช็คนั้นหรือตั๋วเงินนั้นไปขึ้นเงินจากธนาคารหรือผู้จ่ายเงินหรือไม่ เช่น

(1) บริษัท เอ. จำกัดทำเช็คเพื่อจ่ายชำระค่าจ้างทำของให้แก่บริษัท บี. จำกัดในวันที่ 25 กันยายน แต่บริษัท บี. จำกัดมารับเช็คดังกล่าวในวันที่ 10 ตุลาคม ให้บริษัท เอ. จำกัดหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าจ้าง และออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในวันที่ 25 กันยายน และนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนตุลาคม

(2) บริษัท กขค. จำกัด จ่ายเช็คเพื่อชำระค่าเช่าอาคารสำนักงานให้แก่นาย ขาว ในวันที่ 11 กันยายน แต่เช็คลงวันที่ 15 ตุลาคม เช่นนี้ ให้บริษัท เอ. จำกัดหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าจ้าง และออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในวันที่ 15 ตุลาคม และนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนพฤศจิกายน

อนึ่ง ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินจ่ายเช็คหรือตั๋วเงินให้แก่ผู้รับเงิน แล้วต่อมาเช็คนั้นขัดข้อง ผู้จ่ายเงินก็ยังคงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามวันที่ลงในเช็คนั้นต่อไป เพราะถือว่าได้จ่ายชำระเงินได้แล้ว สำหรับเช็คที่ขัดข้องถือเป็นมูลหนี้ใหม่

6. กรณีจ่ายเงินได้เป็นประโยชน์ที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในวันที่จ่ายประโยชน์ดังกล่าวให้แก่ผู้มีเงินได้ เช่น จ่ายตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพฯ - ฮ่องกง

7. กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในขณะที่ทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน ดังนั้น ในการจ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ก่อนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนจึงไม่ต้องหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรณีต่างๆ ดังกล่าว สอดคล้องกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีรับชำระค่าบริการ ซึ่งถือปฏิบัติตามเกณฑ์เงินสด

หน้าที่และความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ (3)

ขอนำประเด็นการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายมา

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

ปุจฉา กรณีตัวแทนจ่ายเงินได้พึงประเมินแทนตัวการที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่ ตัวแทนมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อย่างไร

วิสัชนา กรณีตัวแทนจ่ายเงินได้พึงประเมินแทนตัวการที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้ตัวแทนมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนตัวการ โดยตัวแทนมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนตัวการ และส่งสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับตัวการเก็บไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อตัวการจ่ายคืนเงินที่ตัวแทนได้ออกไปก่อนตัวการไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายอีก

1. ในกรณีกรรมการหรือพนักงานใช้รถยนต์ของบริษัทฯ หรือจ่ายค่าโฆษณาแทนบริษัทฯ ไปก่อนแล้วค่อยนำใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีมาเบิกคืนจากบริษัทฯ เช่นนี้ การกระทำดังกล่าวถือเป็นกรณีตัวแทนกระทำการแทนตัวการ เพราะใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีระบุชื่อบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินโดยชัดแจ้ง กรรมการหรือพนักงานผู้จ่ายเงินกระทำการแทนบริษัทฯ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้ดังกล่าวอย่างไร กรรมการหรือพนักงานย่อมมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเช่นเดียวกันนั้น

2. กรณีกรรมการหรือพนักงานจ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ ค่าโฆษณาได้แทนบริษัทฯ ไปก่อน แต่ในขณะที่จ่ายค่าซ่อมรถยนต์นั้น กรรมการหรือพนักงานไม่มีหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้

ปัญหาข้อนี้นับว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากในการปฏิบัติเป็นอันมาก แต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ตนมีหน้าที่หัก ไม่ว่าผู้จ่ายเงินได้นั้นจะได้คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น แม้ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายเงินได้ตามปัญหาดังกล่าวจะมีข้อจำกัดในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายว่า กรรมการหรือพนักงานไม่มีหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ แต่ในหน้าที่การนำส่งภาษี ผู้จ่ายเงินได้ยังคงมีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไปตามปกติ โดยต้องนำเงินในส่วนของตนไปส่งแทน

