ค่าเช่าตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

การจ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ ว่าจะจ่ายให้กับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ยกเว้นการจ่ายเงิน ค่าเช่าตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หากเข้าหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ดังนี้ 
          1. ผู้ให้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ได้รับ ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 60,000,000 บาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล 
          3. กำหนดเวลาเช่า ต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่าราย อื่นระยะเวลาการให้เช่าอาจไม่ถึง 3 ปีก็ได้ ทั้งนี้ คำว่า “การให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง” หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่า โดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ ผู้ให้เช่าก็ได้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.176/2552ฯ ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

การให้เช่าทรัพย์สินแบบเช่าดำเนินงาน (Operation lease) เงินได้จากการให้เช่าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายค่าเช่าหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่า ทรัพย์สินให้แก่บริษัทมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 ทั้งนี้ ตามข้อ 6(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ 

การให้เช่าทรัพย์สินแบบเช่าทางการเงิน (Financial lease) เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ผู้ให้เช่าจึงจะไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่า  หรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.176/2552

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.๑๗๖/๒๕๕๒
เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร
มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

------------------------------------------

                 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔๔ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ อธิบดีกรมสรรพากรสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของข้อ ๖ ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๔/๒๕๒๘ เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๓๔/๒๕๓๔ เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                          “ความในวรรคหนึ่ง ไม่ให้ใช้บังคับกับการจ่ายเงินค่าเช่าตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                          (๑) ผู้ให้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ได้รับ ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า ๖๐ ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๒/๓ แห่งประมวลรัษฎากร
                          (๒) ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล
                          (๓) กำหนดเวลาเช่าต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไป เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่าราย อื่น ระยะเวลาในการให้เช่าอาจไม่ถึง ๓ ปีก็ได้
                          คำว่า “การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง” หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ ผู้ให้เช่าก็ได้”

ข้อ ๒ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ที่ลงใน คำสั่งนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น