มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 44 (ปรับปรุง 2550)

เรื่อง งบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ
คำแถลงการณ์
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 27 เรื่อง
งบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ พ.ศ. 2549 (IAS No. 27, Consolidated and Separate Financial
Statements (revised 2006))

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 44 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง งบการเงินรวมและงบการเงิน
เฉพาะกิจการ
ขอบเขต
1. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติกับการจัดทำและนำเสนองบการเงินรวมสำหรับกลุ่มกิจการที่อยู่
ภายใต้การควบคุมของบริษัทใหญ่
2. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติกับวิธีการบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อย เงินลงทุนในกิจการ
ที่ควบคุมร่วมกัน และเงินลงทุนในบริษัทร่วมในงบการเงินเฉพาะกิจการ
คำนิยาม
3. คำศัพท์ที่ใช้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้มีความหมายโดยเฉพาะ ดังนี้
งบการเงินรวม หมายถึง งบการเงินของกลุ่มกิจการที่นำเสนอเสมือนว่าเป็นงบการเงินของ
หน่วยงานทางเศรษฐกิจหน่วยงานเดียว
การควบคุม หมายถึง อำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของ
กิจการเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมต่างๆ ของกิจการนั้น
วิธีราคาทุน หมายถึง วิธีการบัญชีสำหรับเงินลงทุนซึ่งรับรู้รายการด้วยราคาทุน โดย
ผู้ลงทุนจะรับรู้รายได้จากเงินลงทุนเมื่อผู้ลงทุนได้รับการปันส่วน
รายได้จากกำไรสะสมของกิจการที่ถูกลงทุนหลังจากวันที่ได้ลงทุน
ในกิจการนั้น ทั้งนี้ การปันส่วนรายได้ที่ได้รับในส่วนที่เกินกว่า
กำไรดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการคืนเงินลงทุน ซึ่งจะรับรู้รายการโดย
การลดราคาทุนของเงินลงทุนนั้น
กลุ่มกิจการ หมายถึง บริษัทใหญ่และบริษัทย่อยทุกบริษัทของบริษัทใหญ่
ส่วนได้เสียของ
ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
หมายถึง ส่วนของกำไรหรือขาดทุน และสินทรัพย์สุทธิของบริษัทย่อย เฉพาะ
ส่วนที่เป็นส่วนได้เสียในส่วนของเจ้าของที่ไม่ได้เป็นของบริษัทใหญ่
ทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมผ่านทางบริษัทย่อยของบริษัทใหญ่
บริษัทใหญ่ หมายถึง กิจการซึ่งมีบริษัทย่อยอย่างน้อยหนึ่งแห่ง
งบการเงินเฉพาะ
กิจการ
หมายถึง งบการเงินที่นำเสนอโดยบริษัทใหญ่ หรือโดยผู้ลงทุนในบริษัทร่วม
หรือโดยผู้ร่วมค้าในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน ซึ่งการบันทึกบัญชี
เงินลงทุนเป็นไปตามเกณฑ์ส่วนได้เสียในส่วนของเจ้าของโดยตรง
มิใช่ตามเกณฑ์ของผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นและสินทรัพย์สุทธิ
ของกิจการที่ถูกลงทุน
บริษัทย่อย หมายถึง กิจการซึ่งรวมถึงกิจการที่ไม่ได้ก่อตั้งในรูปบริษัท เช่น ห้างหุ้นส่วน
ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการอื่น (บริษัทใหญ่) การนำเสนองบการเงินรวม
4. บริษัทใหญ่ต้องนำเสนองบการเงินรวมซึ่งรวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยทั้งหมดตามมาตรฐานการบัญชี
ฉบับนี้ เว้นแต่บริษัทใหญ่จะมีลักษณะตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่ 5
5. บริษัทใหญ่ไม่จำเป็นต้องนำเสนองบการเงินรวม หากเป็นไปตามลักษณะที่กำหนดทุกข้อดังนี้
5.1 บริษัทใหญ่มีฐานะเป็นบริษัทย่อยซึ่งถูกกิจการอื่นควบคุมอยู่ทั้งหมด หรือบางส่วน โดยที่ผู้ถือหุ้นอื่น
ของกิจการ รวมทั้งผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบและไม่คัดค้านในการที่บริษัทใหญ่จะ
