หลักการของพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543

1. แก้ไขหลักการจากเดิมที่กำหนดให้ธุรกิจทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจตามประเภทที่ รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องจัดทำบัญชีเป็นกำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลเท่านั้น ที่มีหน้าที่จัดทำบัญชีและเพิ่มกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฏากรให้เป็นผู้ที่หน้าที่จัดทำบัญชีด้วยบุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่ต้องจัดทำบัญชี เว้นแต่รัฐมนตรีจะออกประกาศให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี


2. กำหนดให้ผู้ทำบัญชีต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของธุรกิจโดยแบ่งแยกหน้าที่และความรับผิดชอบ ระหว่างผู้ทำบัญชีและผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีให้ชัดเจน ซึ่งมีการเพิ่มโทษจากกฎหมายเดิมโดยบทกำหนดโทษมีทั้งโทษปรับและจำคุก สำหรับผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและผู้ทำบัญชีที่กระทำความผิด


3. ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดคุณสมบัติ และเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี รวมทั้งกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือผู้ทำบัญชีไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยให้คำนึงถึงมาตรฐานการบัญชี และข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันวิชาชีพบัญชีประกอบด้วย


4. กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง ยกเว้นให้งบการเงินของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่มีทุน, สินทรัพย์ หรือรายได้ รายการใดรายการหนึ่งหรือทุกรายการไม่เกินที่กำหนด โดยกฎกระทรวงไม่ต้องรับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต


5. ลดภาระของธุรกิจในการเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีจาก 10 ปีเหลือ 5 ปี เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นในการตรวจสอบบัญชี อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี มีอำนาจกำหนดให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเก็บรักษาบัญชี และ เอกสารประกอบการลงบัญชีไว้เกิน 5 ปีแต่ต้องไม่เกิน 7 ปี


6. กำหนดให้การจัดทำบัญชีต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมีการรับรองมาตรฐานการบัญชีที่สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีได้มีมติให้ประกาศใช้แล้วเป็นมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมาย


สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543


1. กำหนดผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี

กำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลเท่านั้นที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี และกำหนดให้กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีด้วย โดยกำหนดวันเริ่มทำบัญชีของนิติบุคคลต่างๆ ไว้ด้วย ดังนี้

ประเภทนิติบุคคล วันเริ่มทำบัญชี
- ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
- บริษัทจำกัด วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
- บริษัทมหาชนจำกัด วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบ

ธุรกิจในประเทศไทย วันที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทย
- กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร วันที่เริ่มต้นประกอบกิจการ


สำหรับบุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่ต้องจัดทำบัญชีเว้นแต่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะออกประกาศให้เป็นผู้ที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี ซึ่งเมื่อเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีแล้วจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับวันเริ่มทำบัญชีเริ่มแรก และวิธีการจัดทำบัญชีของบุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนนั้นตามที่อธิบดีกำหนด


2. กำหนดความรับผิดชอบในการจัดทำบัญชี
กำหนดความรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของธุรกิจ โดยแบ่งแยกหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและผู้ทำบัญชีอย่างชัดเจน ดังนี้


2.1 ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี หมายถึง ผู้มีหน้าที่จัดให้มีการทำบัญชี โดยมีหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนี้


2.1.1 ต้องจัดให้มีการทำบัญชีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดนับแต่วันเริ่มทำบัญชี

 

2.1.2 ต้องส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีให้แก่ผู้ทำบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วนเพื่อให้บัญชีที่จัดทำขึ้นสามารถแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งมาตรฐานการบัญชี หมายถึง หลักการบัญชีและวิธีปฏิบัติทางการบัญชีที่รับรองทั่วไป หรือมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมาย โดยในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีที่กฎหมายกำหนดให้ถือว่ามาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีได้มีมติให้ประกาศใช้แล้ว เป็นมาตรฐานการบัญชี ทั้งนี้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง


2.1.3 ต้องปิดบัญชีและจัดทำงบการเงิน โดยมีรายการย่อตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี พร้อมทั้งยื่นงบการเงินต่อสำนักงานกลางบัญชีหรือสำนักงานบัญชีประจำท้องที่ซึ่งงบการเงิน หมายถึงรายงานผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของกิจการ ไม่ว่าจะรายงานโดยงบดุล งบกำไรขาดทุน งบกำไรสะสม งบกระแสเงินสด งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น งบประกอบ หรือหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือคำอธิบายอื่นซึ่งระบุไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงิน


2.1.4 ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เว้นแต่งบการเงินของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฏหมายไทย ที่มีทุน สินทรัพย์ หรือรายได้ รายการใดรายการหนึ่งหรือทุกรายการไม่เกินที่กำหนดโดยกฎกระทรวงไม่ต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบงบการเงินได้


