รายจ่ายส่วนตัว (รายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณภาษี)

คำพิพากษาฎีกาที่7124/2545

บริษัท นิตาอินเตอร์เทรด จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร  จำเลย

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3) (4) (18) มาตรา 88/6

                   เจ้าพนักงานประเมินฯ ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ โจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 และได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนธันวาคม 2536 ตามหนังสือเลขที่ 1001010/5/100399 ลงวันที่ 15 มกราคม 2542 หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ตามหนังสือเลขที่ 1001010/2/100029 ลงวันที่ 29 มกราคม 2542 ไปยังบริษัทฯ โจทก์ บริษัทฯ โจทก์ ได้รับหนังสือ แจ้งการประเมินทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 บริษัทฯ โจทก์ ได้อุทธรณ์การประเมิน ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้เรียกเก็บ ภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2536 รวมเบี้ยปรับเงินเพิ่มเป็นเงิน 69,562.07 บาท โดยเรียกเก็บเบี้ยปรับเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนธันวาคม 2536 รวมเบี้ยปรับเงินเพิ่มเป็นเงิน 20,854.67 บาท โดยเรียกเก็บเบี้ยปรับเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย บริษัทฯ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการ ประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

คำพิพากษา

ศาลภาษีอากรกลาง พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000.- บาท

ศาลฎีกา

ประเด็นแรก การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนธันวาคม 2536 ของเจ้าพนักงานประเมินตามฟ้องเกินกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนด เวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี .และเกินห้าปีและเกินห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ภาษี กรณีประเมินโดยอนุมัติ อธิบดีเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความแถลงรับกันว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนธันวาคม 2536 อธิบดีกรมสรรพากรไม่เคยอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนธันวาคม 2536 นอกจากนี้ได้ความว่า กำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบ คือวันที่ 15 มกราคม 2542 ปรากฏว่า เจ้าพนักงานของจำเลยได้ขออนุมัติใช้อำนาจประเมินต่ออธิบดีกรมสรรพากรเมื่อ วันที่ 18 กันยายน 2541 อธิบดีกรมสรรพากรได้มีคำสั่งอนุมัติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2541 และส่งเรื่องกลับไปยังเจ้าพนักงานประเมินเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2542 เจ้าพนักงานจึงออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มลงวันที่ 15 มกราคม 2542 แก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานประเมินส่งหนังสือแจ้งการประเมิน  ดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 และโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 5 ปี ตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องจึงไม่ชอบ

ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณภาษีเงินได้ นิติบุคคลหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า

                     ค่าใช้จ่ายประเภทค่าใช้จ่ายเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า         ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

                     ค่าใช้จ่ายในการซื้อของส่วนใหญ่ระบุเพียงว่า "เบ็ดเตล็ด" ไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะหรือไม่ และใบเสร็จรับเงินออกโดยห้างสรรพสินค้าระบุว่า ซื้อจากแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต บางฉบับระบุว่าเป็นการซื้ออาหาร ผัก ผลไม้ หลอดไฟ ฟิล์ม ไม้ถูพื้น อัลบั้ม กรอบรูป ถ่านไฟฉาย ซึ่งได้ความว่าโจทก์ไม่มีสถานประกอบการที่มีพนักงานนั่งประจำทำงานพยานหลัก ฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงรับฟังไม่ได้ว่ารายจ่ายเบ็ดเตล็ดดังกล่าวข้างต้น เป็น      รายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์

                     ค่าช่วยงานศพ และค่าช่วยงานแต่งงานนั้นเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หาเป็นการ ส่วนตัวของ  ผู้มีอำนาจจ่ายเงินของโจทก์ยิ่งกว่าประโยชน์ทางการค้าของโจทก์โดยตรง จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการโจทก์โดยเฉพาะ

                     ค่าวีดีโอบูเช็คเทียน เป็นรายจ่ายที่มิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการโจทก์โดยเฉพาะ เพราะโจทก์ก็ไม่มีสถาน      ประกอบการ จึงไม่มีสถานที่ไว้เพื่อให้ความบันเทิงแก่ลูกค้า