3. เมื่อบริษัทฯ นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในส่วนที่ไม่ได้หักไว้บริษัทฯ สามารถนำค่าภาษีอากรที่ได้นำส่งไปโดยมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายนั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) หรือ (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไร สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทฯ ได้นำส่งไปนั้น ถือเป็นการออกภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้มีเงินได้ จึงต้องนำค่าภาษีเงินได้ที่ออกแทนให้นั้นกลับมารวมคำนวณภาษีเงินได้และคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่อีกครั้งหนึ่ง และปฏิบัติเช่นเดียวกันจนกว่าจะไม่มีจำนวนเงินภาษีที่ออกแทนให้

ตัวอย่าง

บริษัทฯ เป็นตัวแทนของลูกค้าในการนำผ้าดิบไปให้โรงงานย้อมผ้า ย้อมเป็นผ้าสีหรือพิมพ์ดอก เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้แก่โรงงานย้อมผ้า บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน 2528 แทนตัวการ และมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนลูกค้า (ตัวการ) โดยส่งสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับตัวการเก็บไว้เป็นหลักฐาน

เมื่อลูกค้าจ่ายค่าย้อมผ้าพร้อมกับค่าบำเหน็จตัวแทนให้แก่บริษัทฯ ลูกค้าไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายอีก เพราะเป็นการจ่ายคืนเงินที่ตัวแทนได้ออกไปก่อน และการจ่ายค่าบำเหน็จตัวแทนไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าจ้างทำของ (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/2700 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537)

ปุจฉา การนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายใช้แบบแสดงรายการที่ไม่ถูกต้องหรือผิดแบบแสดงรายการ มีผลทางภาษีอากรอย่างไร

วิสัชนา การยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายใช้แบบแสดงรายการที่ไม่ถูกต้องหรือผิดแบบแสดงรายการ

1. โดยทั่วไปถือว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ถูกหรือที่ควรจะเป็นนั้นเลย ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการต้องยื่นรายการและนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายฉบับที่ถูกต้องใหม่อีก

2. แต่อย่างไรก็ตามหากผู้มีหน้าที่ยื่นรายการได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้อนุโลมให้ถือว่า แบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการได้ยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายไว้เป็นแบบแสดงรายการและจำนวนเงินที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมได้สิทธิตามคำอนุมัตินั้นเป็นรายๆ ไป เช่น

ธนาคารฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไม่เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดสำหรับเดือนมีนาคม 2537 โดยได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.53 ซึ่งเป็นแบบนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ต้องใช้แบบ ภ.ง.ด.2 จำนวนเงิน 426,472.72 บาท และได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 ซึ่งเป็นแบบนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ต้องใช้แบบ ภ.ง.ด.53 จำนวนเงิน 3,578.02 บาท นั้น กรมสรรพากรอนุโลมให้ถือว่าธนาคารฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/10905 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2537)

ทั้งนี้ กรมสรรพากรพิจารณาอนุโลมให้ถือว่า แบบแสดงรายการและจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ผู้จ่ายเงินได้ได้ยื่นผิดไปนั้น เป็นจำนวนเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบแสดงรายการที่ควรจะเป็นทุกกรณี แต่ต้องร้องขอเป็นหนังสือไปทุกครั้ง

หน้าที่และความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ (4)

ขอนำประเด็นการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่เกี่ยวกับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อย่างไร

วิสัชนา นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่ว่าผู้จ่ายเงินได้จะได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้หรือไม่ก็ตาม (มาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร)

1. การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในทุกกรณีเว้นแต่กรณีตาม 2. และ 3. ให้นำส่ง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ที่ผู้จ่ายเงินมีภูมิลำเนา โดยชำระเป็นเงินสดหรือชำระด้วยบัตรภาษีหรือเช็คก็ได้หรือจะเลือกชำระเป็นเงินสดบางส่วนและชำระด้วยบัตรภาษีและหรือเช็คบางส่วนก็ได้

2. กรณีรัฐบาล หรือองค์การของรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินได้ หากเจ้าพนักงานผู้จ่ายเงินได้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบจนเป็นที่แน่ชัดว่าได้คำนวณจำนวนภาษีที่จะต้องหัก ณ ที่จ่ายและจดไว้ในฎีกาเบิกเงินแล้ว และให้เป็นหน้าที่ที่จะหักเงินจำนวนนั้นก่อนจ่าย (เบิกหักผลักส่งไว้ในฎีกา) ก็ไม่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่อีก (มาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร)

3. กรณีภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5) และ (6) และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ทั้งนี้ ห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามรับรู้ ยอมให้ทำ หรือบันทึกการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จนกว่าจะได้รับเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไว้ครบถ้วนแล้ว และในกรณีที่ไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้ได้หักไว้แล้ว จะถือเป็นเครดิตของผู้ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็เฉพาะแต่เพียงกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้ได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไว้แล้วเท่านั้น (มาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร)

4. พร้อมกับการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้ ดังนี้

(1) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย

ภ.ง.ด. 1 ใช้สำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

ภ.ง.ด. 2 ใช้สำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(3) และ(4) แห่งประมวลรัษฎากร

ภ.ง.ด. 3 ใช้สำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่ายเนื่องจากการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(5)(6)(7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องยื่นรายการและนำส่งภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้

(2) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย

ภ.ง.ด.53 ใช้สำหรับกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 69 ทวิ มาตรา 3 เตรส ประกอบมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร)

ภ.ง.ด.54 ส่วน ก ใช้สำหรับกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องยื่นรายการและนำส่งภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้

กรณีผู้จ่ายเงินได้ออกเงินค่าภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีเงินได้ ให้ระบุข้อความว่า ออกให้ครั้งเดียว ออกให้ตลอดไปหรืออื่นๆ ให้ชัดเจนในแบบแสดงรายการดังกล่าวด้วย

สำหรับผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 1, ภ.ง.ด. 2, ภ.ง.ด. 3 หรือ ภ.ง.ด. 53 ให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้มีเงินได้ที่เป็นคนต่างด้าวอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

5. เมื่อสิ้นปีภาษีให้ผู้จ่ายเงินได้ที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีหน้าที่ต้องยื่นรายการสรุปการจ่ายเงินได้และจำนวนภาษีเงินได้ที่ได้หักและนำส่งไว้ ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ (มาตรา 58 แห่งประมวลรัษฎากร)

ภ.ง.ด.1 ก. สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือคณะบุคคล โดยต้องภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดจากปีที่จ่ายเงินได้

ภ.ง.ด.1 ก. พิเศษ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ(2) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้จ่ายเงินได้เป็นรัฐบาล หรือองค์การของรัฐบาล โดยต้องยื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดจากปีที่จ่ายเงินได้

ภ.ง.ด.2 ก. สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องยื่นรายการดังกล่าว ภายในเดือนมกราคมของปีถัดจากปีที่จ่ายเงินได้

ภ.ง.ด.3 ก. สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(5)(6)(7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล โดยต้องยื่นภายในเดือนมกราคมของปีถัดจากปีที่จ่ายเงินได้

กรณีผู้จ่ายเงินได้มีภูมิลำเนาตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอที่สถานประกอบการตั้งอยู่ สำหรับผู้จ่ายเงินได้มีภูมิลำเนาตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว ณ สำนักงานสรรพากรจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอท้องที่

หน้าที่และความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ (5)

ขอ นำประเด็นการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา มีแนวทางในการผ่อนคลายหน้าที่เกี่ยวกับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือไม่อย่างไร

วิสัชนา กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติในการตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน พร้อมทั้งยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ดังนี้

1. ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 112/2545 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 เพื่อวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ และเครดิตฟองซิเอร์ให้เป็นตัวแทน และ

2. ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 12/2545 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 เพื่อวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ให้เป็น ตัวแทน

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ และเครดิตฟองซิเอร์ให้เป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีอย่างไร

วิสัชนา

1. ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่จ่ายค่าบริการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาว และค่าบริการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาว ให้กับธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ โดยเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน และมีความประสงค์แต่งตั้งให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน พร้อมทั้งยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน จัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สามารถเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการได้ ซึ่งธนาคารหรือบริษัทในฐานะเป็นตัวแทนต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน

2. กรณีธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผู้จ่ายเงินและธนาคารหรือบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนไม่จำเป็นต้องออกหนังสือ รับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน แต่ทั้งนี้ ธนาคารหรือบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย และเมื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ธนาคารหรือบริษัทจะต้องระบุข้อความเพิ่มเติมในใบกำกับภาษีของค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ โดยมีสาระสำคัญว่า ธนาคารหรือบริษัทได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 เป็นจำนวนเงิน … บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งธนาคารหรือบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องจัดให้มีการ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

รายละเอียดรายการภาษีเงิน ได้หัก ณ ที่จ่าย ดังกล่าว สามารถจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ แต่จะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายประจำเดือน…พ.ศ. ….” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของธนาคารหรือบริษัทผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยมีข้อความว่า “ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้”

