พรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2550 มีอะไรเพิ่มเติมบ้าง

พ.ร.บ. ฉบับใหม่ สมาชิกได้ประโยชน์อะไร นับตั้งแต่ประเทศไทยมี พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง คือ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2542 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ล่าสุด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา โดยสมาชิกจะได้รับประโยชน์ดีๆ เพิ่มขึ้น 5 ประการ ดังนี้

พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ. ศ. 2530

1) ออกจากงาน - คงเงินในกองทุนได้รับผลตอบแทนต่อเนื่อง
เมื่อก่อนถ้าเราออกจากงาน แต่ยังไม่สามารถโอนเงินกองทุนไปยังบริษัทนายจ้างใหม่ได้ เราสามารถขอ “คงเงิน” ของเราไว้ในกองทุนเดิมได้ไม่เกิน 1 ปี แต่เราจะถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิกกองทุน และเงินที่คงไว้จะแช่อยู่เฉยๆ ไม่มีสิทธิได้รับผลตอบแทนของกองทุน ดังนั้น ระหว่างที่เราคงเงิน ไม่ว่ากองทุนจะกำไร หรือขาดทุน เงินเราก็จะนิ่งอยู่เท่าเดิม แต่ตาม พ.ร.บ. ใหม่ ถ้าเราขอคงเงินไว้ในกองทุน ดังนั้น เงินของเราที่คงไว้จะยังได้รับผลตอบแทนต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าไม่ว่ากองทุนจะกำไร หรือขาดทุน เราก็จะมีส่วนได้เสียเหมือนสมาชิกคนอื่นที่อยู่ในกองทุน
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เราคงเงิน เราไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัทนายจ้างเดิมแล้ว ทั้งเราและนายจ้างจึงไม่ต้องนำส่งเงินสะสม-สมทบเข้ากองทุนอีก นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่คงเงิน จะไม่มี ผลต่อการนับอายุงาน หรืออายุสมาชิก เพื่อยืดสิทธิประโยชน์ในเงินส่วนของนายจ้าง หรือเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะทุกอย่างสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่เราออกจากงานแล้ว โดยกฎหมายกำหนดให้บริษัทจัดการต้องเปิดระยะเวลาคงเงินของสมาชิกได้ไม่น้อยกว่า 90 วัน โดยสมาชิกสามารถแจ้งระยะเวลาที่จะคงเงินในกองทุนได้ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน ทั้งนี้ทั้งนั้น จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องภาษี ว่าหากในที่สุดไม่ได้โอนกองทุนต่อไปยังกองทุนอื่น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่คงเงินต้องเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินกองทุนที่มีสิทธิได้รับในวันสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ อย่างไร คำถามนี้ ยังต้องรอคำตอบเรื่องภาษีจากกรมสรรพากรค่ะ

2) เกษียณอายุ - รับเงินเป็นงวดได้
จากเดิมถ้าสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เราจะได้รับเงินกองทุนทั้งก้อนครั้งเดียวภายใน 30 วัน นับจากวันสิ้นสมาชิกภาพ แต่ต่อจากนี้ คนเกษียณอายุมีสิทธิเลือกว่าอยากรับเงินทั้งหมดครั้งเดียว หรือจะเลือกทยอยรับเป็นงวดๆ คล้ายกับข้าราชการที่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญ และมีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ก็ได้ ดังนั้นคนเกษียณอายุที่ไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนต่อที่ไหนดี ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ปล่อยให้เป็นหน้าที่ผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารเงินให้ต่อ แล้วรอรับเงิน เป็นงวดๆ สบายกว่ากันเยอะเลย สำหรับระยะเวลาที่จะรับเงินจะนานเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบต่างๆ ของกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนเสนอให้เลือกภายใต้กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยระหว่างที่รอรับเงินไม่ต้องนำส่งเงินสะสม-สมทบเข้ากองทุน เช่นเดียวกันกับกรณีคงเงินในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี นั่นคือ ยังไม่มีคำตอบจากกรมสรรพากรว่าคนเกษียณอายุและขอรับเงินเป็น งวดจะยังต้องเสียภาษีหรือไม่

