ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับการลงทุนใน LTF

ให้ซื้อเมื่อเห็นว่าราคาต่ำและขายเมื่อเห็นว่าราคาสูง  โดยไม่ต้องสนใจนำส่วนที่ซื้อไปยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี  อยากทราบว่าทำได้จริงหรือไม่ แล้วมีผลอย่างไรเกี่ยวกับภาษีบ้างหรือไม่ รบกวนขอคำอธิบายด้วยค่ะ

A....การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นั้น  ไม่ได้มีข้อห้ามในการที่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีการลงทุนเฉพาะส่วนที่เป็นไปตามจำนวนที่มีสิทธิ์ลงทุนเพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี เช่น กรณีของ LTF คือไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งหมดประจำปีภาษีนั้น   แล้วผู้มีเงินได้จะไม่ใช้สิทธิ์นั้นในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีครับ   ซึ่งการไม่ใช้สิทธิ์ในลักษณะนี้ จะทำให้ผู้มีเงินได้ไม่มีภาระใดๆ ที่จะต้องนำเงินภาษีที่เคยหักลดหย่อนจากการลงทุนใน LTF หรือ RMF คืนให้กับกรมสรรพากรเมื่อมีการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการลงทุนครับ  ทั้งนี้ รวมถึงเงินเพิ่มที่จะเกิดจากส่วนที่มีการใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีสำหรับการลงทุนใน LTF หรือเงินเพิ่มที่จะเกิดจากการชำระคืนภาษีที่เคยหักลดหย่อนย้อนหลังไม่เกิน 5 ปีปฏิทินไม่ทันภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่มีการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการลงทุนสำหรับการลงทุนใน RMF เหมือนการนำไปใช้สิทธิ์ด้วยครับ

อย่างไรก็ดี ผมขอทำความเข้าใจและเรียนให้ผู้อ่านทราบเสียก่อนว่า ตามความใน (32) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) กำหนดให้เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  แต่ไม่รวมถึงเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ RMF หรือ LTF ครับ 

ซึ่งหลังจากความใน (32) แล้วจึงมาดูความใน (66) กับ (67) สำหรับ LTF  และ (56) กับ (65) สำหรับ RMF ที่กำหนดให้เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ LTF และ RMF ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเท่านั้นที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี  สรุปคือ หากผู้มีเงินได้ขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแล้วมีกำไร  กำไรที่เกิดจากการลงทุนในกองทุนรวมนั้นได้รับยกเว้นภาษี  เว้นแต่กำไรที่เกิดจากการลงทุนนั้นเป็น RMF หรือ LTF จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีถ้าไม่ได้เป็นการลงทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เช่น กรณีของ LTF คือ กำไรที่เกิดจากการลงทุนเฉพาะที่มาจากส่วนที่ลงทุนไว้ตามสิทธิ์ที่ได้รับยกเว้นภาษี และถือครอง LTF ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน ครับ

ดังนั้น กรณีผู้มีเงินได้ซื้อๆ ขายๆ LTF เพื่อเก็งกำไรระยะสั้นๆ คือ มีการถือครอง LTF น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน  ผู้มีเงินได้จะมีภาระและหน้าที่ที่จะต้องนำเงินกำไรที่ได้นั้นไปรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีประจำปีด้วย  ซึ่งหากผู้มีเงินได้ไม่ดำเนินการตามที่กรมสรรพากรกำหนดก็อาจจะทำให้ผู้มีเงินได้มีภาระในเรื่องเงินเพิ่มและเบี้ยปรับได้ แล้วแต่กรณีครับ   แต่ถ้าการซื้อขาย LTF ที่มีการถือครองมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน  แม้ผู้มีเงินได้จะไม่ได้นำเงินค่าซื้อในจำนวนที่ไม่เกินกว่าสิทธิ์ คือ ไม่เกิน 15% ของเงินได้ไปใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีไว้  แล้วมีกำไรจากการลงทุน  เงินกำไรที่ได้นั้นก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกันกับกรณีใช้สิทธิ์ครับ  ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีของส่วนที่มีการซื้อเกินจำนวนที่มีสิทธิ์ คือ เกินกว่า 15% ของเงินได้  ถึงจะถือครอง LTF ไว้เป็นระยะเวลานานเท่าไร  เมื่อมีการขายคืน LTF แล้วมีกำไรก็จะต้องนำกำไรที่ได้ไปรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีประจำปีเสมอนะครับ

ผู้มีเงินได้จึงต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่า หากจะเก็งกำไรระยะสั้นใน LTF นั้นจะมีภาระและหน้าที่ในการเสียภาษีกำไรที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่ลงทุนตามฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีเงินได้ คือ ไม่สามารถเอากำไรทั้งหมดมาหักกลบกับขาดทุนทั้งหมดเพื่อคำนวณภาษีได้  แล้วนำผลตอบแทนสุทธิที่จะได้รับเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารแห่งทุนทั่วไปที่นโยบายการลงทุนเหมือนๆ กันแต่ไม่ได้เป็น LTF ที่ไม่มีภาระและหน้าที่ในการเสียภาษีกำไรที่เกิดจากการลงทุนว่าอย่างไรจะดีกว่ากันครับ

ที่มา..bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น