2.1.5 ต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ทำการหรือสถานที่ที่ใช้เป็นที่ทำการผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำ หรือสถานที่ที่ใช้เป็นที่ทำงานเป็นประจำ โดยเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีจะกำหนดให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีสำหรับกิจการบางประเภทเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้เกิน 5 ปีแต่ต้องไม่เกิน 7 ปีได้


2.1.6 ต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกำหนด โดยต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีดังกล่าวภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ในกรณีที่มีความจำเป็น อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีจะขยายกำหนดระยะเวลาออกไปอีกได้แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี ถ้าผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเป็นบุคคลธรรมดา จะเป็นผู้ทำบัญชีสำหรับกิจการของตนเองก็ได้


2.1.7 มีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ทำบัญชีให้จัดทำบัญชีให้ตรงต่อความเป็นจริงและถูกต้องตามกฎหมาย


2.2 ผู้ทำบัญชี หมายถึง ผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือไม่ก็ตาม โดยผู้ทำบัญชีจะต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชีตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้หากผู้ใดเป็นผู้ทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้ทำบัญชีตามที่อธิบดีกำหนด หากประสงค์จะเป็นผู้ทำบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป ให้ผู้ทำบัญชีนั้นแจ้งต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดภายใน60 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อผู้นั้นเข้ารับการอบรมและสำเร็จการอบรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนดแล้ว ให้ผู้นั้นเป็นผู้ทำบัญชีต่อไปได้เป็นเวลา 8 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


ผู้ทำบัญชีมีหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนี้


2.2.1 ต้องจัดทำบัญชีเพื่อให้มีการแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือ การเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชี โดยมีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน ในการจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีนั้น อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ทำบัญชีไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง


2.2.2 ในการลงรายการในบัญชี ผู้ทำบัญชีต้องลงรายการเป็นภาษาไทย หากลงรายการเป็นภาษาต่างประเทศ ให้มีภาษาไทยกำกับ หรือลงรายการเป็นรหัสบัญชีให้มีคู่มือคำแปลรหัสที่เป็นภาษาไทยไว้ รวมทั้งต้องเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด ตีพิมพ์ หรือทำด้วยวิธีอื่นใดที่ได้ผลในทำนองเดียวกัน


3.กำหนดอำนาจในการตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีกำหนดให้สารวัตรใหญ่บัญชีและสารวัตรบัญชีมีอำนาจตรวจสอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี โดยมีอำนาจเข้าไปในสถานที่ที่ทำการหรือสถานที่เก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี ของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือผู้ทำบัญชี หรือสถานที่รวบรวมหรือประมวลข้อมูลของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือผู้ทำบัญชี รวมทั้งมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี หรือผู้ทำบัญชีมาให้ถ้อยคำ หรือส่งบัญชีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี รวมทั้งเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำได้


4. บทกำหนดโทษ ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้จะต้องรับโทษตามลักษณะความผิด ซึ่งโทษมีทั้งโทษปรับ และจำคุก และในกรณีที่เป็นความผิดต่อเนื่องมีโทษปรับรายวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่น

กรณี บทกำหนดโทษ ผู้ที่ต้องรับโทษ

ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
- ไม่จัดให้มีการทำบัญชีตามพระราชบัญญัติ กำหนดและตามวันเริ่มทำบัญชีที่กำหนด ปรับไม่เกินสามหมื่นบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ไม่จัดทำงบการเงินและยื่นงบการเงินภายในเวลาที่กำหนด ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
- ไม่จัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบ และ แสดงความเห็นโดย ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
- ไม่ส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ประกอบ การลงบัญชี ให้แก่ผู้ทำบัญชีให้ถูกต้อง ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
- ไม่จัดให้มีผู้ทำบัญชีซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกำหนดปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท - ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น หรือ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งบัญชี หรือเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ - ลงรายการเท็จ แก้ไข ละเว้นการลง รายการในบัญชี หรืองบการเงิน หรือแก้ไขเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการ ลงบัญชีเพื่อให้ผิดความเป็นจริง จำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับผู้กระทำความผิด
- ไม่จัดทำบัญชีเพื่อให้มีการแสดงผล การดำเนินงาน ฐานะการเงินหรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน ตามความเป็นจริง และตามมาตรฐานการบัญชีปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
- ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น หรือ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งบัญชี หรือเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ลงรายการเท็จ แก้ไข ละเว้นการลง รายการในบัญชี หรืองบการเงิน หรือแก้ไขเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการ ลงบัญชีเพื่อให้ผิดความเป็นจริงจำคุกไม่เกินสองปี หรือ ปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


คลิ๊กเพื่อดูพระราชบัญญัติการบัญชี ปี 2543 ฉบับเต็ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น