(3) ประเภทเงินได้ เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิต หรือค่าธรรมเนียมในการโอนเงินทางโทรเลข

(4) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นตัวการหลายตัวการ จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีที่หักไว้

(5) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย

3. เมื่อธนาคารพาณิชย์ บริษัทซึ่งเป็นตัวแทนดังกล่าว ได้ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด. 53 ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ ธนาคารหรือบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า ธนาคารหรือบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 2 ด้วย ซึ่งเอกสารรายละเอียดดังกล่าวถือเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 โดยธนาคารหรือบริษัทจะต้องเขียนข้อความว่า “ใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53” ไว้ในเอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในที่ที่เห็นได้เด่นชัดแล้ว ให้ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนสามารถใช้เอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 2. เป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2531

4. ธนาคารพาณิชย์ บริษัทซึ่งเป็นตัวแทน สามารถใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากรได้


หน้าที่และความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ (6)

ขอ นำประเด็นการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ให้เป็นตัวแทน ตัวแทนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 125/2545 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 อย่างไร

วิสัชนา

1. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ และค่าบริการโทรศัพท์ ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์โดยเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคาร ของผู้จ่ายเงินไม่ว่าจะหักจากบัญชีเงินฝากหรือบัญชีบัตรเครดิต และผู้จ่ายเงินมีความประสงค์แต่งตั้งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน

พร้อมทั้งยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ก็สามารถกระทำได้ โดยจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์ อักษร ทั้งนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน

ผู้ให้บริการโทรศัพท์ดังกล่าว สามารถเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการได้ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์ในฐานะเป็นตัว แทนต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน โดยให้ดำเนินการตามข้อ (3)

2. กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามข้อ 1. ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผู้จ่ายเงินไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าบริการในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นตัวแทนไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการ หักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน

แต่ทั้งนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย และเมื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะต้องระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบ กำกับภาษีของค่าบริการ โดยมีสาระสำคัญว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ… เป็นจำนวนเงิน…บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์จะต้องจัดให้มีการ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีดังกล่าว ด้วย

รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังกล่าว สามารถจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ แต่จะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายประจำเดือน…พ.ศ. …. ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ให้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย โดยมีข้อความว่า “ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้”

(3) ประเภทเงินได้ เช่น ค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ หรือค่าบริการโทรศัพท์

(4) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นตัวการหลายตัวการ จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีที่หักไว้

(5) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย

3. กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามข้อ 1. ได้ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด. 53 ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะต้องระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินในใบแนบ ภ.ง.ด. 53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 10 วรรคสามด้วย ซึ่งเอกสารรายละเอียดดังกล่าวถือเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด. 53 โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์จะต้องเขียนข้อความว่า “ใบต่อแบบ ภ.ง.ด. 53” ไว้ในเอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

ผู้ให้บริการโทรศัพท์ดังกล่าว ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ สามารถใช้เอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 10 วรรคสาม เป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531

4. ผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามข้อ 1. ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ สามารถใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด. 53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากรได้

การตั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เป็นตัว แทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการ ช่วยให้เกิดความสะดวก และลดทอนค่าใช้จ่ายรวมทั้งลดภาระการบันทึกรายการทางบัญชีได้อย่างมาก จึงควรดำเนินการในทันที เพื่อประโยชน์ของธุรกิจโดยส่วนรวมและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ปัญหาหน้าที่และความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ (7)

ขอ นำประเด็นปัญหาการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายที่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาปุจฉา- วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษีกรณีทั่วไป อย่างไร

วิสัชนา การเป็นตัวแทนจ่ายเงินได้พึงประเมินแทนตัวการที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้ตัวแทนมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนตัวการ โดยตัวแทนมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนตัวการ และส่งสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับตัวการเก็บไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อตัวการจ่ายคืนเงินที่ตัวแทนได้ออกไปก่อน ตัวการไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายอีก

1.ในกรณีกรรมการหรือพนักงานใช้ รถยนต์ของบริษัทฯ หรือจ่ายค่าโฆษณาแทนบริษัทฯ ไปก่อนแล้วค่อยนำใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีมาเบิกคืนจากบริษัทฯ เช่นนี้ การกระทำดังกล่าวถือเป็นกรณีตัวแทนกระทำการแทนตัวการ เพราะใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีระบุชื่อบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินโดยชัดแจ้ง กรรมการหรือพนักงานผู้จ่ายเงินกระทำการแทนบริษัทฯ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้ดังกล่าวอย่างไร กรรมการหรือพนักงานย่อมมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเช่นเดียวกันนั้น

2.กรณีกรรมการหรือพนักงานจ่าย เงินค่าซ่อมรถยนต์ ค่าโฆษณาได้แทนบริษัทฯ ไปก่อน แต่ในขณะที่จ่ายค่าซ่อมรถยนต์นั้น กรรมการหรือพนักงานไม่มีหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้

ปัญหาข้อนี้นับว่าเป็นข้อ เท็จจริงที่ยุ่งยากในการปฏิบัติเป็นอันมาก แต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ตนมีหน้าที่หัก ไม่ว่าผู้จ่ายเงินได้นั้นจะได้คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น แม้ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายเงินได้ตามปัญหาดังกล่าว จะมีข้อจำกัดในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายว่า กรรมการหรือพนักงานไม่มีหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ แต่ในหน้าที่การนำส่งภาษี ผู้จ่ายเงินได้ยังคงมีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไปตามปกติ โดยต้องนำเงินในส่วนของตนไปส่งแทน

3.เมื่อบริษัทฯ นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในส่วนที่ไม่ได้หักไว้ บริษัทฯ สามารถนำค่าภาษีอากรที่ได้นำส่งไปโดยมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายนั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) หรือ (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไร สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทฯ ได้นำส่งไปนั้น ถือเป็นการออกภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้มีเงินได้ จึงต้องนำค่าภาษีเงินได้ที่ออกแทนให้นั้นกลับมารวมคำนวณภาษีเงินได้และคำนวณ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอีกครั้งหนึ่ง และปฏิบัติเช่นเดียวกันจนกว่าจะไม่มีจำนวนเงินภาษีที่ออกแทนให้

ปุจฉา บริษัทฯ เป็นตัวแทนของลูกค้าในการนำผ้าดิบไปให้โรงงานย้อมผ้า ย้อมเป็นผ้าสีหรือพิมพ์ดอก เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้แก่โรงงานย้อมผ้า บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา กรณีบริษัทฯ เป็นตัวแทนของลูกค้าในการนำผ้าดิบไปให้โรงงานย้อมผ้า ย้อมเป็นผ้าสีหรือพิมพ์ดอก เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้แก่โรงงานย้อมผ้า บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน 2528 แทนตัวการ และมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนลูกค้า (ตัวการ) โดยส่งสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับตัวการเก็บไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อลูกค้าจ่ายค่าย้อมผ้าพร้อมกับค่าบำเหน็จตัวแทนให้แก่บริษัทฯ ลูกค้าไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายอีก เพราะเป็นการจ่ายคืนเงินที่ตัวแทนได้ออกไปก่อน และการจ่ายค่าบำเหน็จตัวแทนไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าจ้างทำของ (เทียบเคียงหนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/2700 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537)

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเพื่อการปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา ในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินได้ต้องมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงในแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย บางรายมิได้ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรไว้ เมื่อผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ได้แจ้ง ชื่อ และที่อยู่ของผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายลงในแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ก็ไม่มีความผิดและไม่ต้องเสียค่าปรับตามมาตรา 3 ทวาทศ แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/17247 ลงวันที่ 7 กันยายน 2536)

ปุจฉา ในปัจจุบันการจัดทำบัญชี ส่วนใหญ่มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการจัดทำบัญชี ซึ่งรวมทั้งการจัดทำบัญชีเเยกประเภทเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักจากผู้มีเงินได้เพื่อรวบรวมนำส่งกรมสรรพากรในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปอยู่แล้ว ยังจำเป็นต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และการนำส่งอีกหรือไม่

วิสัชนา ข้อกำหนดดังกล่าวออกใช้ตั้งแต่ปี 2531 โดยมีวัตถุประสงค์ที่ใช้เตือนผู้จ่ายเงินได้ว่าอย่าลืมนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในแต่ละเดือน และใช้ตรวจสอบการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่อาจซ้ำซ้อนกับการจัดทำบัญชีทั่วไป และยังไม่ได้ถูกยกเลิก แต่ก็ลดทอนความสำคัญลงมากแล้ว จนเกือบไม่มีการกล่าวถึงในการตรวจสอบภาษีอากรของเจ้าหน้าที่สรรพากร แล้ว