                     ค่าหนังสือเตรียมสอบปริญญาโท ไม่ปรากฏว่ากิจการของโจทก์เกี่ยวข้องกับการศึกษาระดับปริญญาโท      อย่างไรจึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโจทก์โดยเฉพาะ ค่ารับรอง ใบเสร็จรับเงินของร้านอาหาร ระบุในช่องผู้ซื้อว่า "สด" และใบเสร็จรับเงินบางฉบับไม่ระบุชื่อผู้รับบริการ จึงไม่มีหลักฐานแสดงว่าโจทก์จ่ายเงินดังกล่าว

                     ค่ารับรองค่ารับรองจำนวนที่ 2 ใบเสร็จรับเงินระบุว่าจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม ห้องพัก ค่าซื้อของเกี่ยวกับ      เด็กอ่อน ดอกไม้ ค่าจ้างอัดรูป ค่าขนมเค้ก ขนมไหว้พระจันทร์ ใบเสร็จรับเงินบางฉบับไม่ปรากฏชื่อผู้ซื้อ บางฉบับระบุผู้ซื้อคือนายมานะชัย แม้จะได้ความว่าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ แต่โจทก์ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก จึงไม่อาจถือเป็น   ค่ารับรองของโจทก์ได้ ค่ารับรองจำนวนที่ 3 ใบเสร็จรับเงิน ระบุว่า จ่ายค่าวีดีโอเรื่องมหัศจรรย์แผ่นดินจีน ค่าปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน หนังสือโลกของคนตัวเล็ก เป็นรายจ่ายลักษณะเป็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับกิจการโจทก์ สำหรับค่ารับรองจำนวน      สุดท้ายใบเสร็จรับเงินระบุว่าจ่ายเป็นค่าอาหาร เครื่องดื่ม ขนม และขนมเค้ก ไม่ระบุชื่อผู้จ่ายเงิน จึงไม่ถือเป็นรายจ่ายของโจทก์ ค่ารับรองทั้ง 4 จำนวนจึงไม่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการหรือเพื่อกิจการโจทก์

                     ค่าซ่อมรถยนต์ สมุดบัญชีระบุวันโอนรถยนต์เป็นชื่อโจทก์ และวันที่โจทก์จ่ายเงินค่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว      วันเดียวกัน คือวันที่ 3 กันยายน 2536 และมีการลงบัญชีรถยนต์ เป็นทรัพย์สินของโจทก์ในวันเดียวกัน จึงต้องฟังว่าโจทก์ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2536 ข้อที่โจทก์อ้างว่าได้รับรถยนต์ดังกล่าวมาครอบครองใช้งานก่อนวันรับโอนขัด กับเอกสารทางทะเบียนของโจทก์เอง และโจทก์มีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความลอย ๆ ไม่มีเอกสารอื่น      มายืนยันอีก พยานโจทก์จึงไม่น่ารับฟัง ดังนั้นค่าซ่อมรถยนต์ที่เกิดก่อนวันที่โจทก์ซื้อรถยนต์ คันดังกล่าวมา จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายของโจทก์

                     ค่าใช้จ่ายเดินทางจำนวน 73,616.64 บาท ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไป ในธุรกิจของโจทก์ ถือเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะเป็น การส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำให้การจำเลยและนอกประเด็น   ไม่ชอบ เมื่อได้ความตามคำเบิกความของพยานโจทก์ว่า ค่าใช้จ่ายเดินทางดังกล่าวโจทก์จ่ายให้แก่ บริษัท ลีเบนน์แทรเวลเซอร์วิส จำกัด ตามสำเนาเช็คและมีการเรียกเก็บเงินธนาคารแล้ว โดยมีใบเสร็จรับเงินกับใบสั่งจ่ายมาแสดง จึงเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์สามารถพิสูจน์ผู้รับได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น

ประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับเบี้ยปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ศาลฎีกาเห็นว่าคณะกรรมการพิจาณาอุทธรณ์ได้พิจารณาลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้โจทก์แล้วโดยให้เรียกเก็บเบี้ยปรับโจทก์เพียงร้อยละห้าสิบของ เบี้ยปรับตามกฎหมาย เพราะเห็นว่าโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบด้วย ซึ่งนับว่าเป็นผลดีแก่โจทก์และเหมาะสมดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้โจทก์อีก พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่า เพิ่มที่ 1001010/5/100399 ลงวันที่ 15 มกราคม 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องกับให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1001010/2/100029 ลงวันที่ 29 มกราคม 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องเฉพาะส่วนค่าใช้ จ่ายเดินทางจำนวน 73,616.64 บาท ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้       นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น