อย่างไร ดังนั้น ระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบเรื่องภษี คนที่เกษียณอายุตามเงื่อนไข (อายุตัวไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี) ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวนอยู่แล้ว ยังมีทางออกอื่น คือ รับเงินกองทุนออกไปทั้งหมดครั้งเดียว แล้วนำเงินไปลงทุนกองทุนรวม และทยอยขายกองทุนเป็นงวดๆ ซึ่งปัจจุบันยังได้รับการยกเว้นภาษีในเรื่องของ Capital Gain

3) Master Fund - ทางออกของคนอยากเลือกนโยบายการลงทุนเอง
ถึงแม้ที่ผ่านมาจะเปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตัวเอง (Employee’s Choice) แต่ 1 กองทุน มีได้เพียง 1 นโยบายการลงทุน ดังนั้น การมีหลายนโยบายการลงทุนให้สมาชิกเลือก นั่นหมายถึง การต้องจัดตั้งหลายกองทุน ซึ่งอาจไม่สะดวกต่อนายจ้างในการดำเนินการ เพราะต้องทำข้อบังคับกองทุนหลายชุด มีคณะกรรมการหลายชุด แต่ต่อไปนี้การจัดกองทุนในรูปแบบ Master Fund ซึ่งหนึ่งกองทุนสามารถมีได้หลายนโยบายการลงทุนซึ่งจะเป็น Employee’s Choice อย่างเต็มรูปแบบ และทำให้สมาชิกไม่เพียงแต่สามารถเลือกนโยบายได้ด้วยตนเอง แต่ยังจะสามารถจัดสรรสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองได้โดยไม่สร้างความยุ่งยากให้กับนายจ้าง

รูปแบบกองทุน Master Fund “หนึ่งกองทุน มีหลายนโยบายการลงทุน” ให้สมาชิกเลือก

อย่างไรก็ดี การจัดทำ Employee’s Choice ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเดิม หรือ Master Fund ก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือ สมาชิกต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนที่ดีพอที่จะสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตนเองจริงๆ

4) เงื่อนไขการจ่ายเงิน – นายจ้างต้องเป็นธรรม
จริงอยู่ถึงแม้ว่าเงินกองทุนส่วนของนายจ้าง นายจ้างมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขว่าจะให้สมาชิกเท่าไร เมื่อไรซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่ กำหนดเอาจำนวนปีที่ทำงาน หรือจำนวนปีที่เป็นสมาชิกกองทุน เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ แต่หากระยะเวลาที่กำหนดนั้นนานเกินไป ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตาม พ.ร.บ. ใหม่ จึงกำหนดว่าการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินส่วนของนายจ้างต้องไม่ตัดสิทธิลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีแนวทางในการพิจารณารับจดทะเบียนกองทุนให้เฉพาะบริษัทที่กำหนดระยะเวลาที่สมาชิกจะได้รับเงินส่วนของนายจ้างเต็มจำนวน ไม่เกิน 10 ปี หากเกินกว่านี้ ก.ล.ต. จะไม่รับจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม การกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินส่วนของนายจ้างที่ต้องไม่ตัดสิทธิลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ ยกเว้น กรณีลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน หรือกรณีเป็นเหตุให้นายจ้างเสียหายร้ายแรง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีข้อกำหนด ห้ามพนักงานสูบบุหรี่ โดยกำหนดโทษร้ายแรงให้ออกจากงาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของบริษัทและเพื่อนพนักงาน

5) เงินกองทุน กบข. – โอนมาเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
ข่าวดีสำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และเปลี่ยนใจลาออกจากราชการมาทำงานกับบริษัทเอกชน ตอนนี้คุณสามารถโอนเงินกองทุน กบข. ที่มีสิทธิได้รับทั้งจำนวนมาเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชนได้ ทำให้สามารถออมเงินได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจาก กบข. ไปเสียภาษี เพราะเหตุออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ แต่สำหรับพนักงานเอกชนที่จะไปรับราชการ ตอนนี้ยังไม่สามารถโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเข้ากองทุน กบข. ได้ ต้องรอให้ กบข. แก้ไข พ.ร.บ. ก่อนค่ะ

ที่มา.. TISCO Asset Management Co.,Ltd.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น