ปัญหาหน้าที่และความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ (8)

ขอ นำประเด็นปัญหาการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นกิจการรับเหมาก่อสร้าง หรือผู้ผลิตที่มีลูกจ้าง พนักงาน หรือคนงานจำนวนมาก ไม่ทราบสถานภาพการหักลดหย่อนของผู้มีเงินได้ อย่างไร

วิสัชนา ผู้จ่ายเงินได้กรณีดังกล่าวที่มีลูกจ้าง พนักงาน หรือคนงานจำนวนมาก (ตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป) อาจทำความตกลงกับกรมสรรพากรเพื่อขอนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนี้

1. ขอนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นเงินก้อนรายเดือนตามที่ได้ตกลงไว้ หรือ

2. ขอนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นเงินก้อนรายเดือนตามที่คำนวณได้จริง หรือ

3. ขอนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นเงินก้อนรายเดือนในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้างแรงงานรายวันที่จ่าย

ทั้งนี้ ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องแสดงรายละเอียดเป็นรายบุคคลในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 1 และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว กำหนดให้ใช้เฉพาะกรณีพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นคนไทยเท่านั้น สำหรับลูกจ้างหรือพนักงานที่เป็นชาวต่างประเทศ ผู้จ่ายเงินได้ต้องแสดงรายละเอียดการหักภาษีเงินได้และการนำส่งเป็นรายบุคคล และแยกนำส่งต่างหาก ผู้จ่ายเงินได้อาจออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง พนักงานดังกล่าว เฉพาะกรณีที่ถูกร้องขอให้ออกหนังสือรับรอง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลายกรณี ทั้งการยกเว้นได้สุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท และการเพิ่มจำนวนค่าลดหย่อน ทำให้ลูกจ้างพนักงานดังกล่าวมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องคำนวณหักภาษีเงิน ได้ ณ ที่จ่าย แนวปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่เป็นที่นิยม ซึ่งผู้จ่ายเงินได้ต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินได้ไว้ในแบบ ภ.ง.ด. 1 ก. ต่อไป

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีผู้จ่ายเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงิน ได้หัก ณ ที่จ่าย โดยใช้แบบแสดงรายการที่ไม่ถูกต้องหรือผิดแบบแสดงรายการอย่างไร

วิสัชนา โดยทั่วไปถือว่า ผู้จ่ายเงินได้มิได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ถูกหรือที่ควรจะเป็นนั้นเลย ผู้จ่ายเงินได้ที่จึงต้องยื่นรายการและนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับที่ถูกต้องใหม่อีก แต่อย่างไรก็ตามหากผู้มีหน้าที่ยื่นรายการได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้ อนุโลมให้ถือว่า แบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการได้ยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีเงิน ได้หัก ณ ที่จ่ายไว้เป็นแบบแสดงรายการและจำนวนเงินที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมได้สิทธิตามคำอนุมัตินั้นเป็นรายๆ ไป เช่น ธนาคารฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไม่เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดสำหรับเดือนมี.ค. 2537 โดยได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 53 ซึ่งเป็นแบบนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ต้องใช้แบบ ภ.ง.ด.2 จำนวนเงิน 426,472.72 บาท และได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 ซึ่งเป็นแบบนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ต้องใช้แบบ ภ.ง.ด.53 จำนวนเงิน 3,578.02 บาท นั้น กรมสรรพากรอนุโลมให้ถือว่าธนาคารฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้ นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/10905 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2537)

ปุจฉา บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร แต่ในการกรอกแบบแสดงรายการ จะมีผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายบางรายไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เนื่องจากในบางครั้งบริษัทฯ มีความจำเป็นต้องจ้างคนท้องถิ่นซึ่งมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีให้ทำงานที่ มีมูลค่างานไม่มากนัก ดังนั้นเมื่อถึงเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี จึงไม่สามารถกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ถูกหักภาษีลงในแบบแสดงรายการ ได้ครบถ้วน กรณีเช่นนี้มีแนวทางปฏิบัติอย่างไร