ไม่นำเสนองบการเงินรวม
5.2 ตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของบริษัทใหญ่ไม่มีการซื้อขายในตลาดสาธารณะ (ไม่ว่าจะเป็นตลาด
หลักทรัพย์ในประเทศหรือต่างประเทศหรือการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งตลาดใน
ท้องถิ่นและในภูมิภาค)
5.3 บริษัทใหญ่ไม่ได้นำส่งหรืออยู่ในกระบวนการของการนำส่งงบการเงินของบริษัทให้แก่สำนักงาน
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่น เพื่อวัตถุประสงค์ในการออกขาย
หลักทรัพย์ใดๆ ในตลาดสาธารณะ
5.4 บริษัทใหญ่ในลำดับสูงสุดหรือบริษัทใหญ่ในระหว่างกลางได้จัดทำงบการเงินรวมเผยแพร่เพื่อ
ประโยชน์ของสาธารณชนซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปแล้ว
ขอบเขตของงบการเงินรวม
6. ในการนำเสนองบการเงินรวม บริษัทใหญ่ต้องรวมงบการเงินของบริษัทย่อยทั้งหมดไว้ในงบการเงินรวม
ขั้นตอนในการจัดทำงบการเงินรวม
7. กิจการต้องตัดยอดคงเหลือ รายการบัญชี รวมถึงรายได้และค่าใช้จ่ายระหว่างกันของกิจการที่อยู่ในกลุ่ม
ทั้งจำนวน
8. งบการเงินของบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยที่นำมาจัดทำงบการเงินรวมนั้นต้องมีวันที่ในงบการเงิน
วันเดียวกัน หากวันที่ในงบการเงินของบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยแตกต่างกัน บริษัทย่อยจะต้องจัดทำ
งบการเงินเพิ่มเติมเพื่อให้งบการเงินนั้นมีวันที่เดียวกันกับงบการเงินของบริษัทใหญ่เพื่อประโยชน์
ในการจัดทำงบการเงินรวม เว้นแต่จะไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ
9. เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 8 หากงบการเงินของบริษัทย่อยที่นำมาจัดทำงบการเงินรวมมี
วันที่ในงบการเงินแตกต่างจากวันที่ในงบการเงินของบริษัทใหญ่ กิจการต้องปรับปรุงผลกระทบ
ของรายการบัญชีหรือเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ในงบการเงินของบริษัทย่อยกับวันที่
ในงบการเงินของบริษัทใหญ่ อย่างไรก็ตาม งบการเงินของบริษัทย่อยและบริษัทใหญ่ที่นำมาจัดทำ
งบการเงินรวมอาจมีวันที่ในงบการเงินแตกต่างกันได้ไม่เกินกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลางวดบัญชี
ของงบการเงินและความแตกต่างของวันที่ในงบการเงินจะต้องเหมือนกันในทุกๆ งวดบัญชี
10. งบการเงินรวมต้องจัดทำโดยใช้นโยบายการบัญชีเดียวกันสำหรับรายการบัญชีที่เหมือนกันและ
เหตุการณ์อื่นในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
11. กิจการต้องบันทึกบัญชีเงินลงทุนในกิจการอื่นตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การ
รับรู้และการวัดมูลค่าตราสารการเงิน (เมื่อมีการประกาศใช้) นับจากวันที่กิจการนั้นสิ้นสุดการเป็น
บริษัทย่อย โดยที่บริษัทย่อยนั้นไม่ได้เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทร่วมตามคำนิยามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน
การบัญชี ฉบับที่ 45 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วม หรือเป็นกิจการที่ควบคุมร่วมกัน
ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 46 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง ส่วนได้เสียในการร่วมค้า
12. มูลค่าตามบัญชีของเงินลงทุนในบริษัทย่อย นับจากวันที่กิจการสิ้นสุดการเป็นบริษัทย่อย ให้ถือเป็น
ราคาทุนเริ่มแรกของสินทรัพย์ทางการเงิน ตามมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่า
ตราสารการเงิน (เมื่อมีการประกาศใช้)
13. ส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยต้องแสดงในงบดุลรวมเป็นรายการแยกต่างหากจากส่วนของผู้ถือหุ้น
