เรื่อง ต้นทุนการกู้ยืม
คำแถลงการณ์
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชี
ระหว่างประเทศ ฉบับที่ 23 เรื่อง ต้นทุนการกู้ยืม พ.ศ. 2549 (IAS 23 Borrowing Costs (2006)) ซึ่งมีข้อ
แตกต่างจากมาตรฐานการบัญชีฉบับเดิม ดังนี้
1. ยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่กำหนดให้กิจการที่มีการกู้ยืมเงินต่างประเทศสามารถนำต้นทุนดอกเบี้ย
ในแต่ละงวด (ที่รวมผลต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว) มารวมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ได้
ไม่เกินจำนวนต้นทุนดอกเบี้ยที่ผู้กู้พึงต้องจ่าย หากสมมติว่ากู้ยืมเป็นเงินบาทที่มีเงื่อนไข
คล้ายคลึงกัน
2. ยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่กำหนดให้กิจการที่มีการกู้ยืมเงินเพื่อพัฒนาที่ดิน เพื่อใช้ก่อสร้างอาคาร
ให้นำต้นทุนการกู้ยืมที่เกิดขึ้นไปรวมเป็นต้นทุนของอาคาร
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 33 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง ต้นทุนการกู้ยืม
ขอบเขต
1. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติกับการบัญชีสำหรับต้นทุนการกู้ยืม
คำนิยาม
2. คำศัพท์ที่ใช้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้มีความหมายโดยเฉพาะ ดังนี้
ต้นทุนการกู้ยืม หมายถึง ดอกเบี้ยและต้นทุนอื่นที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมของกิจการ
สินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไข หมายถึง สินทรัพย์ที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานในการเตรียมพร้อม
เพื่อให้สามารถนำสินทรัพย์นั้นมาใช้ได้ตามประสงค์หรือนำไป
ขาย
ต้นทุนการกู้ยืม - แนวทางที่กำหนดให้ถือปฏิบัติ
การรับรู้รายการ
3. ต้นทุนการกู้ยืมต้องถือเป็นค่าใช้จ่ายในงวดบัญชีที่ค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้น
การเปิดเผยข้อมูล
4. กิจการต้องเปิดเผยนโยบายการบัญชีที่ถือปฏิบัติเกี่ยวกับต้นทุนการกู้ยืม
ต้นทุนการกู้ยืม - แนวทางที่อาจเลือกปฏิบัติ
การรับรู้รายการ
5. ต้นทุนการกู้ยืมต้องถือเป็นค่าใช้จ่ายในงวดบัญชีที่ค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้น ยกเว้นต้นทุนการกู้ยืมที่สามารถ
รวมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ได้ตามที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่ 11
6. ต้นทุนการกู้ยืมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มา การก่อสร้าง หรือการผลิตสินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไข
ต้องรวมเป็นส่วนหนึ่งของราคาทุนของสินทรัพย์นั้น จำนวนต้นทุนการกู้ยืมที่อนุญาตให้รวมเป็นราคาทุน
ของสินทรัพย์ต้องคำนวณตามที่มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ระบุไว้
ต้นทุนการกู้ยืมที่อนุญาตให้รวมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์
7. สำหรับเงินที่กู้มาโดยเฉพาะเพื่อการจัดหาสินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไข จำนวนต้นทุนการกู้ยืมที่อนุญาตให้
รวมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ต้องเป็นต้นทุนการกู้ยืมที่เกิดขึ้นจริงระหว่างงวดของเงินกู้นั้นหักด้วย
รายได้ที่เกิดจากการนำเงินกู้ดังกล่าวไปลงทุนเป็นการชั่วคราว
8. สำหรับเงินที่กู้มาเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปและได้นำมาใช้จัดหาสินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไข จำนวนต้นทุนการ
กู้ยืมที่อนุญาตให้รวมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ต้องคำนวณโดยการคูณรายจ่ายของสินทรัพย์นั้นด้วย
อัตราการตั้งขึ้นเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ คือ อัตราถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของต้นทุนการกู้ยืมในระหว่างงวดที่ไม่รวมต้นทุนการกู้ยืมของเงินที่กู้มาโดยเฉพาะ จำนวนต้นทุนการกู้ยืมที่รวมเป็นราคาทุนของ
สินทรัพย์ในงวดนั้นต้องไม่เกินจำนวนต้นทุนการกู้ยืมทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นในงวดเดียวกัน
การเริ่มต้นการรวมต้นทุนการกู้ยืมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์
9. ต้นทุนการกู้ยืมอาจรวมเป็นส่วนหนึ่งของราคาทุนของสินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไขเมื่อเข้าเกณฑ์ทุกข้อ
ดังต่อไปนี้
9.1 รายจ่ายเกี่ยวกับสินทรัพย์ได้เกิดขึ้น
9.2 ต้นทุนการกู้ยืมได้เกิดขึ้น
9.3 สินทรัพย์อยู่ระหว่างการดำเนินการที่จำเป็นในการเตรียมสินทรัพย์ให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้
ตามประสงค์หรือพร้อมที่จะขาย
การหยุดพักการรวมต้นทุนการกู้ยืมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์
10. การรวมต้นทุนการกู้ยืมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ต้องหยุดพักในระหว่างที่การดำเนินการพัฒนา
สินทรัพย์หยุดชะงักลงเป็นเวลาต่อเนื่อง
การสิ้นสุดการรวมต้นทุนการกู้ยืมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์
11. การรวมต้นทุนการกู้ยืมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ต้องสิ้นสุดลงเมื่อการดำเนินการส่วนใหญ่ที่จำเป็น
ในการเตรียมสินทรัพย์ให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์หรือพร้อมที่จะขายได้เสร็จสิ้นลง
12. สำหรับสินทรัพย์ที่สร้างเสร็จเป็นบางส่วนและสามารถใช้งานได้ขณะที่สินทรัพย์ส่วนอื่นยังอยู่ในระหว่าง
การก่อสร้าง ให้หยุดรวมต้นทุนการกู้ยืมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ส่วนที่สร้างเสร็จ หากการดำเนินการ
ส่วนใหญ่ที่จำเป็นในการเตรียมสินทรัพย์บางส่วนให้พร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์หรือพร้อมที่จะขาย
ของสินทรัพย์ส่วนนั้นเสร็จสิ้นลง
การเปิดเผยข้อมูล
13. งบการเงินต้องเปิดเผยข้อมูลทุกข้อดังต่อไปนี้
13.1 นโยบายการบัญชีที่ใช้สำหรับต้นทุนการกู้ยืม
13.2 จำนวนต้นทุนการกู้ยืมที่รวมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ในระหว่างงวด
13.3 อัตราการตั้งขึ้นเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ที่ใช้คำนวณต้นทุนการกู้ยืมที่อนุญาตให้รวมเป็นราคา
ทุนของสินทรัพย์
การปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนแปลง
14. หากการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ทำให้กิจการต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชี มาตรฐาน
การบัญชีฉบับนี้สนับสนุนให้กิจการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 39 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง
นโยบายบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี และข้อผิดพลาด หรือกิจการอาจรวมต้นทุน
การกู้ยืมที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติเป็นราคาทุนของสินทรัพย์
วันถือปฏิบัติ
15. มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 33 (ปรับปรุง 2550) นี้ให้ถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบ
ระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป
คลิ๊กเพื่อดูไฟล์ฉบับเต็ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น