วิสัชนา โดยทั่วไปบริษัทฯ จะต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงในแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถแจ้งได้ เพราะผู้ถูกหักภาษีมิได้ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรไว้ เมื่อบริษัทฯ ได้แจ้งชื่อ และที่อยู่ของผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงในแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว บริษัทฯ ก็ไม่มีความผิดและไม่ต้องเสียค่าปรับตามมาตรา 3 ทวาทศ แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/17247 ลงวันที่ 7 ก.ย. 2536) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันอาจใช้เลขประจำตัวประชาชนเฉพาะกรณีผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคล ธรรมดาแทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรก็ได้

ปุจฉา บริษัทฯ ประกอบกิจการประกันชีวิต มีรายจ่ายบางประเภทที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เช่น เงินเดือน ค่าบำเหน็จ ดอกเบี้ยจ่าย ค่าบริการ ค่าที่ปรึกษา ค่าเช่า เป็นต้น บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป แต่มีบางเดือนไม่มีการจ่าย บริษัทฯ ก็ไม่ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับรายจ่ายประเภทนั้นๆ เช่นนี้ บริษัทฯ ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา กรณีดังกล่าวถือว่า บริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว เพราะแบบแสดงรายการนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นั้น อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทใช้เป็นเอกสารนำส่งเงินภาษีที่ ตนมีหน้าที่ต้องหักและนำส่งต่อทางราชการกรมสรรพากร โดยจำแนกแบบแสดงรายการตามประเภทของเงินได้ที่จ่าย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/23017 ลงวันที่ 9 พ.ย. 2536)

ปัญหาหน้าที่และความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ (9)

ขอ นำประเด็นปัญหาการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : ปุจฉา สำหรับผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 ต้องมีหน้าที่อื่นใดหรือไม่

วิสัชนา สำหรับผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53

1. ให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้มีเงินได้ที่เป็นต่างด้าวอย่างน้อยตามแบบที่ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 39))

2. ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นรายการตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร แจ้งข้อความและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้มีเงินได้ที่เป็นบริษัทจำกัด นอกจากบริษัทจดทะเบียนซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผล และบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผล ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และแบบแจ้งข้อความและรายละเอียดตามข้อ 1 ให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.53

ปุจฉา สำหรับผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 ต้องมีหน้าที่อื่นใดหรือไม่

วิสัชนา สำหรับผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53

ปุจฉา กรณีบริษัทจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น ค่าสมนาคุณวิทยากร ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เช่นนี้ ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ก. บริษัทต้องแสดงรายการจ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวให้แก่ผู้มีเงินได้หรือ ไม่อย่างไร

วิสัชนา ในการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แม้บริษัทจะไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ตาม แต่บริษัทต้องแสดงรายการการจ่ายเงินได้ไว้ในแบบ ภ.ง.ด.1 ก. ที่ต้องยื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของปีถัดจากปีที่จ่ายเงินได้ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/19900 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2537)

ปุจฉา กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง หรือได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้ว แต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง แต่ผู้มีเงินได้ได้นำเงินได้พึงประเมินตามจำนวนที่ไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือตามจำนวนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแล้ว กรณีเช่นนี้มีผลกระทบต่อผู้จ่ายเงินได้อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าวกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ตามข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 91/2542 ว่า... ให้ถือว่าผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้ชำระหนี้ภาษีแล้ว ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจึงหลุดพ้นจากหนี้ภาษี เฉพาะเงินภาษีที่ต้องชำระต่อกรมสรรพากร ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร แต่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายยังคงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษี จนถึงวันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีครบจำนวนที่ถูกต้อง แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้ไม่ให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง

ปุจฉา กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้แล้ว แต่ไม่นำเงินส่งกรมสรรพากรหรือนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง กรณีเช่นนี้มีผลกระทบต่อผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าวกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ตามข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 91/2542 ว่า ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวจะต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียว

สำหรับผู้มีเงินได้จะพ้นความรับผิดใน จำนวนเงินภาษีเท่ากับจำนวนที่ถูกหักไว้ ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จึงมีสิทธินำเงินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามจำนวนที่ระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 60 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรได้

ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้มีเงินได้ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จริง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจะได้นำเงินส่งกรมสรรพากรหรือไม่ หรือนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้องก็ตาม หากตรวจสอบพบว่า ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว แต่ไม่ได้นำเงินส่งกรมสรรพากรหรือนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการทางแพ่งและทางอาญากับผู้จ่ายเงินดังกล่าว ให้นำส่งเงินภาษีให้ครบจำนวนที่ถูกต้องต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น