คณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 8-17 บาท มีผลทันที 1 มกราคมนี้ โดยจังหวัดภูเก็ตได้ปรับขึ้นมากสุด 17 บาท จังหวัดพะเยามีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดของประเทศ ขณะที่องค์การลูกจ้างแห่งประทศไทยยังไม่ยอมรับมติ อ้างบางจังหวัดปรับไม่ถึง 10 บาทตามที่เรียกร้อง เตรียมเคลื่อนไหวต่อ
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่าการพิจารณาปรับค่าจ้างดังกล่าว ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั่วประเทศ โดยยึดตัวเลขที่คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดส่งมา ซึ่งดูจากค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างเป็นหลัก
ซึ่งส่งผลให้แต่ละพื้นที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากัน โดยจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นสูงสุด 17 บาท มี 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต ทำให้เป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดของประเทศ จาก 204 บาท เป็น 221 บาท/วัน
ขณะที่จังหวัดพะเยาปรับขึ้นต่ำสุด 8 บาท/วัน ทำให้ยังเป็นจังหวัดที่มีค่าเเรงขั้นต่ำน้อยที่สุดของประเทศ จากปัจจุบัน 151 บาท วันนี้ปรับให้อีก 8 บาท เป็น 159 บาท/วัน
ส่วนกรุงเทพ และปริมาณฑล ปรับขึ้น 9 - 10 บาท ส่งผลให้กรุงเทพ และปริมณฑลมีค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน จาก 205 - 206 บาท เป็น 215 บาท
การปรับขึ้นค่าจ้างวันนี้ จะมีแรงงานที่กินค่าแรงขั้นต่ำได้ประโยชน์ประมาณ 4 ล้านคนเศษ แยกเป็นคนไทย 2 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวอีกราว 2 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่ประมาณ 14,694 ล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้เกิดการบริโภค จับจ่ายใช้สอยในระบบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ด้านกลุ่มแรงงาน ในนามองค์การลูกจ้างแห่งประทศไทย ที่ชุมนุมกดดันการประชุมอยู่หน้ากระทรวงแรงงาน ไม่ยอมรับอัตราค่าจ้างที่ปรับขึ้น โดยเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะมีจังหวัดที่ปรับขึ้นไม่ถึง 10 บาท มากกว่า 30 จังหวัด ขณะที่ภูเก็ตขึ้นไปถึง 17 บาท โดยทางกลุ่มจะกลับไปกำหนดเเนวทางการเคลื่อนไหว เพื่อกดดันให้เกิดการปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ 10 บาทอีกครั้ง
ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง ยืนยันให้ได้เท่านี้ ที่เหลือรัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้าง 250 บาท /วัน ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ และยังจี้ให้รัฐบาลไปดูราคาสินค้าเพื่อลูกจ้างจะได้ประโยชน์จากค่าจ้างที่ปรับขึ้น
ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยด้วยว่าในอนาคตการกำหนดค่าจ้างจะดูตามมาตรฐานของฝีมือแรงงานเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
สำหรับรายละเอียดการปรับขึ้นค่าจ้างมีดังนี้ / จังหวัดที่ปรับขึ้น 8 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดที่ปรับขึ้น 9 บาท มี 24 จังหวัด ได้แก่ น่าน ตาก สุรินทร์ มหาสารคาม นครพนม ชัยภูมิ ลำปาง หนองบัวลำภู เชียงราย บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ยโสธร สกลนคร ชัยนาท สุพรรณบุรี ตราด ลำพูน สมุทรสงคราม อ่างทอง เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ
จังหวัดที่ปรับขึ้น 10 บาท มี 16 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น กำแพงเพชร หนองคาย นครนายก เลย สระแก้ส นครราชสีมา นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี และสมุทรสาคร
จังหวัดที่ปรับขึ้น 11 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส อุบลราชธานี สิงห์บุรี เพชรบุรี และระยอง
จังหวัดที่ปรับขึ้น 12 บาท มี 10 จังหวัด ได้แก่ เเพร่ พิจิตร สุโขทัย อุดรธานี ยะลา จันทบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี ระนอง และชลบุรี
จังหวัดที่ปรับขึ้น 13 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง ราชบุรี พังงา ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี
จังหวัดที่ปรับขึ้น 14 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สตูล และกระบี่
และสุดท้ายจังหวัดที่ปรับขึ้นสุดสุด 17 บาท มีจังหวัดเดียวคือ ภูเก็ต
ข้อมูลอ้างอิง : ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 5)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น