ที่เป็นของบริษัทใหญ่ภายใต้ส่วนของเจ้าของ กำไรหรือขาดทุนที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยต้อง
แสดงเป็นรายการแยกต่างหากเช่นเดียวกัน
การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อย เงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน และเงิน
ลงทุนในบริษัทร่วมในงบการเงินเฉพาะกิจการ
14. เมื่อจัดทำงบการเงินเฉพาะกิจการ เงินลงทุนในบริษัทย่อย หรือเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน
หรือเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่ไม่ได้จัดประเภทเป็นเงินลงทุนถือไว้เพื่อขายหรือรวมอยู่ในกลุ่มกิจการ
รอจำหน่ายตามมาตรฐานการบัญชี เรื่อง สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่
ยกเลิก (เมื่อมีการประกาศใช้) ให้บันทึกบัญชีด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
14.1 ราคาทุน
14.2 วิธีการบัญชีตามที่กำหนดในมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าตราสารการเงิน
(เมื่อมีการประกาศใช้)
ให้ใช้วิธีปฏิบัติทางบัญชีเดียวกันสำหรับเงินลงทุนแต่ละประเภท สำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อย หรือ
เงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน หรือเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่จัดประเภทเป็นเงินลงทุนถือไว้
เพื่อขายหรือรวมอยู่ในกลุ่มกิจการรอจำหน่ายให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี เรื่อง สินทรัพย์
ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก (เมื่อมีการประกาศใช้)
15. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้กำหนดให้กิจการต้องนำเสนองบการเงินเฉพาะกิจการเพื่อประโยชน์ต่อ
สาธารณะ ซึ่งกิจการที่มีการนำเสนองบการเงินเฉพาะกิจการต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 14
และย่อหน้าที่ 16 - 19 เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติของมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป ทั้งนี้
กิจการต้องนำเสนองบการเงินรวมตามที่กำหนดในย่อหน้าที่ 4 โดยในกรณีที่กิจการมีเฉพาะเงินลงทุนใน
บริษัทร่วมหรือเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน ก็ให้เสนองบการเงินแบบงบการเงินที่แสดง
เงินลงทุนในบริษัทร่วมหรือเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกันตามวิธีส่วนได้เสีย เว้นแต่จะเป็นไปตาม
ข้อยกเว้นที่กำหนดในย่อหน้าที่ 5

16. เงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน และเงินลงทุนในบริษัทร่วม ซึ่งกิจการได้บันทึกบัญชีตามข้อกำหนด
ของมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าตราสารการเงิน (เมื่อมีการประกาศใช้) ใน
งบการเงินรวม กิจการต้องใช้วิธีการบัญชีเดียวกันนั้นในการบันทึกบัญชีเงินลงทุนดังกล่าวในงบการเงิน
เฉพาะกิจการของผู้ลงทุนด้วย
การเปิดเผยข้อมูล
17. กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลต่อไปนี้ในงบการเงินรวม
17.1 ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยในกรณีที่บริษัทใหญ่ไม่มีอำนาจ
ในการออกเสียงในบริษัทย่อยนั้นเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมโดยผ่านกิจการ
หรือบริษัทย่อยอื่น
17.2 เหตุผลที่กิจการไม่มีอำนาจในการควบคุมกิจการอื่นทั้งที่กิจการมีอำนาจในการออกเสียงหรือ
อำนาจในการออกเสียงที่อาจเกิดขึ้นในกิจการนั้นไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมโดยผ่านกิจการ
หรือบริษัทย่อยอื่นเกินกว่ากึ่งหนึ่ง
17.3 วันที่ในงบการเงินของบริษัทย่อย เมื่องบการเงินของบริษัทย่อยซึ่งรวมอยู่ในงบการเงินรวมมีวันที่
ในงบการเงินแตกต่างจากวันที่ในงบการเงินของบริษัทใหญ่ รวมทั้งเหตุผลในการใช้วันที่
