กรรมการมีสิทธิ์เป็นผู้ประกันตนหรือไม่

หลาย ๆ บริษัท ยังคงมีปัญหาคาใจเกี่ยวกับ การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนซึ่งจะเกี่ยวพันไปถึงการหักเงินสมทบประกัน สังคมของผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท จึงได้เสาะหาข้อมูลมาเพื่อไขข้อข้องใจของท่านดังนี้
-------------
จากข้อมูลที่ทราบ เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทางสำนักงานประกันสังคมเขาจะตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่า ผู้ที่เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น ๆ มีนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างกันแน่ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าถ้าพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บุคคลผู้เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นดังกล่าว อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” หรือเป็น “นายจ้าง” โดยกฎหมายที่ว่าได้ให้ความหมายพอสรุปได้ว่า
------------------
“ลูกจ้าง” คือ ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง โดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างอันหมายความว่าลูกจ้างต้องทำงานตาม ที่นายจ้างสั่ง และต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้
------------------
สำหรับ “นายจ้าง” หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่ง กรรมการหรือผู้ถือหุ้น ที่จะไม่อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. เป็นผู้เริ่มก่อการและก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่แรก หรือเป็นผู้ถือหุ้น
2. ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท กล่าวคือ ลักษณะงานไม่เหมือนลูกจ้าง ไม่มีการสมัครงานปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ต้องมาทำงานในเวลาทำการทุกวัน การลา ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท
3. ไม่มีผู้บังคับบัญชา
4. การทำงานให้กับบริษัท เป็นการทำงานในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของ บริษัท เป็นการทำกิจการด้วยจุดประสงค์เพื่อจะแบ่งปันกำไรอันพึงได้เท่านั้น
------------------
ดังนั้น หากแม้ว่ามีตำแหน่งเป็น กรรมการ แต่ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท และยังเป็นผู้ที่ถูกว่าจ้างให้ทำงานโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งจะต้องทำงานอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท ซึ่งหากฝ่าฝืน บริษัทสามารถลงโทษได้ และหากมีการเลิกจ้าง บุคคลผู้นี้สามารถเรียกค่าชดเชยจากบริษัทได้ ก็จะถือว่ากรรมการผู้นี้เป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
------------------
และจากข้อมูลที่ทราบในขณะนี้ มีหลาย ๆ บริษัทที่ผู้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” ไม่อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท เพราะมีคุณสมบัติครบตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้ง 4 ข้อ เพียงแต่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทเป็นรายเดือน ซึ่งผู้ทำหน้าที่หักเงินประกันสังคมของบริษัทก็เข้าใจว่าการรับค่าตอบแทน จากบริษัทก็ถือเป็นค่าจ้าง ซึ่งจะต้องนำไปหักเงินสมทบประกันสังคมเพื่อนำส่งให้กับสำนักงานประกันสังคม ทุกเดือนตามปกติ หากนำมาพิจารณาดู ในเมื่อตนเองเป็น “นายจ้าง” ก็กลายเป็นว่าตนเองในฐานะ “นายจ้าง” ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมถึง 2 ส่วน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ถึงแม้จะมีสิทธิใช้บริการจากสำนักงานประกันสังคมใน 7 เรื่องที่ทราบกันอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ไปใช้บริการเหล่านี้ จากสำนักงานประกันสังคมเลย ยิ่งถ้าพูดถึงระดับอายุ ส่วนใหญ่ก็เลยวัยคลอดบุตรหรือมีบุตรแล้ว หรือถ้ามีบุตรก็โตเกินกว่าจะใช้บริการสงเคราะห์บุตร ถ้าพูดถึงฐานะการเงินก็มีพอที่จะใช้จ่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาจากรัฐ ส่วนเรื่องการว่างงานก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะคนกลุ่มนี้คงไม่ถูกเลิกจ้างแน่ ๆ ยกเว้นอยากจะทำตัวว่างงานเอง และตามพระราชบัญญัติประกันสังคมแล้ว บุคคลที่เข้าข่ายเป็น “นายจ้าง” ก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนต่อสำนักงานประกันสังคมอีกด้วย
------------------
ดังนั้น หากบริษัทใดมีผู้ดำรงตำแหน่งที่เข้าข่ายไม่ได้เป็น “ลูกจ้าง” และยังคงหักเงินสมทบประกันสังคมอยู่ ก็สามารถทำหนังสือถึงฝ่ายเงินสมทบและการตรวจสอบ สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ ที่บริษัทท่านส่งเงินสมทบอยู่ เพื่อแจ้งขอไม่ส่งเงินสมทบของบุคคลที่มีฐานะเป็น “นายจ้าง” พร้อมทั้งขอคืนเงินส่วนที่หักไปแล้ว ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะคืนให้ได้ในบางส่วนด้วย สำหรับรายละเอียดท่านสามารถขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม ทุกแห่ง

ที่มา..http://www.sso.go.th/forum/page_2342

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น