ในงบการเงินหรืองวดบัญชีที่แตกต่างกัน
17.4 ลักษณะและขอบเขตของข้อจำกัดใดๆ ที่มีสาระสำคัญ (เช่น ผลจากภาระผูกพันในการกู้ยืมหรือ
เงื่อนไขทางกฎหมาย) ต่อความสามารถของบริษัทย่อยในการโอนเงินทุนให้แก่บริษัทใหญ่ ไม่ว่า
จะเป็นในรูปของเงินปันผลหรือการจ่ายคืนเงินกู้ยืมหรือเงินทดรองจ่ายล่วงหน้า
18. หากบริษัทใหญ่เลือกที่จะไม่นำเสนองบการเงินรวมตามเงื่อนไขที่กำหนดในย่อหน้าที่ 5 บริษัทใหญ่ต้อง
เปิดเผยข้อมูลทุกข้อดังต่อไปนี้ในงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทใหญ่
18.1 ข้อเท็จจริงที่บริษัทใหญ่นำเสนองบการเงินเฉพาะกิจการ ข้อเท็จจริงที่บริษัทใหญ่เลือกที่จะไม่
จัดทำงบการเงินรวมเนื่องจากเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นที่กำหนด ชื่อบริษัทและประเทศที่จดทะเบียน
จัดตั้งบริษัทหรือสถานประกอบการของบริษัทที่มีการจัดทำงบการเงินรวมตามมาตรฐานการบัญชี
ที่รับรองทั่วไปเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชน รวมทั้งที่อยู่ที่บุคคลภายนอกสามารถติดต่อของบ
การเงินรวมดังกล่าวได้
18.2 รายละเอียดของเงินลงทุนในบริษัทย่อย เงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน และเงินลงทุนใน
บริษัทร่วมที่สำคัญ รวมทั้งรายชื่อของกิจการที่ถูกลงทุนดังกล่าว ประเทศที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
หรือสถานที่ประกอบการ สัดส่วนของความเป็นเจ้าของ และสัดส่วนของอำนาจในการออกเสียงใน
กรณีที่ต่างจากสัดส่วนของความเป็นเจ้าของ
18.3 คำอธิบายวิธีการทางบัญชีที่ใช้ในการบันทึกบัญชีเงินลงทุนที่แสดงรายละเอียดตามย่อหน้าที่ 18.2
19. หากบริษัทใหญ่ (นอกเหนือจากบริษัทใหญ่ตามย่อหน้าที่ 18) ผู้ร่วมค้าที่มีส่วนได้เสียในกิจการที่
ควบคุมร่วมกัน หรือผู้ลงทุนในบริษัทร่วม ได้จัดทำงบการเงินเฉพาะกิจการเพิ่มเติมจากงบการเงินรวม
งบการเงินเฉพาะกิจการดังกล่าวต้องเปิดเผยข้อมูลทุกข้อต่อไปนี้

19.1 ข้อเท็จจริงที่งบการเงินที่นำเสนอนั้นเป็นงบการเงินเฉพาะกิจการ รวมทั้งเหตุผลในการจัดทำ
งบการเงินเฉพาะกิจการดังกล่าว
19.2 รายละเอียดของเงินลงทุนในบริษัทย่อย เงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกัน และเงินลงทุนใน
บริษัทร่วมที่มีนัยสำคัญ รวมทั้งรายชื่อของกิจการที่ถูกลงทุนและประเทศที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
หรือสถานที่ประกอบการนั้นๆ สัดส่วนของความเป็นเจ้าของ และสัดส่วนของอำนาจในการ
ออกเสียงในกรณีที่ต่างจากสัดส่วนของความเป็นเจ้าของ
19.3 คำอธิบายวิธีการทางบัญชีที่ใช้ในการบันทึกบัญชีเงินลงทุนที่แสดงรายละเอียดตามย่อหน้าที่
19.2
นอกจากนี้ กิจการต้องระบุถึงงบการเงินที่นำมาจัดทำงบการเงินรวมตามที่กำหนดในย่อหน้าที่ 4 ของ
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ รวมทั้งมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 45 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง เงินลงทุน
ในบริษัทร่วม และ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 46 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง ส่วนได้เสียในการร่วมค้า
วันถือปฏิบัติ
20. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่
1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม กิจการสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ก่อน
วันถือปฏิบัติ และหากกิจการต้องการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2550
กิจการต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวในงบการเงิน

คลิ๊กเพื่อดูไฟล์ฉบับเต็ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น